ดร.สุทิน คลังแสง : ขอให้รัฐบาลทบทวน ปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ฉบับนี้มาใหม่ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และการแก้ไขปัญหา
3 กรกฎาคม 2563 ดร.สุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน และ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ว่า งบประมาณปี 2564 ไม่ตอบโจทย์ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด และสิ้นหวัง เพราะรัฐบาลประมาณการเศรษฐกิจผิดพลาด ในวันนี้ประชาชนไม่มีกำลังซื้อ พ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ได้ ประชาชนตกงาน ถูกเลิกจ้าง แม้แต่หน่วยงานของรัฐอย่างองค์การค้าของคุรุสภา (สกสค.) ยังเลิกจ้างนับพันคน แต่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีก็ไม่ยอมรับแล้วยังบอกว่าเศรษฐกิจยังดี ยังไปได้
วันนี้ “ประยุทธภัย” เป็นสิ่งที่คนไทยต้องเผชิญในปี 2564 คือหนี้ 5 ประเภท ได้แก่ 1.หนี้สาธารณะที่จะเพิ่มถึง 60% ของ GDP และจะเพิ่มขึ้นอีก จากการกู้ซ้ำกู้ซ้อน 2.หนี้ครัวเรือน 80% ที่จะทะลุขึ้นมาอีก เพราะหนี้ประเทศเยอะ หนี้ครัวเรือนก็จะเพิ่ม 3.หนี้ภาคธุรกิจ ซึ่งวันนี้มีการปิดโรงงาน ไม่ว่าจะเป็น SMEs หรือธุรกิจรายใหญ่ๆ วันนี้เข้าแถวเจ๊งกันเป็นแถบๆ 4.หนี้เสียในระบบการเงิน NPL ที่จะมีเพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการล่าสุดว่า ห้ามธนาคารจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น เพราะธนาคารอยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยง เพราะลูกหนี้ NPL มีมากขึ้น และสุดท้าย 5. หนี้นอกระบบ ที่ชาวบ้านจะต้องเป็นหนี้นอกระบบมากขึ้น จำใจต้องเข้าสู่อาณาจักรนักเลง ดอกเบี้ยโหด เหล่านี้คือสภาพความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 ซึ่งวันนี้ไม่ต้องหวังไปแข่งขันกับประเทศไหน เพราะอย่างเวียดนามที่เจอวิกฤติโควิด-19 เหมือนกัน แต่แก้ปัญหาได้ดีกว่าและไม่ได้กู้เงิน ซึ่งวันนี้เศรษฐกิจเวียดนามโต 4-5% ส่วนเราติดลบ 8% GDP ไทยกับเวียดนามห่างกัน 13% ซึ่งเขาอยู่หลังเรามาตลอด วันนี้แซงหน้าเราไปแล้ว
ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ เพราะรัฐบาลยังคิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม หวังผลลัพธ์ใหม่คงป่วยการ ฝ่ายค้านมีมติขอให้รัฐบาลไปปรับแก้งบประมาณมาใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์และการแก้ไขปัญหา รวมทั้งอุดช่องโหว่ที่อาจพิจารณา ปรับ ครม. และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเพื่อให้สอดรับกับการแก้ไขปัญหา ซึ่งถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ขอให้นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาใช้ระบบการประกันคุณภาพทางการเมือง ด้วยการรับรองผลงานในการทำงานและเป้าหมายการแก้ไขปัญหาวิกฤติประเทศ ถ้าทำตามที่สัญญาไม่ได้ก็จะต้องลาออกไป เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมืออาชีพ ที่มีการรับประกันด้วยผลงาน เพื่อให้ประชาชนมีความหวัง ถ้านายกรัฐมนตรีกล้า ขอให้ลุกขึ้นมาประกาศในสภาว่าถ้า GDP โตไม่ถึง 5% เหมือนที่ประมาณการไว้ หรือหนี้สาธารณะของประเทศไปอยู่ที่ 65% หนี้ครัวเรือนไปถึง 90% เมื่อไหร่ สัญญาณอันตรายมาก็จะขอลาออก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน