“จิราพร สินธุไพร” เตือน นายกฯ อย่าปัดความรับผิดชอบในการรับฟังนักศึกษา ไม่ควรใช้สภาเป็นเครื่องมือซื้อเวลาให้รัฐบาล

23 กรกฎาคม 2563 น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณามีมติให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของนิสิต นักศึกษา และเยาวชน ว่า วันนี้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และพี่น้องประชาชนออกมาเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งคนที่จะตอบสนองข้อเรียกร้องนี้คือนายกรัฐมนตรี ถ้าจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญก็จะต้องส่งสัญญาณไปยังพรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว. 250 คน แต่อุปสรรคสำคัญคือนายกรัฐมนตรีไม่เคยแสดงท่าทีใดๆ เลย ส่วนข้อเรียกร้องให้หยุดคุกคามประชาชนนั้นผู้มีอำนาจก็คือรัฐบาล ฝ่ายความมั่นคง เพราะฉะนั้นคนที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดก็คือนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่สภาแห่งนี้ รวมไปถึงประเด็นการเรียกร้องให้ยุบสภา ผู้กุมอำนาจเด็ดขาดในการยุบสภาก็คือนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งที่รัฐบาลมีปัญหาจัดสรรผลประโยชน์ภายในไม่ลงตัว มีรายงานข่าวว่านายกรัฐมนตรีขู่พรรคร่วมรัฐบาลทุกวันว่าจะยุบสภา แต่พอถึงเวลาที่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ออกมาเรียกร้องให้มีการยุบสภาบ้าง นายกรัฐมนตรีกลับเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องนั้น สรุปแล้วการยุบสภาเป็นเพียงเครื่องมือเอาไว้เพื่อขู่พรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่

หากจำเป็นต้องมีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ฝ่ายค้านก็พร้อมที่จะพิสูจน์ศรัทธาประชาชนอีกครั้ง แต่ขอตั้งสังเกตว่า ถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับนี้ การเลือกตั้งก็จะเป็นเพียงพิธีกรรมที่นายกรัฐมนตรีและคณะใช้ชุบตัว เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองในการจัดตั้งรัฐบาล และครองอำนาจที่บิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน ดังนั้น ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจยุบสภาหรือลาออก นายกรัฐมนตรีต้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

“วันนี้อนาคตของชาติต้องการให้นายกรัฐมนตรีรับฟัง แต่กลับไม่สามารถรับฟังได้ หรือมองเห็นนิสิตนักศึกษาเป็นศัตรู ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 นักศึกษาเคยชุมนุมเรียกร้อง นายกรัฐมนตรีก็เพิกเฉย แล้วตอนนี้นอกจากจะไม่ฟังพวกเขาแล้ว ยังต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ทั้งๆ ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศมาเกือบ 2 เดือนแล้ว สรุปแล้วต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อจะคุมไวรัสหรือคุมวัยรุ่นกันแน่”

วันนี้สภาต้องไม่บิดเบือนข้อเรียกร้องของนักศึกษาและประชาชน ด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพราะนักศึกษาไม่ได้เรียกร้องต่อสภา แต่เขากำลังส่งเสียงไปยังรัฐบาล นายกรัฐมนตรีจะปัดความรับผิดชอบแล้วใช้เวทีสภาเป็นเครื่องมือในการซื้อเวลาให้รัฐบาลไม่ได้ หากนายกรัฐมนตรีจริงใจที่จะรับฟังเสียงของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน ไม่จำเป็นต้องอาศัยกลไกคณะกรรมาธิการ สามารถรับฟังได้โดยตรงแล้วเริ่มลงมือแก้ปัญหาได้ตั้งแต่วินาทีนี้