“หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” ชี้ การสลายการชุมนุมที่เกินกว่าเหตุและจับกุมประชาชนของรัฐบาลไม่ชอบธรรม ยืนยันต้องเร่งแก้รัฐธรรมนูญ-สภาต้องไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเตะถ่วงเวลา

26 ตุลาคม 2563 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ระหว่าง 26-27 ตุลาคม 2563 ว่า เมื่อได้อ่านญัตติของรัฐบาลแล้ว มีความรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่ว่า ญัตตินี้ เป็นญัตติที่ไม่สร้างสรรค์ เนื้อหาสาระของญัตติ มีแนวโน้มที่จะสร้างความแตกแยกร้าวฉานในสังคมไทย ให้ขยายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ การตั้งญัตติเช่นนี้ รังแต่จะซ้ำเติมสถานการณ์ให้บานปลาย ไม่สามารถเป็นทางออกของสังคมไทยได้แต่อย่างใด แต่ถึงกระนั้นพวกเราก็ยังมีความตั้งใจที่จะใช้โอกาสการอภิปรายครั้งนี้ เพื่อเสนอทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ จึงขอร้องให้ที่ประชุมแห่งนี้ ทุกฝ่ายทุกคนต้องช่วยกันประคับประคองให้การอภิปรายในครั้งนี้ เป็นการถกเถียงเพื่อคลี่คลายสถานการณ์วิกฤติของประเทศ

การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ เพราะมีแนวโน้มว่าการบริหารจัดการปัญหาภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะยิ่งนำพาไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากถ้อยคำ การกระทำ และมาตรการต่างๆ ที่ออกมา ล้วนแล้วแต่เป็นการราดน้ำมันลงไปในกองเพลิง ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติม และยั่วยุให้สถานการณ์ต่างๆ ยุ่งยากมากขึ้นไปอีก

สถานการณ์การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงวันนี้ ประเด็นข้อเรียกร้องล้วนเกิดมาจากเงื่อนปมที่ผูกไว้โดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ขาดความชอบธรรมตั้งแต่การเข้ามาสู่อำนาจ สร้างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศ เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจของตน มากกว่าเป้าประสงค์ที่รัฐธรรมนูญควรจะเป็น นั่นคือ สิทธิความเป็นธรรมที่ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ชี้ชัดว่า นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำที่ล้มเหลว ไร้ความสามารถ บริหารประเทศด้วยนโยบายที่ผิดพลาด เพราะเริ่มต้นการเข้าสู่อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรม จากกฎกติกาที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อสืบต่ออำนาจของตน และเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องของตน เป็นหลัก ทำให้ผลงานในการบริหารประเทศของท่าน ไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จนต้องออกมาชุมนุมเรียกร้องโดยสันติอย่างต่อเนื่อง เพื่ออนาคตของพวกเขา จนกระทั่งเกิดเหตุที่ไม่ควรจะเกิด นั่นคือ การสั่งการภายใต้ความรับผิดชอบโดยตรงของท่านนายกรัฐมนตรี ให้มีการกระทำรุนแรง สลายการชุมนุมของประชาชนผู้บริสุทธิ์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา อีกทั้งมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก ถูกจับกุมคุมขัง ตั้งข้อกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม สถานการณ์ดังที่กล่าวนี้ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความวิตกกังวลของประชาชน และประชาคมโลก ซึ่งไม่มั่นใจว่ารัฐบาลภายใต้การนำของท่าน จะใช้มาตรการรุนแรง และเลือกปฏิบัติต่อนักเรียน นักศึกษา ประชาชน อีกหรือไม่

สิ่งที่ประเทศของเรากำลังเผชิญอยู่ขณะนี้คือ เรากำลังก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม และการยืนกรานของท่านในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยแนวคิดอำนาจนิยม ยึดติดกับอำนาจที่ได้มาอย่างไม่ชอบธรรม ใช้กลไกมาตรการของรัฐมาควบคุม คุกคามประชาชนในทิศทางที่ไม่ได้เกิดการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม ไม่ให้พื้นที่ ไม่เปิดโอกาสในการรับฟังเสียงของประชาชน ที่มีสิทธิในฐานะพลเมืองของชาติ เป็นแนวทางที่ยิ่งขยายความขัดแย้ง ความรุนแรง จนไม่สามารถสร้างโอกาส และทางเลือกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาของชาติ

หลายปีที่นายกรัฐมนตรีปกครองบริหารประเทศ ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่ขยายช่องว่างระหว่างประชาชน พลเมืองกลุ่มต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ปัญหาพื้นฐานด้านเศรษฐกิจก็ยิ่งดิ่งลง จนไม่สามารถคาดเดาอนาคตที่ดีกว่าเดิมได้ ปัญหาการศึกษาที่มุ่งแต่การกดหัว ใช้อำนาจกระทำต่อนักเรียน นักศึกษา ประชาชนในสถานศึกษา โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้ครู อาจารย์ ผู้บริหารรับฟังปัญหาและความต้องการของเด็กและเยาวชนในฐานะหุ้นส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจากระบบการศึกษา ไม่ได้สร้างบรรยากาศของการยอมรับกันในฐานะมนุษย์ที่เป็นพลเมืองแห่งอนาคต ไม่นับปัญหาด้านแรงงานที่ขาดหลักประกันด้านสวัสดิการสังคม และปัญหาอื่นๆ ที่สืบเนื่องเชื่อมโยงกัน จนปะทุกลายเป็นกระแสเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลต้องรับฟัง และตระหนักถึงความต้องการที่แท้จริง หลังจากที่ต้องทนทุกข์ภายใต้การกดทับของกลไกอำนาจของรัฐบาลมาอย่างยาวนาน

การเผชิญสภาพเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะปล่อยให้ผู้ที่มีประสบการณ์เฉพาะด้านการทหาร อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ซึ่งที่มาจากความคิดและการกระทำที่เป็นเผด็จการ เพราะพวกท่านไม่อาจเข้าใจว่า จะสร้างสรรค์นโยบาย ขับเคลื่อนกิจกรรมเศรษฐกิจ แก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด พวกท่านไม่เข้าใจประชาชน และไม่เคยคิดถึงความทุกข์ของประชาชน เพราะท่านไม่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง แม้จะกล่าวอ้างว่าพวกตนมาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นการเลือกตั้งที่ท่านสมคบกันตอกหลักสร้างฐานอำนาจให้แก่ตนเองและพวกพ้อง ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ออกแบบอย่างซับซ้อน ซ่อนกลไกเพื่อทำลายหลักการประชาธิปไตยที่พึงมี แค่เป้าหมายสูงสุดของพวกท่าน คือร่วมกันสืบทอดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ

สถานการณ์เป็นประจักษ์พยานอย่างดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ไม่เคยเข้าใจประชาชน ไม่แม้แต่จะใส่ใจรับฟัง ไม่แม้แต่จะคิดถึงผลกระทบที่จะส่งผลต่ออนาคตของชาติ คือ การที่รัฐบาลออกมาแถลงข่าว บอกปัดไปวันๆ ท่านอ้างว่าได้ใช้หลักการควบคุมดูแลฝูงชนตามหลักสากล แต่ไม่เคยยอมรับว่า มาตรการที่รัฐบาลใช้กับประชาชน เป็นมาตรการแบบก้าวกระโดดที่รุนแรง และนำออกมาใช้เกินกว่าเหตุ จนสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก มาตรการรุนแรงเช่นนั้น เกิดจากความกลัวและความเกลียดชังประชาชนของตน มากกว่าจะเอาใจใส่ถึงความปลอดภัยต่อชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา เยาวชนที่โดยหลักแล้ว รัฐต้องให้ความคุ้มครอง ให้ความสําคัญกับข้อเรียกร้องของพวกเขา สิ่งที่ปรากฏคือ พวกเขาถูกความทุกข์ทับถม จนต้องออกมาแสดงตัว แสดงความเห็น และเสนอข้อเรียกร้องที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาหลากหลายมิติ

การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในวันนี้ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย การแสดงออกซึ่งความคิดและมุมมองทัศนะที่มีต่อสังคม ความคิดเห็นต่างๆ ต่อข้อเสนอและแนวคิดที่ถูกนำเสนอออกสู่สาธารณชนนั้น ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง ถึงความเหมาะสม ความถูกต้อง และร่วมกันหาทางออกให้ประเทศอย่างเปิดเผย ไม่ใช่เพียงการซื้อเวลา ออกมากล่าวหาและบอกปัดอย่างไม่ตระหนักถึงปมรากปัญหาที่แท้จริง

ภาพที่สะท้อนออกมา ต่อท่าทีการจัดการปัญหาของพวกท่าน คือทัศนคติที่คับแคบ ถือตนเป็นใหญ่ ไม่เห็นหัวประชาชนอยู่ในสายตา เพราะความคิดแบบนี้ พวกท่านจึงเลือกใช้วิธีจัดการกับผู้เห็นต่างด้วยการปราบปราม จับกุมคุมขัง จนถูกประณามคัดค้านจากผู้รักประชาธิปไตยและผู้ที่มีใจเป็นธรรมทั้งในและนอกประเทศ

การแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศ ต้องไม่ใช่การใช้กำลังประทุษร้าย หรือการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง และยั่วยุให้เกิดการปะทะกัน การใช้กำลังสลายการชุมนุม การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อันเป็นมาตรการที่เกินเลย จากสถานการณ์และความเป็นจริง การใช้กฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ไม่เท่าเทียมกัน เป็นสองมาตรฐานในการเอาผิดกับประชาชนผู้เห็นต่าง หรือแม้กระทั่งการสั่งปิดสื่อมวลชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล ล้วนเป็นการกระทำที่รังแต่จะสร้างแรงกดดันเพิ่ม หรือท่านตั้งใจจะสร้างความไม่พอใจ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะที่ยากต่อการควบคุม และหยิบฉวยสถานการณ์นั้นมาต่อยอดอำนาจของตนให้มากขึ้นอีก ซึ่งเป็นภาวะที่พวกเราทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น และยอมรับไม่ได้

สภาแห่งนี้ควรใช้เวลาที่มีอยู่ 2 วัน เสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาและหาข้อสรุปในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังนี้

1) ต้องพิจารณาข้อเสนอของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน อย่างจริงจัง เปิดใจรับฟังแต่ละปัญหาที่นำเสนอ อย่างมีวิจารณญาณ

2) ต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว ไม่เตะถ่วงหรือดึงเวลาให้ล่าช้า ไม่ทันสถานการณ์วิกฤติที่กำลังบานปลาย ต้องเร่งพิจารณาต้นเหตุสำคัญของปัญหา โดยเฉพาะ “รัฐธรรมนูญ” ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ

3) ต้องเร่งปลดเงื่อนไข ที่เป็นมูลเหตุของวิกฤติ เร่งปล่อยตัวนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขัง จากการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงโดยพลัน ปลดเงื่อนไขที่จะทำให้สถานการณ์บานปลาย ยุติการปิดกั้นสื่อ เปิดช่องทางการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และยุติการใช้กฎหมายที่ดำเนินคดีกับประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐบาลโดยเร็วที่สุด

4) ที่สำคัญ “นายกรัฐมนตรีต้องลาออก” เพราะท่านคือ อุปสรรคสำคัญ ที่เป็นภาระของประเทศ หากท่านลาออก จะถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาด และความล้มเหลวทั้งปวง ที่ได้กระทำลงไป