ความในใจ “ครูติ๋ว” ส.ส.อนุรักษ์ บุญศล … เดินหน้าพลิก “แม่น้ำสงคราม” จาก แห้งแล้ง สู่ ชุ่มชื้น คืนชีวิตคนสกลนคร
“ถ้าคุณเห็นเมืองโคราช เห็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น เห็นห้างใหญ่โตในเมืองอุบลฯ แล้วเข้าใจว่าภาคอีสานเจริญทุกพื้นที่แล้ว เราก็ต้องบอกความเป็นจริงที่ว่า พื้นที่ภาคอีสานส่วนใหญ่ ยังเป็นชนบท ต้องพาท่านไปดูทุ่งนา ดูหมู่บ้าน ของประชาชนคนส่วนใหญ่ในพื้นที่จริง วันนี้ใครจะเชื่อว่ายังมีชาวบ้านกว่า 30 ครัวเรือน ที่บ้านนางัว อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ที่ยังไม่มีแม้แต่ไฟฟ้าใช้” ส.ส.อนุรักษ์ บุญศล เขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดสกลนคร (อำเภอสว่างแดนดินและอำเภอเจริญศิลป์) เกริ่นบอกถึงภาพของแผ่นดินอีสาน ที่ชาวบ้านยังต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอยู่
ส.ส.อนุรักษ์ หรือ ครูติ๋ว ที่ชาวบ้านในพื้นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี อธิบายภูมิศาสตร์ของภาคอีสานว่าเป็นพื้นที่ราบสูง ที่เป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้พื้นที่ทางการเกษตร อยู่ในเขตชลประทานเพียงแค่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
“ภาคอีสานแล้งอย่างไรหรือ ?… ขอให้นึกถึงภาพเก่าๆ ที่เราได้ผ่านตากันมา สัก 30 ปี ที่จะมีภาพคนเดินถือเสียมไปบนพื้นดินที่แยกระแหง ถือคุถัง แบกเสียมไปขุดรูหาปูหาปลายังไง วันนี้คนอีสานก็ยังต้องเดินบนผืนดินที่แตกระแหงไปหาขุดรูหาปูหาปลาอย่างเดิม เปลี่ยนไปแค่ทุกหน้าแล้ง ต้องใช้คุถังไปรอรองน้ำจากรถน้ำของ อบต. ที่จะมาแจก มาตุนไว้กินไว้ใช้”
ส.ส.อนุรักษ์ อธิบายว่า คุถังสำหรับคนอีสานแล้วคือชีวิต ถังที่มีหูหิ้วต้องเอาไว้ตักน้ำในบ่อบาดาลหรือใช้รองน้ำจากที่รถน้ำที่ อบต. เอามาแจกให้ชาวบ้านในหน้าแล้งเอามาเก็บไว้ใช้ แม้วันนี้จะเป็นยุคที่มีสมาร์ทโฟนแต่ชาวบ้านตามหมู่บ้านยังต้องคอยถือคุถัง ชะเง้อรอรถน้ำเอาน้ำมาแจกทุกวัน ยิ่งปีนี้มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มากลบความเดือดร้อนเรื่องภัยแล้ง ไม่ค่อยมีคนพูดถึงภัยแล้งกัน แต่ชาวบ้านลำบากมาก เพราะนอกจากจะต้องประสบภัยแล้งแล้ว ยังต้องเจอกับโรคระบาดอีก
ส.ส.อนุรักษ์ เติบโตในพื้นที่อำเภอสว่างแดนดิน ที่มีแม่น้ำสงคราม เป็นแม่น้ำสายหลัก โดยเริ่มต้นน้ำที่อำเภอส่องดาว ไหลทอดยาวครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสกลนคร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ จนไปถึงนครพนม ระยะทางรวมมากกว่า 400 กิโลเมตร หล่อเลี้ยงผู้คนสองฝั่งแม่น้ำมากกว่า 2 ล้านครอบครัว แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังขาดการพัฒนา เมื่อ ส.ส.อนุรักษ์ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงมุ่งมั่นและตั้งใจ ที่จะใช้บทบาทของ ส.ส. และเวทีสภา ผลักดันการแก้ไขปัญหาลุ่มแม่น้ำสงคราม มาทุกสมัยประชุม
“ถ้ามีฝายชะลอน้ำในหน้าแล้งในแม่น้ำสงครามสักจุดหนึ่ง จะช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำทำนาได้ถึง 2 พันกว่าไร่ เพราะถ้าน้ำดีก็จะทำนาได้ 2 รอบ รอบหน้าฝนนาปีอาศัยฤดูกาล รอบหน้าแล้งอาศัยน้ำจากฝายชะลอน้ำ หรือนอกฤดูทำนา ชาวบ้านก็สามารถปลูกผัก อย่างถั่วฝักยาว มะเขือเทศ ฟักทอง กระเพรา โหระพา เก็บกินเหลือก็เอาไปขายได้วันละร้อยสองร้อย ก็หล่อเลี้ยงชีวิตของเขาได้”
ความพยายามผลักดันและติดตามการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งลุ่มแม่น้ำสงคราม ของ ส.ส.อนุรักษ์ ในประเด็นการบริหารจัดการน้ำที่เข้มข้นต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการอนุมัติงบประมาณสร้างฝายชะลอน้ำในลุ่มแม่น้ำสงครามแล้ว 2 ฝายในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และล่าสุดได้รับงบประมาณก่อสร้างฝายที่ 3 เพิ่มเติม คือโครงการพัฒนาเเหล่งน้ำแม่น้ำสงคราม ตำบลบงเหนือ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
“ชาวบ้านดีใจมาก แม้ตอนนี้แค่เริ่มผูกเหล็กเทปูน แต่เขาวาดฝันถึงอนาคตที่ดีขึ้นในอีกปีสองปีข้างหน้า” ส.ส.อนุรักษ์ เปิดภาพการก่อสร้างฝายชะลอน้ำที่ชาวบ้านถ่ายและส่งมาให้ดูในมือถือ
“น้ำของชาวอีสานมันคือชีวิต ทุกชีวิตในดินแดนแห้งแล้งนี้จะพลิกผันฟื้นคืนได้เพราะมีน้ำ”
ครูติ๋ว เล่าวว่า ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคอีสานก็จะทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้ เพื่อให้พี่น้องชาวอำเภอสว่างแดนดิน ชาวอำเภอเจริญศิลป์ และชาวจังหวัดสกลนคร ได้ลืมตาอ้าปาก วันนี้หากมีน้ำในพื้นที่เพียงอย่างเดียวจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อีกหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องของแรงงาน ถ้ามีน้ำ ชาวบ้านก็สามารถทำกินได้ในพื้นที่ ไม่ต้องอพยพกันมาหางานโรงงานในกรุงเทพฯ ไม่ต้องแยกจากครอบครัวมาทำงานก่อสร้าง ลูกหลานได้อยู่กับพ่อแม่ มีความอบอุ่น ลดปัญหาสังคม ปัญหายาเสพติด ความเสี่ยงต่างๆ ของเยาวชนได้ทั้งหมด
“เราอยู่กับภัยแล้งแต่เกิด ถ้าเรามีน้ำ เรามีที่ทำกิน เราจะมีโอกาสมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาของลูกหลาน พวกเขาจะได้ไม่ต้องเข้าไปเป็นลูกจ้างในกรุงเทพฯ เรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆและจะต้องทำให้ได้” ส.ส.อนุรักษ์ บุญศล กล่าวทิ้งท้าย