“สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” เปิดเวทีฝ่ายค้านรับฟัง 4 กลุ่มเปราะบางจากวิกฤติโควิด-19 แนะรัฐบาลเร่งฟื้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ

29 สิงหาคม 2563 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดงาน “ฝ่ายค้านรับฟัง 4 กลุ่มเปราะบางจากวิกฤติโควิด-19” เวทีที่ 2 : ความเดือดร้อนต่อภาคการท่องเที่ยวและบริการจากวิกฤติโควิด-19 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยกลุ่มงานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยกล่าวว่า ฝ่ายค้านตระหนักถึงความเดือดร้อนจากโควิด-19 เพราะกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างเม็ดเงิน ประมาณ 3 ล้านล้านบาท แต่สิ่งเหล่าขาดหายไป

ภาคการท่องเที่ยวและบริการเป็นเสมือนหัวหอกในการพาประเทศเดินหน้ามาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ สร้างงาน สร้างรายมหาศาล แต่วันนี้กลับกลายเป็นกลุ่มที่ต้องทนทุกข์ทรมานที่สุด อีกทั้งการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในต่างประเทศนั้นยังอยู่ในอัตราเร่ง การคาดหวังกับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเน้นปริมาณเหมือนในอดีต ยังไม่ใช่คำตอบในระยะเวลาอันใกล้ เราต้องเริ่มคิดถึงการสร้างตลาดท่องเที่ยวคุณภาพสูง ที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวสูง เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเพื่อการแพทย์ เป็นต้น

สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศ การฟื้นตัวยังอยู่ในขอบเขตจำกัด จังหวัดที่การท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวเร็วที่สุดคือ กลุ่มที่ไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติมากนักและอยู่ใกล้กรุงเทพ เช่น กาญจนบุรี นครราชสีมา หรือประจวบคีรีขันธ์ ที่เดินทางโดยรถยนต์ได้ และจังหวัดที่ฟื้นช้าที่สุด คือกลุ่มที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ต้องพึ่งพาการเดินทางโดยเครื่องบิน รวมถึงจังหวัดที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูง เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ หรือพังงา จังหวัดเหล่านี้ คือกลุ่มที่มี Supply ส่วนเกินสูงที่สุด เพราะปกติจะเป็นหัวหอกของการท่องเที่ยว นั่นแปลว่ามีความเสี่ยงที่ธุรกิจหลายแห่งต้องปิดตัวหรือไล่พนักงานออก เพราะไม่สามารถอยู่ได้ในวันที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเพียงพอ

มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาลนั้น มีส่วนช่วยไม่มาก เพราะแกนหลักของปัญหาที่ประชาชนตกงาน ขาดรายได้ ยังไม่ได้รับการแก้ไข มาตรการเราเที่ยวด้วยกันที่ตอนแรกให้สิทธิทั้งหมด 5 ล้านคน แต่มีประชาชนใช้จริงเพียง 5 แสนคน หรือเพียง 10% แสดงให้เห็นว่ามาตรการเหล่านี้ไม่ตอบโจทย์ เพราะปัญหาที่แท้จริงคือพวกเขาขาดแคลนรายได้ ตกงาน รายได้หด และยังมองไม่เห็นแสงสว่างว่าจะได้งานกลับคืนมาเมื่อไหร่ ที่แย่กว่านั้นคือ แทนที่รัฐบาลจะแก้ไขให้ตรงจุด กลับไปเพิ่มสิทธิเป็น 10 ล้านคน ทั้งที่สิทธิเก่ามีคนใช้เพียงน้อยนิด ส่วนมาตรการด้านสินเชื่อก็มีปัญหา ส่วนใหญ่มีแต่กรอบวงเงิน แต่ไม่มีการอนุมัติจริง เพราะติดเงื่อนไขต่างๆ กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท จึงมีการอนุมัติจริงไม่ถึงครึ่ง เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงความล้มเหลว มาตรการพักหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลก็มีแต่กรอบนโยบาย ก็การปฏิบัติจริงกลับไม่สัมฤทธิ์ผล

นอกจากนั้น ภาคท่องเที่ยวและบริการยังมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากภาคอุตสาหกรรม คือมีผู้ประกอบการและแรงงานนอกระบบค่อนข้างมาก และรายได้แปรผันตรงต่อยอดขายและการให้บริการ ไม่มีรายได้ที่เป็นฐาน มีแต่รายได้แปรผัน อีกทั้ง ภาคท่องเที่ยวเป็นกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อนที่สุดจากวิกฤตินี้ เพราะการท่องเที่ยวไม่มีแนวโน้มกลับมาในระยะเวลาอันใกล้ ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะกลับมาอย่างเร็วก็ปลายปีหน้า ซึ่งเชื่อว่ากว่า 90% มีลมหายใจไม่ถึงตอนนั้น ต้องล้มตาย เลิกกิจการ เลิกจ้าง และตกงานกันหมด