เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เตือน รัฐบาลไร้ยุทธศาสตร์แก้วิกฤติเศรษฐกิจ ชี้ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อความมั่นคงตัวเอง มากกว่าแก้ปัญหาประชาชน
30 มิถุนายน 2563 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายว่า ตอนนี้ทุกฝ่ายเริ่มถามหายุทธศาสตร์การใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท หรือเงินงบประมาณที่โอนมาจากงบประมาณปี 2563 ของรัฐบาลว่าจะจัดลำดับความสำคัญและมุ่งเน้นการแก้ปัญหาก่อนหลังอย่างไร เช่น การฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศ การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME การช่วยเหลือคนตกงาน หรือถ้าต้องทำพร้อมๆ กันทุกเรื่องจะจัดน้ำหนักของงบประมาณให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่เคยมีการชี้แจงอย่างเป็นรูปธรรมเลย การที่รัฐบาลให้แต่ละหน่วยงานเสนอโครงการแบบต่างคนต่างทำ โดยมองไม่เห็นยุทธศาสตร์ภาพรวม ต้องถือว่าเสี่ยงกับการอนุมัติใช้จ่ายงบประมาณแบบไร้ประสิทธิภาพ สุดท้ายการใช้เงินกู้จำนวนมหาศาลเหล่านี้ อาจลงเอยด้วยการไม่ตอบโจทย์การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และประเทศอาจประสบสภาวะชะงักงัน เพราะไม่สามารถใช้เงินก้อนสุดท้ายในการสตาร์ทเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่จะเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ก็คือ กลุ่มที่เปราะบางทางด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ กลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ หรือ ประชาชนที่ยังตกงานอยู่เกือบ 10 ล้านคนในขณะนี้
โดยเฉพาะงบประมาณ 4 แสนล้านบาท ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรอง ที่มีกระแสข่าวว่า มีรายการประเภท “คุณขอมา” เป็นจำนวนมาก หรือการนำโครงการเก่ามาปัดฝุ่นและเสนอเข้าไปใหม่โดยตั้งชื่อโครงการให้สอดคล้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 หรือสอดไส้โครงการที่สามารถใช้งบประมาณปกติดำเนินการได้ โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจไม่ได้กำหนดทิศทาง แผนงาน หรือมาตรการการใช้งบประมาณที่ชัดเจนให้ทราบเลย ซึ่งสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ จะครบ 3 เดือน ของการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท แต่ยังมีบางอาชีพที่ยังไม่สามารถกลับไปทำมาหากินได้ตามปกติ ส่วนที่ได้รับการปลดล็อกแล้ว ก็ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าจะไปรอดหรือไม่ เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงล็อกดาวน์ธุรกิจ ส่วนรัฐบาลก็มัวยุ่งกับปัญหาภายในของตัวเอง ทีมเศรษฐกิจก็ขาดเอกภาพเพราะไม่รู้จะฟังใครดี ที่ผ่านมาจึงแก้ปัญหาแบบสะเปะสะปะ ไร้ยุทธศาสตร์
ขณะนี้คนตกงานหลายล้านคน กำลังรอฟังความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะมีนโยบายหรือมาตรการใดออกมาฟื้นฟูเยียวยาพวกเขาอีก หลังจากได้รับเงินช่วยเหลือครบ 3 เดือนแล้ว จากนี้ไป คนตกงานจะทำมาหากินอย่างไรต่อไป โรงงานที่ปิดตัวไปแล้ว จะมีโอกาสกลับมาเปิดอีกหรือไม่ หรือการจะไปกู้ยืมเงินมาลงทุนในกิจการ SME ก็มีแต่แคมเปญสวยหรูแต่ปฏิบัติไม่ได้จริง อยากถามว่ารัฐบาลได้ลงไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้บ้างหรือไม่
“การที่รัฐบาลขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปเรื่อยๆ ทั้งที่ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อแล้ว แสดงว่ารัฐบาลไม่สนใจเสียงเรียกร้องเรื่องปากท้องของประชาชน เสียงของคนตกงานเกือบ 10 ล้านคนมันเบาไปหรืออย่างไรจึงไม่ยอมยกเลิก ตราบใดที่ยังบังคับใช้กฎหมายพิเศษอยู่แบบนี้ ไม่มีวันที่นักลงทุนจะเชื่อมั่น ดังนั้นจะไม่มีการจ้างงานใหม่ คนก็จะตกงานมากมายอยู่เหมือนเดิม การที่รัฐบาลยังเดินหน้าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ แสดงว่า นายกรัฐมนตรี เลือกความมั่นคงของรัฐบาล มากกว่าการแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชน”