“เพื่อไทย” เสนอรัฐติดอาวุธ 4 ข้อ รับนโยบายเศรษฐกิจว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่
นายจักรพงษ์ แสงมณี กรรมการบริหาร และทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากนายโจ ไบเดน คว้าชัยชนะจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งนี้มาได้ เตรียมขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจ และนโยบายต่างประเทศของนายโจ ไบเดน แตกต่างจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีนโยบายการเงินและการคลังที่หนักหน่วง เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 และคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวในปี 2564 ไม่น้อยกว่ากว่าร้อยละ 3 พร้อมกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบเงินสกุลอื่นๆ
ขณะที่ นายไบเดนมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการลงทุน เพื่อให้สามารถมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 3 ให้ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึงการส่งออกของสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ จะมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้สูงถึงร้อยละ 10-12
แม้ว่าทำเนียบขาวจะได้ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ จากพรรคเดโมแครต ที่มีแนวโน้มจะมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ทางการค้าต่อนานาชาติ และมีแนวโน้มว่านโยบายต่างประเทศจะสามารถคาดการณ์ได้มากขึ้น บรรยากาศที่ดีในการลงทุนของภาคเอกชน ควรจะเริ่มมีให้เห็น แต่หากรัฐบาลไทยนิ่งเฉยต่อโอกาสและความท้าทายที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ โดยไม่รีบติดอาวุธให้ธุรกิจของไทยโอกาสก็จะหลุดลอยไป ดังนั้น อาวุธสำคัญที่รัฐบาลต้องใส่ใจมี 4 ประการ คือ
- เร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้าการลงทุน ทั้งทวิภาคี และพหุภาคี โดยเร่งเจรจา ข้อตกลงเขตการค้าเสรีทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อลดอุปสรรค และสร้างความได้เปรียบทางการค้าการลงทุน ซึ่งเมื่อการเจรจาสำเร็จเสร็จสิ้น ย่อมเป็นแท่นกระโดดสำคัญของธุรกิจทั้งการค้าและการลงทุนของไทย
- รัฐบาลมีหน้าที่ทำงานใกล้ชิดกับธนาคารแห่งประเทศไทยให้มีนโยบายการเงินที่สนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ ตั้งแต่การเตรียมแหล่งสินเชื่อให้เพียงพอแก่ภาคธุรกิจที่คาดว่าจะได้อานิสงส์ ไปจนถึงการมีเสถียรภาพ และระดับของค่าเงินบาทที่เอื้อต่อบรรยากาศทางการค้าและการลงทุน
- การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ภาคเอกชนด้วยการยกเลิก และปรับปรุง กฎหมาย และการอนุญาตที่ไม่เหมาะสมให้อำนายความสะดวกและลดต้นทุนได้ถึง 130,000 ล้านบาทต่อปี ตามที่ TDRI เสนอแนะ
- ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทั้งในภาครัฐและเอกชนเพื่อประสิทธิภาพ และความโปร่งใส
“โอกาสกำลังเข้ามา แต่ประเทศอื่นก็มองเห็นโอกาสนี้เช่นกัน” นายจักรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ แม้นโยบายด้านเศรษฐกิจของ นายไบเดนเอื้อประโยชน์ต่อการค้ากับประเทศคู่ค้ามากขึ้น แต่โอกาสของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไปตามสิทธิประโยชน์ และข้อตกลงทางการค้าที่มีต่อกัน ในกรณีของไทยการเจรจาข้อตกลงเขตเสรีทางการค้าในกรอบทวิภาคีระหว่างไทย กับสหรัฐฯ หยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2549 หลังการรัฐประหาร และถูกคั่นด้วยช่วงเวลาที่สหรัฐฯ เคยมีบทบาทเป็นผู้นำกลุ่ม TPP (Trans Pacific Partnership) ที่เคยประสงค์จะให้ไทยเข้าร่วมกลุ่มกับสหรัฐฯ ในรูปแบบพหุภาคี แต่ในที่สุดไทยก็ไม่อาจกลับสู่การเจรจาข้อตกลงกับสหรัฐฯ ได้อีก เนื่องจากไทยอยู่ในช่วงรัฐบาลทหารอย่างยาวนาน และเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยที่ไม่เอื้อต่อการกลับเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้น การเจรจาในเชิงพหุภาคี ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลง TPP หรือข้อตกลง Indo – Pacific Strategy ทางการไทยยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ ได้เช่นกัน เนื่องจากที่ผ่านมา นโยบายด้านการต่างประเทศของไทยขาดความเป็นตัวของตัวเองในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศที่เหมาะสม รวมทั้งการบริหารงานเพื่อการแก้ไขและป้องกันปัญหาด้านการค้าระหว่างประเทศขาดประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไทยต้องถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP ถึง 2 ครั้งในปีนี้ และยังมีประเด็นด้านการลงทุน เพราะการที่คณะทูตของสหรัฐฯ และอีก 3 ประเทศสำคัญ คือ อังกฤษ เยอรมัน และออสเตรเลีย ในฐานะกลุ่มพันธมิตรหอการค้าร่วมต่างประเทศ หรือ FCA ได้เขียนบทความข้อเสนอ 10 ข้อต่อการฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังจากโควิด-19 ซึ่งมีเป้าหมายยกระดับมาตรฐานระบบราชการไทยและเรื่องความโปร่งใส ที่นักลงทุนต่างชาติต้องประสบ นับเป็นการส่งเสียงดังอย่างมากว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ขาดความใส่ใจที่จะดูแลระบบราชการให้อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแก่ผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ