“สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” เปิดเวทีฝ่ายค้านรับฟังภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก แนะ รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาคนตกงาน-ภาคธุรกิจปิดกิจการ
26 กันยายน 2563 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดงาน “ฝ่ายค้านรับฟัง 4 กลุ่มเปราะบางจากวิกฤติโควิด-19” เวทีที่ 4 : ความเดือดร้อนต่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกจากวิกฤติโควิด-19 ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งจัดโดยกลุ่มงานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยกล่าวว่า หากเราพูดถึงผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว ภาคการผลิตที่ได้ผลกระทบหนักที่สุด ก็หนีไม่พ้นภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ทั้งนี้การส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์ใหญ่ที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ต้องเป็นอัมพาต เกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ 1. ด้านอุปทาน ห่วงโซ่อุปทานถูกตัดขาดในช่วงต้นๆของการระบาด ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ และ 2. ด้านอุปสงค์ กำลังซื้อของตลาดโลกแทบจะอยู่ในภาวะหยุดนิ่ง เมื่อกำลังซื้อไม่มี การส่งออกจึงมีปัญหา
เมื่อภาคอุตสาหกรรมมีปัญหา ส่งผลให้รายได้หดหาย แต่รายจ่ายประจำยังคงเดินอยู่ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่า ค่าจ้าง ค่าดอกเบี้ย เกิดภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องปลดแรงงาน ต้องปิดกิจการ และล้มละลาย ทางออกที่รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำคือการต่อลมหายใจ และการต่อลมหายก็หนีไม่พ้นการให้ “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่เข้าถึงง่าย” ให้กับผู้ประกอบการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ จริงอยู่ที่เรามีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่รัฐบาลสร้างข้อจำกัด สร้างเงื่อนไขต่างๆ ทำให้มาตรการต่อลมหายใจโดยใช้ซอฟ์ทโลนนั้น ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ เปรียบเสมือนรัฐบาลมีชูชีพ แต่โยนไม่ถึงมือคนกำลังจมน้ำ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือการล้มตายของธุรกิจจำนวนมาก หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไข ทั้งนี้ภายหลังรัฐบาลเริ่มคิดได้ เริ่มให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อชดเชยในสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากทำ เริ่มมีมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นช้าไปมากๆ เมื่อเทียบกับความเดือดร้อนของประชาชนที่ทวีคูณขึ้นทุกวัน
“อีกหนึ่งมาตรการที่รัฐบาลละเลย คือการประคองการจ้างงานผ่านผู้ประกอบการไปยังแรงงาน โดยใช้การอุดหนุนค่าจ้าง การให้สินเชื่อเพื่อประคองการจ้างงาน หรือการทำเงื่อนไขการกู้เงินให้ผูกกับการคงการจ้างงานเอาไว้ เหล่านี้รัฐบาลไม่ได้ทำเลย จึงเป็นเหตุให้ประเทศไทยมีคนตกงานจำนวนมหาศาล ไม่มีตาข่ายช่วยป้องกันการตกงานเหมือนประเทศอื่น ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดจึงคือแรงงานที่ตกงานในปัจจุบัน รัฐบาลพยายามแก้ไขภายหลังโดยการอุดหนุนการจ้างงานใหม่ แต่มันก็สายเกินไปมากแล้ว แทนที่จะป้องกันการตกงาน แต่กลับรอให้ตกงานแล้วค่อยมาช่วยเหลือ”