“ส.ส.เพื่อไทย” ประกาศจุดยืน อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจรัฐสภา พร้อมเดินหน้าตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างฉบับใหม่

(9 กุมภาพันธ์ 2564) ดร.สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม, นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี, และ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ญัตติด่วนให้มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ตามที่สมาชิกรัฐสภา จำนวน 73 คน นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอ โดย ดร.สุทิน คลังแสง ได้กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มาจากเสียงเรียกร้องของประชาชน ผ่านขั้นตอนการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาฯ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในชั้นรับหลักการมาแล้ว จึงไม่อยากให้สมาชิกรัฐสภากังวลจนมากเกินไปหรืออย่ารอบคอบเกินงาม จนกลายเป็นการรอบคอบแอบแฝง ซึ่งเสี่ยงต่อความไม่ไว้วางใจกันในสังคม เกิดเป็นข้อครหาว่า เตะถ่วงหรือถ่วงเวลา แล้วนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ หรือกระบวนการนอกระบบที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก

“ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการไปยื่นตีความ เพราะอำนาจนี้เป็นของรัฐสภา จึงไม่ควรไปเปิดทางให้อำนาจอื่นมาก้าวก่ายการทำงานของอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ” ดร.สุทินกล่าว

 นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี อภิปรายว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เดินหน้ามาถึงการแก้ไขในชั้นของคณะกรรมาธิการแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ไม่ได้มีข้อห้ามหรือการทำอะไรที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญเลย จึงไม่เห็นว่ารัฐสภาจะต้องส่งเรื่องนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยทำไม เพราะเรื่องนี้เป็นอำนาจของรัฐสภา

“ไม่อยากเรียกว่าท่านพยายามจะยื้อเวลา แต่ไม่สามารถมองเป็นอย่างอื่นได้เลย ซึ่งการทำแบบนี้ไม่เป็นประโยชน์ สภาแห่งนี้เป็นสภาของประชาชนแล้วจะโยนภาระเรื่องนี้ไปให้ใคร การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่ดำเนินการมา กำหนดไว้ชัดเจนว่าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ต้องให้ประชาชนลงมติ หากประชาชนไม่เห็นด้วยก็จบ แต่ถ้าประชาชนเห็นด้วยกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็จะเป็นการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน ซึ่งไม่ต้องไปถามใครอีกแล้ว” นายสมคิด กล่าว

ส่วนนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายว่าการจะส่งข้อพิพาทใดให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น จะต้องมีประเด็นข้อพิพาทในข้อเท็จจริงหรือในข้อกฎหมาย ซึ่งจากกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่รัฐสภากำลังดำเนินการอยู่นี้ มิได้มีข้อพิพาทเกิดขึ้นทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งในทางข้อเท็จจริง รัฐสภาเคยใช้อำนาจในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ให้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับมาก่อนแล้ว กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญปี 2491 ให้อำนาจยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2492 หรือ รัฐธรรมนูญปี 2539 ให้อำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ ดังนั้นอำนาจรัฐสภาสามารถแก้ไขเพิ่มเติมในรายมาตรา ให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2560 เมื่อแก้ไขแล้วก็ให้ประชาชนเป็นผู้สถาปนาให้ความเห็นชอบ และการแก้ไขนี้แก้ไขเป็นรายมาตรา และสภาได้ดำเนินการไปถึงขั้นจะตั้ง ส.ส.ร.กันแล้ว ถ้าเราทำไม่ได้มันมาไม่ได้ถึงวันนี้ ส่วนทางด้านประเด็นข้อกฎหมายยื่นตีความต้องมีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแล้ว จึงเป็นข้อพิพาทที่สามารถนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่วันนี้ยังไม่มีข้อพิพาทข้อกฎหมาย และกระบวนการแก้ไข รธน.รายมาตราก็ดำเนินมาอย่างถูกต้องเต็มที่

“เพื่อนสมาชิกรัฐสภา จึงต้องช่วยกันพิจารณาให้รอบคอบ ยืนยันให้เห็นว่า วันนี้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภา กระบวนการแก้ไขวันนี้ ไม่ได้มีปัญหาทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เราต้องยืนหลักให้มั่น วันนี้ ผมจึงกล้าพูดว่าไม่เห็นด้วยกับญัตติที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา เพราะมันเข้าไม่ได้กับทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฏหมายดังกล่าว จึงไม่ต้องยื่นตีความใดๆ” นายแพทย์ชลน่านกล่าวสรุป