“โควิด” คุกคาม – “ภัยแล้ง” ลุกลาม : “นพ ชีวานันท์” ฉายภาพวิกฤติซ้อนวิกฤติ “ชาวเมืองกรุงเก่า”

“แม้จะเริ่มคลายล็อกมาตรการต่างๆ แล้ว แต่สถานการณ์ต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น เพราะชาวบ้านยังทำมาหากินได้ไม่เต็มที่ เคอร์ฟิวทำให้ภาคธุรกิจในพื้นที่ยังไม่สามารถขยับได้ ทุกอย่างถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขต่างๆ ทั้งที่ทุกคน และทุกภาคส่วน เรียนรู้และระมัดระวังในการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว” ส.ส.นพ ชีวานันท์ เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บอกถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่
 
การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบไม่แตกต่างจากประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย

 

ในช่วงของการระบาดระยะแรก “ส.ส.นพ ชีวานันท์”
รับทราบทันทีว่าปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันตัวเองของชาวบ้าน
น่าจะเป็นปัญหาสำคัญ ดังนั้นเขาและคนในครอบครัว จึงพยายามหาหน้ากากอนามัย
หน้ากากผ้า แอลกอฮอล์ล้างมือ และจัดทำเฟซชิลด์ ไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน
บุคลากรทางการแพทย์
รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าตามจุดคัดกรองต่างๆ
เพื่อทุกคนมีอุปกรณ์สำหรับการป้องกันตัวเองเบื้องต้นก่อน 

“ผมมอบให้ตัวแทนไปกระจายสิ่งของช่วยเหลือชาวบ้าน เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และทั่วถึงทุกชุมชน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด ถ้าช้า อาจทำให้ทุกคนมีความเสี่ยงมากขึ้น แล้วก็เป็นการช่วยรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปด้วย”
 

 
เมื่อระยะเวลาการระบาดและการประกาศมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ
เริ่มยืดยาวออกไป เขาประเมินทันทีว่า
ปัญหาในมุมของการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน
น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่จะตามมาอย่างแน่นอน

“ในพื้นที่ส่วนใหญ่ พี่น้องก็เป็นเกษตรกร ปกติก็มีปัญหาอยู่แล้ว ทั้งเรื่องภัยแล้ง และน้ำท่วม ตรงนี้ก็เป็นปัญหาสลับกันอยู่ หน้าน้ำก็น้ำท่วม หน้าแล้งก็แล้ง ไม่มีน้ำทำนา ซึ่งก็ทำให้เขาลำบากกันมากอยู่แล้ว ตอนนี้ต้องมาเจอกับโรคระบาดซ้ำเติมเข้าไปอีก มาถึงตอนนี้ทำให้ปัญหาปากท้องกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ยิ่งมีการประกาศเคอร์ฟิว ยิ่งทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนมากขึ้น ทำให้หลายอาชีพรายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขาดแคลนรายได้ บางส่วนที่มีปัญหาภาระและหนี้สินที่ต้องจ่าย ยิ่งลำบากมากขึ้น” ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย สรุปสารพัดปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่

เมื่อมองเห็นแล้วว่าปัญหาลุกคืบไปสร้างเป็นประเด็นความเดือดร้อนเรื่องปากเรื่องท้องของชาวบ้าน
ส.ส.นพ ชีวานันท์
ปรับการช่วยเหลือไปเป็นการจัดหาข้าวสารอาหารแห้งมาแจกจ่ายให้พี่น้องประชาชนในยามวิกฤติ

 “ในพื้นที่มีความโชคดีอยู่อย่างหนึ่งคือ
หลายองค์กร หลายหน่วยงานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามช่วยเหลือกันทุกทาง
ผมลงพื้นที่ไปตามจุดโรงทานต่างๆ เอาข้าวสาร ปลากระป๋อง อาหารสำเร็จรูปต่างๆ
ไปสมทบเพื่อแจกจ่ายให้ชาวบ้าน โดยจะประเมินว่าจุดไหนที่เขาลำบากกันจริงๆ
ไม่ได้กระจายการช่วยเหลือเหมือนในช่วงแรก ระยะหลังก็มีหน่วยงานต่างๆ
เข้ามาช่วยกันมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีการตั้งตู้ปันสุข
กระจายตามหมู่บ้านต่างๆ ผมก็ช่วยเอาของไปเติมเป็นระยะๆ
ไม่อยากให้ข้าวของต่างๆ ขาดช่วงไป
เพราะคนที่ยังลำบากในสถานการณ์นี้ยังมีอยู่อีกเยอะ”

 
ส.ส.นพ ชีวานันท์ สะท้อนถึงมาตรการของรัฐบาลอีกว่า ต้องบอกกันตามตรง
มาตรการเยียวยาของรัฐบาลยังไม่ทั่วถึง ไม่ครอบคลุม ไม่เพียงพอ
เพราะในข้อเท็จจริงทุกคนได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
และมาตรการต่างๆของรัฐ ดังนั้นควรแจกจ่ายให้ครบทุกคน
ไม่ใช่เลือกเฉพาะเจาะจง
แล้วที่สำคัญเงื่อนไขต่างๆที่รัฐบาลพยายามสร้างขึ้นมา
ตั้งแต่การลงทะเบียนที่ยุ่งยากทำให้ชาวบ้านตาสีตาสาเข้าไม่ถึง
ทั้งๆที่ควรอำนวยความสะดวกให้ประชาชน รวดเร็วและตรงจุดมากกว่านี้
ไปจนถึงมาตรการต่างๆ หลังการปลดล็อก
ก็ยังสร้างเงื่อนไขให้กับประชาชนและผู้ประกอบการมากขึ้น
 
“หลายคนต้องหยุดกิจการไปนาน
ขาดรายได้ เมื่อภาครัฐมีการปลดล็อก เปิดกิจการเข้ามาอีกครั้ง
ในข้อเท็จจริงภาครัฐ ควรพยายามช่วยเหลือ ซัพพอร์ทเขา ช่วยลดต้นทุนให้เขา
เพื่อให้เขาอยู่ได้ ประกอบอาชีพต่อไปได้ในช่วงเวลาหนึ่ง
ในวันนี้บางคนไม่มีกินไม่มีใช้ ถึงขนาดต้องเอาข้าวของไปจำนำ
เพื่อที่จะเอาเงินมาทำทุนต่อชีวิตให้พออยู่ได้” 

 
แม้สถานการณ์ขณะนี้ภาครัฐจะเริ่มผ่อนปรนมาตรการต่างๆ แต่ผลจากเงื่อนไขจำนวนมากยัง ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในหลายด้าน ส.ส.นพ ชีวานันท์ มองว่า ปัญหาซ้ำเติมวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ คือ ภัยแล้งที่กำลังคุกคามคนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอย่างหนัก โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่
 
“อยุธยาเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน จากเดิมปลูกข้าวกันได้ปีละ 2 ครั้ง แต่ตอนนี้ปลูกได้แค่ครั้งเดียว ช่วงนี้ใกล้ฤดูเพาะปลูกข้าวนาปีแล้ว แต่ชาวนายังต้องรอทางรัฐบาลอนุญาตก่อน เพราะปัญหาภัยแล้ง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีนโยบายลงมาเพื่อให้ชาวนาเพาะปลูกได้ แม้จะมีเกษตรกรบางส่วนที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำได้เริ่มทำนาบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังต้องรอน้ำจากคลองชลประทานอยู่ ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานบริหารจัดการน้ำได้แย่มาก น้ำไม่ทั่วถึง ชาวบ้านต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำสายธรรมชาติ ต้องสูบน้ำขึ้นมากันเอง มีบ้าง ไม่มีบ้าง พอบ้าง ไม่พอบ้าง ผลผลิตที่ชาวนาคาดหวังว่าจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จะได้พอมีพออยู่พอกินกัน พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัว ก็เลยไม่ได้ตามที่หวัง” ส.ส.พระนครศรีอยุธยา สะท้อนถึงวิกฤติซ้ำซ้อนที่กำลังสร้างปัญหาใหญ่ให้กับเกษตรกรในพื้นที่
 
นพ ชีวานันท์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า ภัยแล้งเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นและจำเป็นที่ภาครัฐ จะต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน และเมื่อเปิดสมัยประชุมสภา ปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนตลอดเวลาที่ผ่านมา จะต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรทันที เพื่อช่วยกันหาหนทางแก้ไข … เพราะความทุกข์ของพี่น้องประชาชน รอไม่ได้