“สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” เปิดงาน “ฝ่ายค้านรับฟัง 4 กลุ่มเปราะบางจากวิกฤติโควิด-19” ชี้ รัฐบาลล้มเหลว 3 ประการ ทำคนตกงานหลายล้านคน
15 สิงหาคม 2563 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดงาน “ฝ่ายค้านรับฟัง 4 กลุ่มเปราะบางจากวิกฤติโควิด-19” เวทีที่ 1 : ความเดือดร้อนแรงงานในและนอกระบบจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งจัดโดยกลุ่มงานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยกล่าวว่า ถึงแม้ว่าวันนี้จะอยู่ในสถานการณ์การเมืองที่เปราะบาง แต่ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรครวมทั้งตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน เราไม่หยุดทำงาน ยังตระหนักถึงความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน ตระหนักถึงผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ที่มีต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างแสนสาหัส และยังไม่มีแนวโน้มจะจบลงในเร็ววัน พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงเห็นความสำคัญ และ ตระหนักถึงภาระหน้าที่ในการเป็นปากเป็นเสียง สะท้อนความเดือดร้อนและร่วมกันหาทางออก จึงได้เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดเวทีแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 โดยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบหลักๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1. ภาคแรงงานในระบบและนอกระบบ 2. ภาคการท่องเที่ยวและบริการ 3. ภาคการเกษตร 4. ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก
สำหรับในวันนี้จะเป็นเวทีรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ภาคแรงงาน” ที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัสจากโควิด-19 ซึ่งจะสะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาล 3 ประการในด้านแรงงาน ได้แก่
1. “การปล่อยให้แรงงานตกงานจำนวนมหาศาล” ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ปล่อยให้แรงงานตกงานจากโควิด-19 และไม่มีมาตรการรัฐช่วยจ่ายให้ภาคเอกชนเพื่อดำรงการจ้างงานเลย ซึ่งเป็น “มาตรการพื้นฐาน” ที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกในการรับมือโควิด-19 บางประเทศจ่ายผ่านเอกชนถึง 80% โดยมีข้อแม้ว่าเอกชนต้องรักษาระดับการจ้างงานเอาไว้ แต่ประเทศไทยเรากลับละเลยมาตรการลักษณะนี้ไปโดยสิ้นเชิง ผลที่ออกมาจึงน่ากลัวอย่างที่เห็น เราอาจจะเห็นการตกงานมากมายถึง 8 ล้านคน หรือมากถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั่วประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ แต่อัตราการว่างงานกลับสูงลิบ แซงประเทศอื่นๆ ที่มีการระบาดเยอะกว่าเป็นหลายร้อยหลายพันเท่าตัว เพราะรัฐบาลบริหารงานผิดพลาด ละเลยมาตรการที่สำคัญไป
2. “ขาดการเยียวยาที่ทั่วถึง เท่าเทียม และมีประสิทธิภาพ” ถึงแม้การเยียวยาจะเป็นมาตรการในเชิงแก้ไขป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตลาดแรงงาน แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ซึ่งการเยียวยาที่เกิดขึ้นมีความผิดพลาด หละหลวม มักง่าย และบรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนได้ไม่ทั่วถึง และที่สำคัญเงินเยียวยาเหล่านี้กำลังจะหมดลง รวมถึงมาตรการพักหนี้ก็กำลังจะสิ้นสุด เปรียบเสมือนเครื่องช่วยหายใจที่กำลังถูกถอดออก แล้วรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะยื้อชีวิตแรงงานอย่างไร เมื่อวันนั้นมาถึงความเดือดร้อนจะขยายตัวในวงกว้าง งานก็ไม่มี เงินก็หมด หนี้ก็ต้องจ่าย
3. “ขาดมาตรการช่วยหางานใหม่ สำหรับคนตกงาน” เมื่อแรงงานตกงาน อยู่ในสภาวะยากเข็น เมื่อเงินเยียวยากำลังจะหมด ทางออกที่เหลืออยู่คือการเร่งสร้างงาน และเร่งหางานให้ประชาชน แต่รัฐบาลยังไร้ทิศทางว่าจะสร้างงานอย่างไร เอาคนตกงานไปไว้ตรงไหน มีแต่โยนหินถามทางเกี่ยวกับเอาคนตกงานกลับสู่ภาคการเกษตร เกษตรก้าวหน้า เกษตรแม่นยำ ซึ่งชื่อเหล่านี้ฟังดูสวยหรู แต่หากไปดูไส้ในแล้วไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากนั้นภาคการเกษตรก็ประสบปัญหาภัยแล้ง สินค้าการเกษตรตกต่ำเนื่องจากส่งออกไม่ได้ การฝากความหวังว่าภาคการเกษตรจะเป็นแหล่งรองรับคนตกงาน จึงไม่ใช่ทางออกที่ดี โดยสรุปคือ รัฐบาลทำให้คนตกงานมหาศาล แต่ยังหาแนวทางการสร้างงาน และหาที่ลงให้กับคนตกงานไม่เจอ
“แรงงานเป็นกลุ่มเปราะบางที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยที่สุด เพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ให้การประคองตนเองให้รอดจากวิกฤตินี้ และยังเป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสินเชื่อต่างๆตามมาตรการรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีภาวะหนี้ครัวเรือนสูง และมาตรการพักหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลก็มีแต่กรอบนโยบาย ก็การปฏิบัติจริงกลับไม่สัมฤทธิ์ผล”