น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ : การจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ.2564 ของรัฐบาลไม่ได้ตอบสนองเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19
1 กรกฎาคม 2563 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ว่า โครงสร้างของงบประมาณปี 2564 ที่ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท โดยรายจ่ายแบ่งออกได้เป็น 3 รายการใหญ่ๆ คือ 1. รายจ่ายประจำ 2.526 ล้านล้านบาท 2. รายจ่ายลงทุน 6.74 แสนล้านบาท และ 3. รายจ่ายชําระคืนต้นเงินกู้ 99,000 ล้านบาท เมื่อพิจารณารายจ่ายประจำและรายจ่ายชําระคืนต้นเงินกู้ ซึ่งรวมแล้วเป็นเงินจำนวน 2.625 ล้านล้านบาท ในขณะที่รายได้ที่มาจากการจัดเก็บภาษีประมาณไว้ 2.677 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้กัน ไม่มีเงินเหลือที่จะพัฒนาปรับปรุงหรือลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ ยกเว้นจะต้องไปกู้มาเพิ่ม ซึ่งฐานะทางการคลังของรัฐบาลมีความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลายเป็นอย่างมาก
รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจได้สร้างรัฐราชการ จึงทำให้มีรายจ่ายประจำสูงขึ้น ประเทศไทยเรามีจำนวนข้าราชการมากกว่าความจําเป็น รัฐบาลจะต้องลดจำนวนข้าราชการลงอย่างจริงจังเพื่อลดรายจ่ายประจำที่ไม่ก่อให้เกิดเงินได้มากที่สุด เพราะรัฐราชการไม่สามารถผลิตภาษีได้ รัฐบาลต้องลดอำนาจรัฐและสร้างรัฐประชาชนที่สามารถผลิตภาษีเป็นรายได้ให้กับประเทศมากกว่า
การจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ของรัฐบาลไม่ได้ตอบสนองเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นไปที่การวางโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิมที่เคยทำมาเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตอุตสาหกรรม เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือถนนเพื่อขนส่งสินค้า เป็นต้น แต่อุตสาหกรรมหลังวิกฤติโควิด-19 จะเน้นเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย เพราะประชาชนจะให้ความใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น การวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจะต้องสอดคล้องกับอุตสาหกรรมในอนาคตที่จะเป็นฐานการผลิตภาษีแหล่งใหม่
นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการแปลว่าประชาชนขาดกําลังซื้อจึงทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้น้อยลง แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มตกต่ำมาตั้งแต่การยึดอำนาจ และหากประมาณการรายได้ปี 2564 ผิดพลาด โดยจัดเก็บได้น้อยกว่าประมาณการซึ่งมีความเป็นไปได้สูง เพราะรัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินนโยบายอะไรที่เป็นการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากการดำเนินนโยบายที่จะทำให้เศรษฐกิจหดตัวอันจะทำให้งบประมาณที่ตั้งไว้ไม่เป็นไปตามที่กำหนด รัฐบาลต้องหยุดสร้างภาพความหวาดกลัว แต่เปลี่ยนความหวาดกลัวให้เป็นโอกาส ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลกําลังกระทำจะตรงข้ามกับที่ควรจะเป็น เพราะเพิ่งขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีกโดยไม่มีเหตุความจําเป็น
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือประชาชนขาดกําลังซื้อ หรือประชาชนไม่มีรายได้ แต่มีหนี้สูงตามตัวเลขหนี้ครัวเรือน ปัญหาของรัฐบาลคือจะสร้างกําลังซื้อให้เกิดกับประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้ออกไปจับจ่ายใช้สอย เพื่อสร้างการบริโภคภายในได้อย่างไร ยิ่งการเยียวยาไม่ทั่วถึง ยิ่งทำให้ประชาชนขาดกําลังซื้อมากขึ้นไปอีก ที่แย่ไปกว่านั้นคือการเยียวยาจะจบลงในเดือนมิถุนายนนี้ อันจะทำให้สถานการณ์ของประเทศแย่หนักขึ้นไปอีก ที่จะสาหัสยิ่งขึ้นคือในเดือนตุลาคมนี้ตัวเลขคนตกงานจะพุ่งสูงขึ้นถึง 7-10 ล้านคน รัฐบาลเตรียมการรับมือไว้อย่างไร นอกจากขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อจํากัดสิทธิเสรีภาพ และเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลห่วงเสถียรภาพของตัวเองมากกว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประชาชน
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 มีความไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะสัดส่วนของงบประมาณและการจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของประเทศ ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่นํามาเป็นฐานในการคํานวณมีความคลาดเคลื่อนผิดไปจากความเป็นจริงอย่างมาก รวมถึงสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการล้วนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะทำให้การใช้เงินสูญเปล่าเป็นภาระแก่งบประมาณ จึงไม่เห็นด้วยกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฉบับนี้