“ฝ่ายค้าน” เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ประกบร่างของรัฐบาล ชี้ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่รัฐบาลเสนอไปยังรัฐสภานั้น เป็นร่างที่มีปัญหามาก เพราะมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน คล้ายกับการรณรงค์ประชามติเมื่อปี 2559 ทั้งนี้ ประเด็นคำถามในการทำประชามติไม่มีความชัดเจน และเป็นไปในแนวทางที่รัฐบาลต้องการ รวมทั้งขอบเขตอำนาจของ กกต. ที่ยังมีปัญหาอยู่ แต่สุดท้ายพรรคร่วมฝ่ายค้านจะทำร่าง พ.ร.บ.ประชามติด้วย เพื่อประกบกับร่างฯของรัฐบาล โดยจะหารือกับประธานรัฐสภาว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เกี่ยวกับการปฏิรูปหรือไม่ และเหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงส่งหนังสือถึงประธานรัฐสภา เพราะควรส่งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น หากรัฐบาลต้องการยืมมือ ส.ว. เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านไปในแนวทางที่รัฐบาลต้องการ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

นายชูศักด์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าควรสอบถามประธานรัฐสภาให้ชัดเจน เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ โดยอ้างว่าเสนอตามหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ จึงต้องให้รัฐสภาพิจารณา ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ใช่กฎหมายปฏิรูปประเทศ แต่ต้องเป็นกฎหมายปกติ คือเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แล้วค่อยเสนอวุฒิสภาพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ เมื่อดูในรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ประชามติแล้ว กฎหมายต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ แต่ที่รัฐบาลเสนอมานั้นไม่มีใครได้แสดงความคิดเห็นเลยสักมาตราเดียว พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายสำคัญขนาดนี้ มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจริงหรือไม่อย่างไร

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมายมีกรอบว่าหากเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อทำประชามติเท่านั้น ไม่ได้เขียนว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเรื่องอะไร แล้วจะถามประชาชนอย่างไร ซึ่งน่าจะเป็นปัญหา สุดท้ายเราเห็นว่าร่าง พ.ร.บ. ที่รัฐบาลเสนอมาไม่ได้มีบทบัญญัติที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ หรือให้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก หากมีการทำประชามติ รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ประชาชนในการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี เพราะมีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีมากมายจากการรณรงค์ทำประชามติรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา ดังนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นร่วมกันว่าควรยกร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อนำเสนอให้สภาพิจารณาควบคู่ไปกับร่างฯของรัฐบาลด้วย