ส.ส.ศรัณย์ ทิมสุวรรณ : เปิดแมพ…ร่างกฎหมาย อี-สปอร์ต

“สิ่งที่เขาต้องการคือการควบคุม แต่ว่าหลักที่ผิดตั้งแต่ตอนต้น นอกจากจะควบคุมไม่ได้แล้ว ยังจะเป็นการทำลายโอกาสของคนรุ่นต่อไปด้วย” ส.ส.ศรัณย์ ทิมสุวรรณ เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับอี-สปอร์ต กีฬายอดฮิตชนิดใหม่ที่กำลังเป็นที่สนใจของทั่วโลก 

เขาในความหมายของ “ส.ส.ศรัณย์” ชี้ให้เห็นความต้องการของ ผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการจะควบคุม “อี-สปอร์ต” ผ่านร่างกฎหมาย ที่กำลังเขียนกันขึ้น 

“ส.ส.ศรัณย์” นิยามว่า “เกม” สำหรับเขาคือกิจกรรมยามว่าง มาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้เป็น ส.ส. แม้จะไม่ได้จริงจังถึงขนาดที่เรียกตัวเองว่าเป็นเกมเมอร์ แต่ช่วงชีวิตก็ผ่านประสบการณ์และติดตามพัฒนาการของ “เกม” สู่ “อี-สปอร์ต” มาโดยตลอด และด้วยภาระหน้าที่ของ ส.ส.ในตอนนี้ เขาได้เปลี่ยนบทบาทจากคนเล่นมาเป็นคนดู แต่ก็ยังเป็นคนที่อยู่ในคอมมูนิตี้ของเกม ซึ่งในบางครั้งก็ได้ติดตามการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างเกมจากนักพัฒนาเกม

“คอมมูนิตี้เกมมีมากกว่าแค่การเล่นเกมเพียงอย่างเดียว เปรียบเสมือนสื่ออย่างหนึ่งที่ใช้หาความบันเทิง คล้ายกับการเล่นกีฬาอย่างหนึ่ง แต่จะมีหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่ทำในเวลาว่างเพียงอย่างเดียว เพราะมีภาคธุรกิจต่างๆ เข้ามามากขึ้น จะเห็นว่ามีส่วนที่เกี่ยวข้องเยอะมาก หลายคนไม่ได้เล่นเพราะว่าอยากแข่งเป็นนักกีฬา หลายคนเล่นเพื่อทำคอนเทนต์ หาความเป็นตัวเองเพื่อไปทำเป็นช่องยูทูป”

เขายกตัวอย่างว่า ในการสร้างเกม ไม่ใช่แค่การเขียนโปรแกรมออกมาเป็นเกม เพราะถ้าจะทำให้ออกมาดี ต้องมีการดีไซน์ตั้งแต่ฉาก ตัวละคร รวมถึงเนื้อเรื่อง ซึ่งเกมบางเกมเป็นเหมือนหนังหรือนิยายดีๆ และในปัจจุบันเติบโตขึ้นเยอะมาก และบางเกมมีคุณภาพดีกว่าหนังบางเรื่องเสียอีก 

ส.ส.ศรัณย์ เล่าว่า มูลค่าตลาดเกมในปัจจุบัน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกมโตขึ้นเกือบ 100% และโตขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี มูลค่าของตลาดเกมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่ใช่แค่สร้างเกมขายเกม แม้แต่สตรีมเมอร์หรือว่ายูทูปเบอร์ โตขึ้นเกือบ 100% ทุกปี ตอนนี้บริษัทใหญ่ๆ ก็หันมามองตลาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์ เฟซบุ๊ก ยูทูป หรือสตูดิโอเกมใหญ่ๆ ที่เราเคยรู้จักตอนนี้ก็กำลังกลายเป็นส่วนสำคัญในภาคธุรกิจของแต่ละประเทศมากขึ้น อย่างเช่นอเมริกาหรือจีน ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ ในวงการของบางประเทศอาจมีมูลค่าเกือบ 70-80% ของตลาดหลักทรัพย์ไทยด้วยซ้ำ ซึ่งเรารู้ว่ามันมีโอกาสโตขึ้นไปอีกเรื่อยๆ และอัตราการเจริญเติบโต มันโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทุกปี

“เกมเป็นสื่อรูปแบบใหม่ เป็นธุรกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นและกำลังเติบโต การจะควบคุมได้ต้องเข้าใจบริบทของสิ่งเหล่านี้เสียก่อน และให้คนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ได้มาพูดคุยกัน ถึงจะสามารถควบคุมได้อย่างเป็นระบบ” ส.ส.ศรัณย์ มองลึกถึงประเด็นความพยายามควบคุมเกมและอี-สปอร์ต ผ่านร่างกฎหมาย โดยวิเคราะห์ว่า “ที่ผ่านมายังไม่มีการยกร่างกฎหมายที่ชัดเจน แต่เหมือนความต้องการหลักๆ ช่วยผู้ปกครองในการควบคุม แต่ว่าถ้ามีหลักการที่ผิดตั้งแต่ตอนต้น นอกจากจะควบคุมไม่ได้แล้วจะกลายเป็นการทำลายโอกาสของคนรุ่นต่อไปด้วย ซึ่งไม่ได้บอกว่าคอมมูนิตี้เกมโตแล้วจะมีแต่ผลดี เพราะทุกอย่างมีความเสี่ยง เกมก็ไม่ต่างกัน แต่การควบคุมที่ดีต้องเข้าใจถึงสิ่งที่เป็น ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการตัดโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่เราก็ยังไม่รู้เลยว่าคอมมูนิตี้ธุรกิจนี้จะโตไปถึงเมื่อไหร่”

ซึ่งประเด็นปัญหาเรื่องร่างกฎหมายอี-สปอร์ต “ส.ส.ศรัณย์” ได้เสนอทางออกด้วยการดึงทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาร่วมในการผลักดันหรือยกร่างกฎหมาย เพราะต้องทำให้ทุกคนยอมรับและมีสิทธิในการร่วมออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเอง

คำว่า “เกม” ในประเทศไทยมันโดนทำภาพให้เป็นตัวร้ายมาโดยตลอด เราจะเห็นข่าวเด็กติดเกมขโมยเงินพ่อแม่ เด็กตีกัน  เพราะว่าเล่นเกม แต่ถ้าไปดูที่เนื้อหาจริงๆ ถ้าเราตัดคำว่าเกมออกถามว่าข่าวเหล่านี้จะหายไปไหม

ถามว่า ถ้าเราตัดการแข่งเกมออกไป เด็กจะไม่ทะเลาะกันแล้วไม่ตีกันหรือเปล่า … ซึ่งเราคิดดูแล้วมันไม่ใช่ 

“ในการร่างกฎหมายฯ ต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่กำลังพยายามควบคุมคืออะไร อย่างเช่นบอกว่ากีฬาต้องเล่นด้วยเท้าแต่ก็ไม่สามารถไปบังคับกับการเล่นบาสได้ ซึ่งอี-สปอร์ตหรือเกม ก็เหมือนกัน คุณไม่สามารถบอกได้ว่าเกมนี้ควรเล่น 2 ชั่วโมง ทุกเกมมีบริบทของมัน เช่น เกมโมบ้าแข่งเป็นแมตช์ แมตช์หนึ่งบางทีครึ่งชั่วโมง บางที 2 ชั่วโมง คนที่จะออกกฎต้องเข้าใจเรื่องนี้ ยิ่งในโลกปัจจุบันที่สื่อทุกอย่างเป็นอิเล็กทรอนิกส์ สื่อทุกอย่างเป็นดิจิทัล คุณไม่สามารถปิดกั้นการเข้าถึงของเด็กได้เลย  ดังนั้นจึงต้องดึงทุกคนเข้ามาร่วมกัน เพราะหลักสำคัญคือทุกคนต้องยอมรับ ทุกคนต้องมีสิทธิ์ในการพูดถึงและมีสิทธิ์ในการร่วมออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง”

ส.ส.ศรัณย์ ทิ้งท้ายว่า ในหน้าที่ ส.ส.  ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชน ฉะนั้นหากมีการผลักดันกฎหมายนี้จริงๆ หน้าที่เราคือการทำให้แน่ใจว่าทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายจะมีโอกาสในการนำเสนอสิ่งที่ตัวเองได้รับผลกระทบ ได้นำเสนอไอเดียของตัวเองว่าเราควรจะควบคุมอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียและไม่ปิดโอกาสการเติบโตของธุรกิจ