จิราพร สินธุไพร : การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้ไทยมีศักยภาพด้านการแข่งขันจริงหรือไม่ หรือจะเป็นการฆ่าธุรกิจไทย ฆ่าเกษตรกร พี่น้องชาวไทยทางอ้อม

10 มิถุนายน 2563 น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายในการนำเสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาผลกระทบต่อการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ว่า ความตกลง CPTPP จัดเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีกฎเกณฑ์ พันธกรณี และระดับข้อผูกพันเปิดเสรีระดับสูง ซึ่งมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและผูกพันในระยะยาว 

CPTPP มีกฎเกณฑ์ที่ครอบคลุมในหลายเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะการส่งออกสินค้า แต่รวมถึงทุกเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าและเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบทุกภาคส่วนในวงกว้าง แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1. การเข้าสู่ตลาด หรือเรียกง่ายๆ ว่า การเปิดตลาด ซึ่งครอบคลุมเรื่องสินค้า บริการ และการลงทุน 2. กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น กฎเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการทางศุลกากร สุขอนามัย มาตรฐานสินค้า นอกจากนี้ ยังมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากกว่า FTA อื่นๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การแข่งขันทางการค้า แรงงาน การคุ้มครองการลงทุน การเปิดให้เอกชนต่างชาติเข้ามาแข่งขันในรัฐวิสาหกิจและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ประเทศไทยเป็นฝ่ายตั้งรับและได้รับผลกระทบ เพราะไทยยังต้องการเวลาในการพัฒนาและศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่และสิทธิบัตรยา 

ปัจจุบันความตกลง CPTPP มีประเทศสมาชิกอยู่ทั้งหมด 11 ประเทศ ซึ่งในจำนวนสมาชิก 11 ประเทศนี้ ไทยมีความตกลงเสรีทางการค้ากับสมาชิก CPTPP ไปแล้วถึง 9 ประเทศ เหลือเพียง 2 ประเทศ เท่านั้น คือ เม็กซิโก กับ แคนาดา ที่ไทยยังไม่มีความตกลงเสรีทางการค้าด้วย แต่การเข้า CPTPP ไทยจะต้องเปิดเสรีให้กับธุรกิจบริการต่างชาติทั่วโลก ไม่ใช่แค่เฉพาะกับสมาชิก CPTPP เท่านั้น เพราะในความตกลง CPTPP เขียนไว้ชัดเจนว่า “บริษัทจากประเทศใดก็ตาม ถ้ามีกิจการในประเทศสมาชิก CPTPP แล้ว บริษัทนั้นๆ จะสามารถเข้ามาถือครองธุรกิจในประเทศสมาชิกได้ทั้งสิ้น” วันนี้จึงมีคำถามว่าประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยัง

“การล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ จะนำไปสู่การสูญเสียอธิปไตยของชาติ ซึ่งการเปิดเสรีการค้าและบริการใน CPTPP น่าจะเป็นการฉายภาพสะท้อนได้ดีที่สุด เพราะ CPTPP เป็นความตกลงที่เปิดเสรีภาคบริการถึง 100% ซึ่งจะทำให้ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจบริการของไทยได้ ซึ่งเป็นการเปิดเสรีภาคบริการที่สูงกว่าอาเซียน และ FTA ที่ไทยเคยมีมาทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องชั่งน้ำหนักว่า การเข้า CPTPP คุ้มค่าหรือไม่ กับการที่ไทยจะได้ตลาดแคนาดาและเม็กซิโกสำหรับสินค้าเพียงไม่กี่รายการ ในขณะที่ไทยเองก็ต้องเปิดตลาดให้แคนาดาและเม็กซิโกด้วย ถ้าไทยมีความหวังที่จะได้ตลาดสำหรับสินค้าไม่กี่รายการ เพียงแค่ใน 1 บทของความตกลง กับการเสี่ยงที่จะสูญเสียในหลายประเด็นใน 25 บทของความตกลง ซึ่งรวมถึงเรื่องอ่อนไหวที่จะสร้างผลกระทบต่อไทย อย่างเช่น ความมั่นคงทางด้านอาหารจากความตกลง UPOV1991 และหลายภาคส่วนก็ยังแสดงความกังวล” 

ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องศึกษาก่อนว่า เรามีความพร้อมที่จะแข่งขันในเวทีความตกลงการค้าเสรีภายใต้กฎกติกาที่ถูกออกแบบมาสำหรับประเทศที่แข็งแกร่งหรือไม่ เราต้องรู้จักประเมินและชั่งน้ำหนักว่า สิ่งที่ต้องเสียไปคุ้มค่าหรือไม่กับสิ่งที่ได้มา และสิ่งที่ได้มานั้น สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของเราหรือไม่อย่างไร รวมทั้งการเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้ไทยมีศักยภาพด้านการแข่งขันจริงหรือไม่ หรือจะเป็นการฆ่าธุรกิจไทย ฆ่าเกษตรกรพี่น้องชาวไทยทางอ้อม