บทความพิเศษ : โควิด-19 ระบาดรอบใหม่ … ใครผิด?
นับตั้งแต่เกิดการระบาดรอบล่าสุดที่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการจากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ผู้ป่วย 90% เป็นชาวเมียนมา ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ จนทำให้การแพร่เชื้อในตอนนี้ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะผู้ประกอบการต่างเกรงกลัวการระบาด ไม่ต่างไปจากความกลัวว่าธุรกิจจะถูกปิดกิจการจากการจ้างแรงงานผิดกฎหมาย
เราจึงได้เห็นภาพของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายถูกนายจ้างลอยแพโดยนำส่งแรงงานผิดกฎหมายไปทำงานอื่น โดยล่าสุดคืนวานนี้มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 14 คนเดินเป็นกลุ่มอยู่บริเวณถนนบางนาตราด เมื่อสอบถามแรงงานดังกล่าวบอกว่า เป็นลูกจ้างของโรงงานเอสทีไอ พรีซิชั่น ตั้งอยู่อำเภอเมืองใหม่ จังหวัดสมุทรสาคร โดยทั้งบริษัทมีแรงงานต่างด้าว 23 คน จัดส่งไปจังหวัดระยอง 9 คน ที่เหลือ 14 คนตั้งใจมาพักกับเพื่อนบริเวณหมู่บ้านกรีนเลค บางนาตราด แต่ติดต่อไม่ได้ จึงเดินเตร่ไปตามถนนบางนาตราด เดินไปเรื่อย ๆ โดยที่ยังไม่รู้ว่าปลายทางอยู่ที่ใด
ทั้งอนาถ ทั้งเศร้าใจ กังวลใจ และตกใจในเวลาเดียวกัน
เมื่อเรามาดูการทำงานของ ศบค. ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ 10 มีนาคม 2563 พร้อมตั้งคณะกรรมการบริหาร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ โดยรวบอำนาจ กระจายหน้าที่การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายกระทรวง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินมาตรการทางสาธารณสุข, กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินมาตรการทางเวชภัณฑ์ป้องกัน, กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินมาตรการทางต่างประเทศ, กระทรวงการคลัง ดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา และกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ดำเนินมาตรการป้องกัน
ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ลงนามแต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศปก.ศบค.) ซึ่งมี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เป็นผู้อำนวยการศูนย์
การแต่งตั้งคณะทำงานต่าง ๆ ไม่มีกระทรวงแรงงานเข้ามาในโครงสร้างทั้งใหญ่ทั้งเล็กของการจัดการกับการระบาดของโรค
เมื่อเกิดการระบาดของโรคขึ้นในกลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เกิดเป็นปัญหาผึ้งแตกรัง ทั้งตัวแรงงานเองและนายจ้าง รีบพากันผลักดันแรงงานออกนอกวงโคจรตัวเองทันที เนื่องด้วยกลัวความผิด กลัวติดโรคระบาด กลัวทางการเอาเรื่องตามที่พลเอกประยุทธ์ได้ประกาศเอาไว้
แค่สมุทรสาครจังหวัดเดียว มีแรงงานต่างด้าวทำงานในจังหวัดกว่า 4 แสนคน เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 2.3 แสนคน แรงงานผิดกฎหมาย 1.7 แสนคน แล้วแรงงานเหล่านี้ล้วนทำงานคลุกคลีกับคนไทยเจ้าของธุรกิจแทบทั้งสิ้น
ถ้านายจ้างต้องการแรงงานต่างด้าวมาทำงานอย่างถูกกฎหมาย จะต้องผ่านการกักตัว 14 วันมาตรฐาน ที่เรียกว่า State Guaranty (SQ) สถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ (รัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่าย) แต่สำหรับแรงงานต่างด้าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดสถานที่กักกันตัวสำหรับแรงงานต่างด้าว ที่เรียกว่า OQ (Organizational Quarantine) สถานที่กักกันที่ดำเนินการโดยองค์กรหรือภาครัฐและเอกชน (องค์กรหรือหน่วยงานรับผิดชอบค่าใช้จ่าย) ซึ่งในกรณีนี้ ทางการได้จัดพื้นที่กองร้อย ตชด. ให้เป็น OQ ตาพภาพที่ปรากฎเป็นข่าว ผู้รับผิดชอบคือตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และกระทรวงแรงงาน ซึ่งไม่แน่ใจว่าอาคารหลังนั้น เป็นที่อยู่ให้กับคนได้จริงหรือไม่
แม้จะเป็นแรงงานต่างด้าว ทางการก็ควรที่จะจัดหาพื้นที่กักตัวให้เป็นไปตามหลักความปลอดภัยและหลักมนุษยธรรม
เรื่องนี้ พล.อ.ณัฐพล เลขา สมช.ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. เคยสั่งการและมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพจัดหา OQ ตามชายแดนเมื่อ 3 – 4 เดือนก่อน โดยให้กระทรวงแรงงานประสานไปยัง ตชด. จัดทำ OQ ชั่วคราว แต่ผ่านไปหลายเดือนยังไม่มี OQ แรงงานต่างด้าวที่เคยกลับประเทศจากการระบาดรอบก่อน ต้องกิน ต้องใช้ การไม่มีงานเท่ากับไม่มีเงิน จึงต้องดิ้นรนกลับมาหางานทำในไทยด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย จนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการลักลอบเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย
และอีกในทางหนึ่ง สังคมไทยปฏิเสธไม่ได้ว่า มีการกระทำเชิงทุจริตโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่มองไม่เห็นปัญหาแต่มือขยับ เปิดทางให้แรงงานต่างด้าวเข้าประเทศมา หาประโยชน์จากแรงงานเหล่านั้นอีกด้วย
รายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ได้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ถึงการจัดหา OQ ให้กับแรงงานต่างด้าวตามคำสั่งการของ ผอ.ศปก.ศบค.พล.อ.ณัฐพล ยิ่งสับสนในการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ เพราะคำตอบที่ได้จากนายสุชาติ คือ การจัดหา OQ ให้แรงงงานต่างด้าวไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงแรงงาน แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข ตัวเขาเองในฐานะเจ้ากระทรวงแรงงาน มีหน้าที่แค่ออกใบอนุญาตแรงงานเท่านั้น
เมื่อมาดูในตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่อาจจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การจัดการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเป็นโจทย์ที่แก้ยากกันบ้าง
ในกฎหมายแรงงานการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง ถือว่าผิดกฎหมายมีความผิดทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ในส่วนของนายจ้างจะมีโทษปรับ 10,000 – 100,000 บาท /ต่างด้าว 1 คน ถ้าทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวทำงาน 3 ปี แถมยังมีสิทธิ์ถูกปิดกิจการได้
ส่วนของลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าวเอง ถ้าถูกจับได้จะถูกปรับ 5,000 – 50,000 บาท ถูกส่งกลับไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ
แต่ในกลุ่มที่เป็นแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย นายจ้างพาลูกจ้างไปแจ้งกับนายทะเบียนประจำสำนักจัดหางานแล้ว แต่หากต้องการหานายจ้างใหม่หรือเลิกจ้างโดยนายจ้างทำความผิด จะต้องหาหลักฐานมายืนยันว่าทำผิดต่อแรงงานอย่างไร และที่สำคัญจะต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ใน 30 วัน ถ้าหางานใหม่ไม่ได้ ก็ต้องกลับประเทศ
ในสถานการณ์นี้ จะกลับประเทศได้อย่างไร เมื่อทางการปิดชายแดน แล้วยิ่งในช่วงที่โควิด-19 กลับมาระบาดรอบใหม่ จะไปหานายจ้างใหม่ที่ไหน นายจ้างเอง เจ้าของธุรกิจเอง มีแต่ปลดคนออกก็เท่านั้น ซ้ำร้ายการปลดคนออกรอบนี้จะรุนแรงกว่าครั้งก่อนหรือไม่
จำได้หรือไม่ว่าการล็อคดาวน์ประเทศในช่วงที่ผ่านมา ซ้ำเติมคนหาเช้ากินค่ำ เจ้าของธุรกิจน้อยใหญ่มากแค่ไหน ก่อนการระบาดรอบนี้สถานการณ์กำลังจะกลับมาเหมือนเดิมอยู่แล้ว แรงงานต่างด้าวรีบหาทางกลับมาทำงานในไทยผ่านช่องทางที่มาได้ เพราะทางการไม่จัด OQ หรือพื้นที่กักกันโรคไว้ให้ จึงเกิดการระบาดในรอบนี้ในที่สุด
“แล้วมันถูกไหมที่ไปโทษคนนั้นคนนี้ทั้งหมด อย่างนั้นก็ต้องไล่ออกทั้งหมดทั้งตำรวจ ทั้งทหาร มันอย่างนั้นไม่ได้ ก็ต้องไปหา มาชี้ว่าตรงไหนที่มันมีปัญหา ตรงไหนมีการทุจริต ถ้าบอกว่ามีการเข้ามารออยู่ในประเทศแสนคน มีกรรมการมีเจ้าหน้าที่รัฐ เอามาสิที่ไหน เพราะผมให้ตรวจตลอด ผบ.ก็ลงพื้นที่ไปเอง ไปหาข้อมูล ไม่ใช่ไปหาจากทหารนะ เขาไปหาจากชาวบ้านนะว่ามีกระบวนการเหล่านี้หรือไม่ มี แต่เลิกไปแล้วก็มี หรือกำลังมีก็ยังไม่พบใช่ไหม หลายอย่างก็เกิดขึ้นนั่นแหละ ไอ้คนที่หาผลประโยชน์อย่างนี้มันน่ารังเกียจ ผมไม่เคยละเว้นใครอยู่แล้ว โอเคนะจ๊ะ สวัสดีนะจ๊ะ”
นี่คือคำตอบของพลเอกประยุทธ์ ที่ตอบนักข่าวซึ่งถามว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองหรือไม่ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา
“ไม่มีใครแก้ปัญหาได้โดยลำพัง โทษใครมากก็ไม่ได้ เพราะทุกคนก็ทำงานอย่างเต็มที่ ไอ้คนชั่วก็ยังมีคนชั่วอยู่ ก็หาคนชั่วให้เจอเท่านั้นแหละ” การสัมภาษณ์ในวันถัดมา (22 ธ.ค.63) ก็เป็นเครื่องยืนยันอีกครั้งว่า พลเอกประยุทธ์มองหา “คนชั่ว” ถูกคนหรือไม่
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนความคิดของนายกรัฐมนตรีคนนี้ได้ดีคือ เขาไม่เคยคิดโทษตัวเอง ไม่เคยโทษเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เคยโทษฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหารที่ตรึงกำลังตามชายแดน และสิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ การควบคุมดูแลการระบาดของโรคผ่านการทำงานของรัฐบาล มีปัญหาทั้งในเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ เชิงหลักการและวิธีคิดของรัฐ จนทำให้เกิดปัญหาหรือไม่
ระบบเศรษฐกิจของไทยจำเป็นต้องอาศัยแรงงานต่างด้าว รัฐบาล นักวิชาการ และฝ่ายควบคุมดูแลนโยบายทราบเรื่องนี้ดี แต่เหตุใดปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายยังไม่ถูกแก้ไข เหตุใดผู้ที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรงต่างพากันผลักความรับผิดชอบให้พ้นตัว หรือมาตรการของรัฐบีบให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ออกนอกระบบเสียเอง?
ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ควรจะเป็นและประเทศไทยอยากเห็นคือ กลไกของรัฐต้องผ่อนคลายเพื่อเปิดทางให้เหยื่อปรากฏตัว ในกรณีนี้รัฐต้องสร้างเงื่อนไขบางอย่างเพื่อหยุดการเดินทางของแรงงานต่างด้าวจากสมุทรสาครที่กำลังแพร่กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ดึงแรงงานผิดกฎหมายเหล่านั้นเข้าสู่ระบบการจัดการ แม้ในตอนนี้แรงงานต่างด้าวจะเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่ในทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ การปกครองและการบังคับใช้กฎหมายในภาวะวิกฤติ “ต้องยืดหยุ่นตัว”
วิธีการก็คือ ประกาศให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่มาจากสมุทรสาครและที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ออกมาแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จัดหาสถานที่เฉพาะเพื่อกักกันโรค ตรวจหาเชื้ออย่างละเอียด แลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจหาเชื้อและรักษาตัวจนหาย ก็กลับประเทศ หรือจัดหางานให้ทำ
เพราะไม่ว่าอย่างไร เศรษฐกิจของประเทศต้องอาศัย “แรง” ของ “แรงงานต่างด้าว” เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กฎหมายบังคับใช้กับผู้คน แต่กฎหมายก็ต้องรับใช้สังคม รับใช้ประชาชน ไม่ใช่อุปสรรคในการแก้ไขปัญหาแบบในหลายครั้งที่เป็นอยู่
ใครเป็นคนผิดในการระบาดรอบนี้ ท่านผู้อ่านคงได้คำตอบในใจแล้ว