“ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” เตรียมเสนอ “เพื่อไทย” ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากรัฐบาลดึงดันซื้อเรือดำน้ำ

30 สิงหาคม 2563 นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 แถลงถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบการจัดซื้อเรือดำน้ำของรัฐบาล ว่า พบความผิดปกติใน กมธ.งบประมาณปี 2564 ซึ่งปกติการประชุมของ กมธ. ต้องมีการกำหนดประชุมล่วงหน้า แต่เดิมกำหนดไว้ว่าจะประชุมในวันที่ 26 สิงหาคม เรื่องเรือดำน้ำจะเข้าที่ประชุมเป็นวาระ 2 แต่ไม่ได้ประชุม โดยโฆษก กมธ. ออกมาแถลงเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 28 สิงหาคม ซึ่งจะเชิญทางกองทัพเรือเข้ามาชี้แจงเพิ่มเติม แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ประชุม อ้างเหตุน้ำท่วม ทั้งนี้ พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมาก ถ้าหากในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ยังไม่แล้วเสร็จจะเอางบประมาณที่ไหนไปดำเนินการ ดังนั้น ในวันพรุ่งนี้ (31 สิงหาคม 2563) เวลา 9.00 น. ต้องติดตามว่าจะมีการพยายามดึงเกมยื้อการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปอีกหรือไม่ ซึ่งขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาวาระ 2-3 ของสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดไว้แล้ว ในวันที่ 16-17 กันยายน 2563 และวุฒิสภานัดพิจารณา ในวันที่ 21-22 กันยายน 2563 แล้วจะพิจารณาทันได้อย่างไร และจะมีเรื่องการแปรญัตติหลังจากนี้ ซึ่งสำนักงบประมาณได้ส่งเรื่องทั้งหมดมาไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถแปรญัตติได้ เพราะยังสรุปไม่ได้เนื่องจากยังไม่รู้ยอดทั้งหมดว่าจะต้องปรับลดเท่าไหร่ หมายความว่าถ้าเรื่องเรือดำน้ำยังไม่จบ ก็ยังไม่สามารถสรุปงบประมาณปี 2564 ได้ ซึ่งรับเรื่องมาในวันที่ 16 มิถุนายน เมื่อครบ 105 วัน ถ้าพิจารณาไม่แล้วเสร็จก็จะต้องประกาศใช้ไปเลย ซึ่งดูตามไทม์ไลน์แล้ว เกรงว่าจะไม่ทัน

ถ้ารัฐบาลยังดึงดันจะผ่านงบประมาณซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำนี้ให้ได้ ก็จะเดินหน้าสู้ต่อ และจะเสนอให้พรรคเพื่อไทยยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะวันนี้ประชาชนกำลังลำบากเดือดร้อน จากหลายๆ เรื่องที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ฐานะการเงินการคลัง หรือแม้แต่การดูแลด้านสาธารณสุขให้กับประชาชน ซึ่งขณะนี้มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  แต่รัฐกลับเอาเงินภาษีประชาชนไปซื้อเรือดำน้ำ รวมทั้งขอเรียกร้องให้เปิดหนังสือ Full Powers หนังสือมอบอำนาจให้ผู้ลงนามไปเซ็นสัญญาแทนรัฐบาล หากยังยืนยันว่ามีหลักฐานครบถ้วน  

นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า หากการจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นจีทูจีจริง ก็อาจต้องพิจารณาว่าส่อเข้าข่ายผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมหรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา คือ ภายหลังจากการไปลงนามทำสัญญา ต้องให้ ส.ส. และ ส.ว. ให้ความเห็นชอบร่วมกัน ภายใน 60 วัน ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีเรื่องซื้อเรือดำน้ำเข้ามาให้สภาเห็นชอบเลย