2568โอกาสไทยทำได้จริง

แก้ปัญหาน้ำท่วม - น้ำแล้ง

HIGHLIGHT

  • พัฒนาการขุดลอกคูคลองศึกษาการแก้กฎหมาย โดยอนุญาตให้ประชาชน สามารถนำดินจากการขุดลอกคูคลอง ไปใช้ประโยชน์หรือนำไปขาย สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายในการขุดเอง ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • การสร้าง Floodway ขนาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองอย่างจริงจัง

น้ำท่วม-น้ำแล้ง คือปัญหาใหญ่ของเกษตรกรไทย ซึ่งมีกว่า 8.7 ล้านราย น้ำท่วมแค่ครั้งเดียว หรือการประสบภัยแล้งแค่หนึ่งครั้ง อาจหมายถึงการล้มละลายทางการเงินครั้งใหญ่ คือการกำหนดว่าจะ ‘เป็นหนี้’ หรือ ‘ปลดหนี้’

รัฐบาลมองปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นภาพใหญ่ คือความมั่นคงของประเทศ ที่ต้องการการวางแผนนโยบายทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว บูรณาการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน กรม และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการประสานงานอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง

ในภาพใหญ่ รัฐบาลจะทำจะพัฒนาระบบน้ำในพื้นที่กว่า 8.21 ล้านไร่ ทำระบบป้องกันน้ำท่วมอีกกว่า 2.12 ล้านไร่ และสำหรับพื้นที่อีสานซึ่งเป็นแหล่งเพราะปลูกสำคัญและมักเจอปัญหาน้ำแล้ง รัฐบาลจะเพิ่มแหล่งน้ำกว่า 320,000 ไร่  ทั้งหมดนี้ จะมีประชาชนกว่ากว่า 6.1 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ และจะทำให้สำเร็จใน 3 ปี 

1) พัฒนาการขุดลอกคูคลอง ศึกษาการแก้กฎหมาย ให้ประชาชนนำดินที่ขุดลอกคูคลองไปใช้ประโยชน์ได้ 

จากเดิมการขุดลอกคลองนั้น ต้องขุดลอกกันไปทุกปี เมื่อถึงเวลาฤดูฝนวนมา ดินที่ถูกทิ้งไว้ริมตลิ่งก็ถูกน้ำพากลับลงไปในคลองอีกครั้ง เกิดการขุดลอกวนไปไม่จบสิ้น นี่เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ปัญหาถูกแก้อย่างถาวร

โดยให้กรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแก้กฎหมายอนุญาตให้ประชาชน สามารถนำดินจากการขุดลอกคูคลอง ไปใช้ประโยชน์ หรือนำไปขาย สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายในการขุดเอง ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ดินในแหล่งน้ำ ถือเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ มีแร่ธาตุ เหมาะแก่การเกษตร

เมื่อดินจากการขุดลอกคลองขายได้ ทำให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ เช่น การค้าขายเรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ รถขนส่งดิน และที่สำคัญ แม่น้ำ คูคลอง ลำธารของเรา จะมีพื้นที่เก็บน้ำมากขึ้นสำหรับรองรับฝน ป้องกันไม่ให้น้ำท่วม และสะสมน้ำไว้ใช้หน้าแล้งได้ ให้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน

2) การสร้าง Floodway ขนาดใหญ่ แก้ปัญหาน้ำท่วมในเมืองอย่างยั่งยืน

นอกจากการขุดลอกคูคลอง แน่นอนว่าต้องมีนโยบายและโครงสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ มารองรับ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่มีโอกาสถูกน้ำท่วมเมืองได้ หนึ่งในโครงสร้างใหญ่ คือการสร้าง Floodway เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองอย่างจริงจัง