Here’s Why Thailand’s Dire Economic Outlook Is the Worst in Asia : สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยอาจแย่ที่สุดในเอเชีย

วันที่ 7 กรกฎาคม 2563 สำนักข่าว bloomberg เผยแพร่บทความเรื่อง Here’s Why Thailand’s Dire Economic Outlook Is the Worst in Asia ระบุว่า แม้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ได้ภายใน 40 กว่าวันโดยไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศกลับดูว่าอาจจะมืดมนที่สุดในเอเชีย

ในปี 2563 คาดหมายว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ จีดีพี อาจติดลบถึงร้อยละ 8.1 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เลวร้ายที่สุดจากทุกสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจ และไทยอาจเป็นประเทศที่จีดีพีติดลบหนักที่สุดในเอเชีย และอาจเป็นตัวเลขที่แย่ที่สุดในช่วง 2 ทศวรรษนับแต่วิกฤติการเงินเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

บทความดังกล่าว ระบุว่า นายเกียรติพงษ์ อริยพฤกษ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย แสดงความเห็นว่าประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวสำคัญมีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 15 ของจีดีพี และอีกภาคส่วนหนึ่งคือด้านการส่งออก ซึ่งไทยก็มีรายได้มากพอๆ กัน เมื่อมีผลกระทบเกิดขึ้นจึงสะเทือนต่อจีดีพีของประเทศอย่างยิ่ง

จากการวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก คาดว่าเศรษฐกิจของไทยอาจติดลบถึงร้อยละ 6 ซึ่งอาจต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วฟื้นตัวกลับขึ้นมาในปี 2564 เป็นร้อยละ 4

สิ่งที่เป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจไทยได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนัก อาจมาจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การประกาศเคอร์ฟิวจำกัดเวลา และการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบกระเทือนต่อการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชน แม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินเพื่ออุดหนุนการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ แต่นักลงทุนคาดหมายว่าสถานการณ์ต่างๆ ไม่น่าจะดีขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว และนับแต่มีการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวลดลงเหลือแค่ 8 ล้านคน หรือเพียงแค่ 1/5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เคยมี

ด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยเริ่มวางแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยว ด้วยการใช้ระบบ travel bubbles กับบางประเทศโดยเฉพาะ และมีแผนเปิดประเทศอย่างช้าๆ และระมัดระวัง โดยหวังว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะหารายได้จากการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่ทั้งหมดก็ไม่อาจชดเชยกับมูลค่าความเสียหายของภาคส่งออกซึ่งมีมูลค่าถึง 1 ใน 5 ของจีดีพี

ในส่วนของภาคส่งออกนั้น แม้ภาพรวมจะดูดี เพราะตัวเลขส่งออกลดลงแค่ 2 เดือนจาก 5 เดือนแรกของปี แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่ามีการบิดเบือนกลไกตลาด เช่น ราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้น จนดันให้ตัวเลขส่งออกเพิ่มมากขึ้น แต่เพราะราคาทองคำที่สูงขึ้นในช่วงโควิด-19 ทำให้นักลงทุนพากันขายทองคำ ทำให้ยอดส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถ้าตัดเรื่องตัวเลขส่งออกทองคำออกไปจะพบว่าตัวเลขภาคส่งออกตกลง และอุปสงค์อุปทานในภาคส่งออกกำลังเกิดปัญหา

สำหรับค่าเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 6 ในช่วงสามเดือนแรกของปี จนเป็นลำดับที่สองของเอเชีย ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 3 ครั้ง เหลือแค่ร้อยละ 0.50 ถือว่าต่ำที่สุด ซึ่งกรณีค่าเงินบาทแข็งตัวนั้นก็เป็นอุปสรรคต่อทั้งภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จึงทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังพิจารณาว่าจะใช้มาตรการในการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท หากมีความจำเป็น

เรียบเรียงจาก

Here’s Why Thailand’s Dire Economic Outlook Is the Worst in Asia, Bloomberg, 07-07-2020