เพื่อไทย เตือน รัฐบาล ใช้อำนาจฟุ่มเฟือย ยืดอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-คงประกาศเคอร์ฟิว ส่งผลกระทบหนักทางเศรษฐกิจ
25 พฤษภาคม 2563 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล ว่า รัฐบาลกำลังหลงทาง หลายเรื่องไม่ควรทำกลับทำ แต่ละทิ้งในสิ่งที่ควรทำกลับถกเถียงกันเพียงแค่ว่าจะปรับเวลาเคอร์ฟิวเป็นเวลาใด จะขยับเข้าหรือขยับออก ทั้งที่มากกว่า 50 จังหวัดเป็นพื้นที่ปลอดเชื้อ แต่เอาผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 1-2 คน บางวันเป็น 0 มาขังคนไทย 67 ล้านคน หลบหลังโควิด-19 ปกปิดการบริหารงานที่ล้มเหลว เพียงเพื่อกระชับอำนาจ
“รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลพรรคร่วมมากที่สุด แต่กลับไร้เสถียรภาพมากที่สุด โรงเรียนเปิดไม่ได้ แต่ห้างเปิดได้ สแกนแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ประชาชนก็กังวลว่าจะถูกแฮกข้อมูล เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเจ้าของข้อมูล การยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการคงประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนัก วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบหนักทางเศรษฐกิจ ยิ่งกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งกว่า 10 เท่า รัฐต้องเผชิญมรสุมอย่างน้อย 3 ลูก คือ โควิด-19 ฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจ และวิกฤติการเมืองทั้งในพรรคและนอกพรรค รัฐต้องสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพ เสรีภาพ และเศรษฐกิจ ให้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่ใช่เอาทุกปัญหาไปกลบไว้ใต้โควิด ซึ่งโควิด ไม่ได้ควบคุมได้จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว แต่ควบคุมจากความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ถ้ารัฐบาลยังคงกระชับและใช้อำนาจอย่างฟุ่มเฟือย ไม่มีที่สิ้นสุด อาจเกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับ ที่รัฐบาลไม่อาจรับมือได้” นายอนุสรณ์กล่าว
ขณะที่ นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า โดยปกติการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีความมุ่งหมายในการป้องกันความสงบ การก่อการร้าย ภัยสงคราม แต่ขณะนี้เรามี พ.ร.บ.ควบคุมโรคอยู่แล้ว เหตุใดรัฐบาลจึงยังเลือกที่จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป คำถามก็คือ รัฐบาลมีเจตนารมณ์ มีความมุ่งหมายประการใด หรือเพื่อประโยชน์ของใคร นี่คือสิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมกังขา นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสำคัญระดับระหว่างประเทศ คือเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 ประเทศไทย ได้เป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR โดยข้อที่ 4 ระบุว่า ในการที่รัฐบาลที่เป็นภาคีสมาชิกประกาศภาวะฉุกเฉินในประเทศใดๆ รัฐบาลต้องกระทำเพียงที่จำเป็นกับสถานการณ์ของความฉุกเฉินเท่านั้น และเมื่อความฉุกเฉินหรือภัยพิบัติผ่านพ้นไป รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องคืนวิถีชีวิต สภาพเศรษฐกิจ การค้าขาย คืนความปกติให้กับประชาชนโดยเร็ว และมีหลายฝ่ายได้แสดงความห่วงใยจากกรณีนี้ว่า จากสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกติกาความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร