พรรคเพื่อไทย รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เผยส่วนใหญ่ตกหล่น ยังเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาของรัฐ

26 พฤษภาคม 2563 รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและแผนงาน พรรคเพื่อไทย , นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย , นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านการพัฒนาพรรค พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู , นางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม , นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม และนายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร รับเรื่องจากตัวแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรการเยียวยา

รศ.ดร.โภคิน กล่าวว่า
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นปัจจัยสำคัญในระบบเศรษฐกิจ
หากรัฐบาลยังมีแนวทางการทำงานแบบเดิม น่าเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจไทยจะไปไม่ได้
การที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อนำเงินมาใช้เยียวยาวิกฤติโควิด-19
ซึ่งรวมไปถึงผู้ประกอบการ และแบงก์ชาติจะมีมาตรการซอฟต์โลน 5
แสนล้านบาทยังมีเงื่อนไขต่างๆ
ที่อาจทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงได้
ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้รับฟังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มาให้ข้อมูล
ได้ความว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พยายามที่จะรวมกลุ่มกันเอง
และพยายามส่งเสียงบอกกับรัฐบาลว่า พวกเขาต้องการอะไร เดือดร้อนอย่างไร
และอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือตรงไหน แต่ผลก็คือว่าไม่เคยประสบความสำเร็จ
เนื่องจากปัญหาของรัฐราชการและระบบอำนาจนิยม ที่ทำให้มีการคิดเองเออเอง
ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง มันไม่ใช่อย่างนั้น

ขณะที่ นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ตกหล่นและยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล ทั้งๆ ที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากและเป็นแหล่งจ้างงานหลักของประเทศ และเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกำลังซื้อที่หดหาย แม้รัฐบาลจะออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท แต่ก็ไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมอย่างไรในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างกำลังซื้อ และเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืน ในส่วนของวงเงินกู้ที่รัฐบาลบอกว่าจะปล่อยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง ก็ยังเป็นการเน้นปล่อยให้แก่ลูกค้ารายเดิมๆ จำนวนไม่ถึง 100,000 ราย ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งประเทศมีถึง 3-4 ล้านราย ในส่วนของซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นผู้ประกอบการรายย่อยก็อาจจะเข้าไม่ถึงเงินเชื่อดังกล่าว จึงขอฝากคำถามเหล่านี้ไปยังรัฐบาล ผ่านทาง ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อให้นำข้อมูลไปใช้ในการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทวงความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการที่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสด้วย