“พรรคเพื่อไทย” ร่วมหารือสภาเอสเอ็มอี เตรียมเสนอ ออก พ.ร.ก. 5 ฉบับ ตั้งสภาและกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ

1 กันยายน 2563 พรรคเพื่อไทย นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรค นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านนโยบายและเเผนงาน พร้อมแกนนำพรรคและ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จัดประชุมหารือร่วมกับตัวแทนสภาเอสเอ็มอี นำโดยนายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย

โดย คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า สภาวะเศรษฐกิจที่กำลังทรุดตัวนั้น กลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มสตาร์ทอัพ น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากไม่ได้รับประโยชน์จากการกู้เงินของรัฐบาล และไม่ได้อยู่ในระบบ ทำให้ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ จึงเกิดปัญหาสภาพคล่อง และยอดขายลดลงจากกำลังซื้อที่หดหายไป ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้ร่วมเป็นกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท พบว่าเป็นโครงการที่เสนอโดยหน่วยงานราชการ และเมื่อได้คุยกับผู้ประกอบการตัวจริงแล้วพบว่าแทบไม่ได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.ก.กู้เงิน หากปล่อยให้กลุ่มผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยล้มหายไป จะยิ่งทำให้มีคนตกงานมากขึ้น กระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้นจากการหารือร่วมกันจึงเสนอทางออกในการที่จะใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทให้เกิดประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยการให้รัฐบาลออก พ.ร.ก. เพื่อตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยตรงทั้ง 3 กลุ่ม คือ กองทุนเอสเอ็มอี กองทุนวิสาหกิจชุมชน และกองทุนสตาร์ทอัพ

นายโภคิน กล่าวว่า เราได้คุยกันในวันนี้มี 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. กลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อย ที่เป็นรายเล็กและรายกลาง ซึ่งมีมากที่สุดของเอสเอ็มอีทั้งหมด ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะส่วนใหญ่อยู่นอกระบบธนาคาร 2. กลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งได้พูดคุยกับเด็กรุ่นใหม่ ที่บอกว่าเคยเสนอรัฐให้ทำอะไรต่างๆ มานานแล้ว แต่วันนี้ยังอยู่ที่เดิม และ 3. กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่ชาวบ้านตั้งวิสาหกิจกันขึ้นเอง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเกษตรกรรม แม้จะมีกฎหมายรับรองแล้วในปี 2548 แต่วันนี้ยังคงยากลำบากและมีปัญหา โดยเฉพาะการรวมตัวกันไม่ได้เวลาที่เกิดวิกฤติ การที่รัฐบาลบอกว่าจะกู้เงินนำไปกระตุ้นหรือกอบกู้เศรษฐกิจนั้นจะทำได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้รับฟังปัญหาจากคนที่ทำจริง เดือดร้อนจริง ทั้งนี้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยเงิน 4 แสนล้านบาทของรัฐบาล เป็นการใช้ผ่านหน่วยงานราชการทั้งหมด ซึ่งส่วนราชการก็คิดเพียงแต่ความต้องการของตนเอง และอาจไม่ตอบโจทย์ของผู้เดือดร้อนตัวจริง ฉะนั้นจะดีกว่าหรือไม่ หากเราเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการสามารถมีระบบเข้าถึงเงินได้หลากหลาย แตกต่าง และง่ายขึ้น จึงเสนอให้มีการออก พ.ร.ก. 5 ฉบับ คือ 1. ตั้งสภาเอสเอ็มอี 2. ตั้งสภาสตาร์ทอัพ 3. ตั้งกองทุนเอสเอ็มอี 4. ตั้งกองทุนสตาร์ทอัพ และ 5. ตั้งกองทุนวิสาหกิจชุมชน เหมือนกับในอดีตที่มีกองทุนหมู่บ้าน ที่สามารถตอบโจทย์ชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านได้

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ขอเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุน หรือองค์การ หรือสถาบันที่มีลักษณะเป็นนิติบุคคล เพื่อขอรับเงินจากในส่วนเงินกู้ 4 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลส่งเงินเข้าไปในลักษณะที่เป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของ องค์การที่มีหน้าที่รับเงินในส่วนนี้จะสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว สามารถบริหารจัดการเงินให้ไปสู่ผู้ประกอบการอย่างรวดเร็ว และองค์การนี้สามารถที่จะรับเงินกู้ซอฟท์โลนจากธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วนำมาเสริมความพร้อมของทุนที่จะนำไปผลักดันให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ป้องกันการตกงานจำนวนมาก ทำให้การขาดสภาพคล่องของสินเชื่อจำนวนหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากการถูกสั่งให้หยุดกิจการนั้นสามารถหมุนเวียนดำเนินการต่อไปได้

นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.ซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทมานั้น เงินจำนวนเหล่านี้ไม่สามารถลงไปถึงมือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย หรือกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าได้จริง สิ่งสำคัญคือรัฐขาดกลไกในการที่จะดำเนินการเรื่องนี้ เพราะรัฐไม่กระจายอำนาจออกไป กลับรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางภาครัฐทั้งหมด ทางสภาเอสเอ็มอีจึงเห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก. 5 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสภาเอสเอ็มอี สภาสตาร์ทอัพ หรือว่ากองทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนเอสเอ็มอี กองทุนสตาร์ทอัพ รวมไปถึงกองทุนวิสาหกิจชุมชนด้วย เพราะทั้งหมดนี้เป็นหน่วยงานเอกชน ที่จะทำให้กลไกทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนสามารถดำเนินการต่อไปได้ ถ้าหากในอนาคตเกิดปัญหาขึ้นอีก งบประมาณที่จะนำไปช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือเศรษฐกิจรากหญ้าก็จะสามารถลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล