“พิชัย” ชี้ 8 เหตุผลไทยเร่งเจรจาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา จี้ ยิ่งเสร็จเร็ว ไทยจะยิ่งได้ประโยชน์และแก้ปัญหาด้านพลังงาน ค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูง อีกทั้งได้รายได้เพิ่ม

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่าค่าไฟฟ้ากำลังจะพุ่งขึ้นอีกจาก หน่วยละ 4.72 บาท อาจขึ้นเป็นหน่วยละ 5.37, 5.70 หรือถึง 6.03 บาทเลย ตามที่ได้เคยเตือนไว้แล้ว ซึ่งจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากขึ้น ทั้งนี้ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดมาจากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาล

และตามที่จะได้มีการประชุม G 20 ในประเทศอินโดนีเซีย และ จะต่อด้วยการประชุม APEC ที่กรุงเทพมหานครที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ถึงแม้ผู้นำประเทศที่สำคัญหลายคนจะไม่มาเช่น ผู้นำสหรัฐ ผู้นำรัสเซีย ฯลฯ และ การประชุมจะดูเหมือนจะไม่คึกคักนักในเวทีโลก แต่ประเทศไทยก็ยังสามารถจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการจัดประชุมครั้งนี้ หากไทยจะใช้เวทีนี้ในการเจรจากับประเทศกัมพูชาในเรื่องการนำแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชามาแบ่งปันอย่างยุติธรรม เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายได้ ทั้งนี้อยากให้ 8 เหตุผลที่ไทยควรเร่งเจรจาแหล่งพลังงานดังนี้

  1. ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา มีปริมาณมาก ซึ่งจะมีมากกว่าหรือเท่ากับแหล่งเดิมในอ่าวไทยที่ไทยใช้มาแล้วกว่า 30 ปี ทั้งนี้จะเจรจาเฉพาะการแบ่งพลังงานเท่านั้น ไม่มีการพูดถึงการแบ่งดินแดน เพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งที่คงหาข้อยุติไม่ได้
  2. ปริมาณก๊าซที่ได้จากอ่าวไทยและจากประเทศเมียนมาร์ ลดลง โดยในปัจจุบันแหล่งพลังงานของไทยในอ่าวไทยเริ่มลดลงมาก แถมยังมีปัญหาการส่งมอบสัมปทานยิ่งทำให้ปริมาณก๊าซที่ส่งมอบยิ่งลดลง อีกทั้งประเทศเมียนมาร์มีความขัดแย้งอย่างมากภายในประเทศและมีการวางระเบิดท่อส่งก๊าซ จึงยิ่งทำให้ปริมาณก๊าซจากเมียนมาร์ยิ่งลดลง ทั้งนี้ ราคาก๊าซจากอ่าวไทยและราคากํ๊าซจากเมียนมาร์มีราคาถูกกว่าราคาก๊าซ LNG ที่นำเข้ามามาก ซึ่งทำให้ได้ต้นทุนพลังงานที่ถูกกว่า โดยเฉพาะราคาไฟฟ้า กีาซจากพื้นที่ทับซ้อนจะแก้ปัญหานี้ได้ แถมยังมีปริมาณมากเกินพอที่จะไม่ต้องนำเข้าก๊าซเพิ่ม
  3. ก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนอีกทั้งเพิ่มความสามารถแข่งขันของประเทศ เพราะในปัจจุบันราคาค่าไฟฟ้าประเทศไทยแพงกว่าราคาค่าไฟฟ้าของประเทศเวียดนามมาก อีกทั้ง จะมีการขึ้นค่าไฟฟ้ากันอีกในเดือนมกราคมซึ่งจะมากกว่าหน่วยละ 5.37 บาท และ อาจพุ่งถึงหน่วยละ 6.03 บาทเลย ประชาชนจะยิ่งเดือดร้อนกันมาก
  4. ในอนาคตการใข้พลังงานจากฟอซซิลทั้งก๊าซ น้ำมัน และ ถ่านหิน จะใช้ลดลงมากเนื่องจากปัญหาโลกร้อน อีกทั้งคนจะใข้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และ พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียวกันมากขึ้น ก๊าซและน้ำมันในอนาคตอาจจะไม่มีราคาเลยก็เป็นได้
  5. ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนเป็นก๊าซเปียก (Wet Gas) ที่สามารถนำมาเข้าโรงแยกก๊าซและนำไปทำธุรกิจปิโตรเคมีได้ ซึ่งไทยมีโรงแยกก๊าซอยู่แล้ว 6 โรง อีกทั้ง มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่รองรับอยู่แล้ว การนำก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ขึ้นมาได้ ไทยจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 6-20 เท่า ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก
  6. นอกจากจะได้ก๊าซในราคาถูกเพื่อลดต้นทุนพลังงานแล้ว รัฐยังจะได้ค่าภาคหลวงมาแบ่งกันระหว่าง ไทย และ กัมพูชา โดยในอดีตรัฐเคยเก็บค่าภาคหลวงได้ถึงปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท และยังไม่นับธุรกิจต่อเนื่องทั้งธุรกิจขายก๊าซ ธุรกิจปิโตรเคมี โรงงานพลาสติก ฯลฯ ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม จ้างงาน และ จ่ายภาษีให้รัฐทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีรายได้นิติบุคคล และ ภาษีบุคคลธรรมดา ให้กับรัฐได้อย่างมหาศาล ซึ่งรัฐสามารถนำไปใช้ในโครงการสวัสดิการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และผู้สูงอายุได้
  7. ค่าภาคหลวงที่จะได้รับน่าจะได้ในอัตราส่วนที่มากกว่าเดิม เนื่องจากบริเวณดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่ามีก๊าซธรรมชาติอยู่ในปริมาณมากอย่างแน่นอน ทำให้สามารถปรับค่าภาคหลวงให้มากกว่าเดิมได้ ซึ่งจะทำให้รัฐได้เงินมากขึ้น
  8. การสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่จะนำขึ้นมาใช้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-8 ปี ไม่ใช่เจรจาจบแล้วจะได้ก๊าซธรรมชาติขึ้นมาในทันที ดังนั้นจึงควรเร่งเจรจาให้จบตั้งแต่ตอนนี้

ทั้ง 8 เหตุผลนี้ ทำให้เห็นได้ว่าประเทศไทยควรเร่งการเจรจาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาโดยเร็ว เพราะทั้งสองประเทศจะได้พลังงานใช้ในราคาถูก อีกทั้งจะได้รายได้เข้ารัฐอย่างมหาศาล นอกจากนี้ไทยเองยังได้ต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีที่มีมูลค่ามหาศาลอยู่แล้ว ให้ดำเนินต่อไปได้

“จุฑาพร” ชี้ ต้องรีบเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลในภาครัฐ เพื่อให้เอกชนสามารถเชื่อมโยงต่อยอดธุรกิจได้

นางสาวจุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขตบางรัก สาทร ปทุมวัน และโฆษกคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 7.7% ซึ่งลดลงมากกว่าที่คาดไว้ และ ความกดดันที่ธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยสูงอีกคงมีน้อยลง ทำให้ความกดดันของไทยก็ลดลงไปด้วย โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งก็คงจะต้องจับตากันต่อไปในความผันผวนนี้ โดย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการประชุมอีกครั้งในอีกไม่นานนี้

ทั้งนี้ แนวทางหนึ่งที่จะปรับแก้ประเทศไทยให้ทันสมัยก้าวทันต่างประเทศได้คือ การปรับเปลี่ยนระบบราชการ และการเปลี่ยนแพลตฟอร์มของประเทศ Digital Transformation ซึ่งจะปรับเปลี่ยนประเทศให้ทันสมัย และ มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมที่จะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ตามมา การ Digital Transformation จะช่วยให้ลดขนาดราชการ เพิ่มประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการจะสร้างธุรกิจสมัยใหม่ ระบบราชการต้องปรับตัวเพื่อรองรับเพื่อให้ธุรกิจสมัยใหม่เกิดขึ้นได้จริง มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาการเชื่อมต่อกับระบบราชการ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่ประเทศไทยไม่มีธุรกิจเทคโนโลยีสมัยใหม่เกิดขึ้น

ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มประเทศจนประเทศพัฒนาคือ ประเทศเอสโตเนีย โดยเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วที่แยกตัวออกมาจากรัสเซียและปรับเปลี่ยนประเทศโดยผู้นำยุคใหม่อายุน้อย ปรากฏว่า 20 กว่าปีให้หลัง เอสโตเนียมีรายได้ต่อหัวต่อคนมีรายได้ต่อหัวต่อคนสูงกว่าคนรัสเซียถึง 2 เท่า ซึ่งพิสูจน์ความสำเร็จมาแล้ว

การจะฟื้นเศรษฐกิจของไทยในยุคสมัยนี้ จะต้องคิดใหม่ ทำใหม่ จะหวังว่าจะทำเหมือนเดิมแล้วเศรษฐกิจจะฟื้นเองคงเป็นไปไม่ได้ แนวทางการปรับประเทศให้ทันสมัย ตามโลกทัน เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่มูลค่าสูงเพื่อเพิ่มจีดีพี เพิ่มมูลค่าของประเทศ เพิ่มการจ้างงาน สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เพื่อประเทศไทยจะได้ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง

“จักรพล” ลั่น เพื่อไทยอาสาซ่อมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว จาก Sunset เป็น Sunshine

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ได้ชี้แจงถึงแนวโน้มของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงทุกปี ภายใต้การบริหารของพลเอกประยุทธ์ โดยนายจักรพล ได้เสนอแนวทางในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวประเทศไทยว่า พรรคเพื่อไทยมีความพร้อม ความสามารถ และประสบการณ์ที่จะพลิกวิกฤตการท่องเที่ยวไทยที่เหมือนพระอาทิตย์กำลังตกดิน มาเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ให้เหมือนพระอาทิตย์กำลังขึ้นดั่งอนาคตที่สดใสเพื่อคนไทยทุกคน โดยการทำนโยบายการท่องเที่ยว 5 Policy Travel ดังต่อไปนี้

1.Shock structure เป็นการจะซ่อมโครงสร้างการท่องเที่ยวใหม่ให้ดีกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น
  -การปรับระบบการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ให้อยู่ในรูปแบบ One Single Service หรือ One Single Checkpoint ให้จบในที่เดียวทั้งการต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบ และสอดคล้องกับนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยด้วย Platform Digital Government
  -ลดปริมาณทัวร์ 0 เหรียญ และทัวร์คิกแบ็ก โดยปรับทิศทางการตลาดเพื่อดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยมให้มากขึ้น รวมถึงประสานงานระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อลดปัญหาดังกล่าว
  -นำเศรษฐกิจสีเทาขึ้นอยู่ในการดูแลของรัฐฯ ด้วยการนำร่องโดย Entertainment complex หรือสถานที่บริการที่เพรียบพร้อมไปด้วยการบริการทุกรูปแบบที่ถูกกฎหมาย และรองรับด้วยมาตรการการดูแลที่ชัดเจน และผลักดันสถานที่ดังกล่าวให้เป็น Smart community เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการและประชาชนทุกคน
 -ประเทศไทยจะต้องสร้างสายน้ำแห่งการท่องเที่ยว (River of Thailand Travel)
บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะเป็นมาตรการเชิงนโยบายอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีรายละเอียดดังนี้

2.Upgrade Upstream หรือต้นน้ำ ผ่าน 3 กลไก ดังนี้
     1.การเพิ่มขีดจำกัดของการแข่งขันในพื้นที่ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับบริบทการพัฒนา กำหนดสิทธิประโยชน์ให้จูงใจให้เกิดการลงทุน
     2.การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนและนวัตกรรมสาหรับผู้ประกอบกิจการทุกประเภท 3.การสนับสนุนการลงทุน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่นำร่องการพัฒนากับโครงข่าย หลักโดยรอบเพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุน

3. Modern Midstream กลางน้ำ (นวัตกรรม สิ่งแวดล้อม)
เพิ่มความน่าเชื่อถือของการท่องเที่ยวไทยสู่ระดับโลกด้วย 2 โอกาสดังนี้
  -โอกาสที่ 1 นวัตกรรม เป็นกระบวนการที่ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมของอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพระดับสูงขึ้น ผ่านโครงการ “1 ที่เที่ยว 1 นวัตกรรม” โดยแต่ละแห่งจะต้องมีนวัตกรรมเพื่อยกระดับความประทับใจของนักท่องเที่ยว
  -โอกาสที่ 2 สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนในการตัดสินใจในการท่องเที่ยว โดยรัฐจะเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งแผน “Zero pollution travel” หรือการท่องเที่ยวที่ไร้มลพิษ โดยเริ่มจากการจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมของทุกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมไปถึงภาคการบริการต่างๆ โดยจะออกมาตรการลดภาษีหรือลดค่าทำเนียม

4. Outstanding Downstream หรือปลายน้ำ (การตลาด ความร่วมมือระหว่างประเทศ)
เพื่อไทยจะบุกตลาดนักท่องเที่ยวด้วย 2 กลยุทธ์
   กลยุทธ์ที่ 1 ตีตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงผ่าน Platform ต่างๆ พร้อมแสดงความพร้อมต่อการรับมือการระบาดของโควิด – 19 และความพร้อมในการก้าวไปสู่แถวหน้าของการท่องเที่ยวโลก ต่างๆ
   กลยุทธ์ที่ 2 ความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยนำเสนอ การพัฒนาระเบียงและเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศ ที่ถูก Boost ด้วยเครื่องยนตร์ตัวที่ 5 คือ เครื่องยนต์ทางดิจิทัล ผ่าน 2 กลไก ดังนี้
     กลไกที่ 1 พัฒนากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำ ด้วยการผลักดันสินค้า Soft power ไทยที่โดดเด่น ผ่าน Platform และ E – Commerce และมีการสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารด้วย Covid Safety Food และผลักดันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาทิ การท่องเที่ยว ๕ เชียง เป็นต้น
     กลไกที่ 2 กรอบความร่วมมือแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย ด้วยการผลักดัน Supply Chain โดยชูจุดเด่นของสินค้าไทย อีกทั้งเรายังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สวยงาม พร้อมสนับสนุน Digital Platform ที่ทำให้ ผู้ประกอบการไทยและภาครัฐไทยพร้อมก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างจริง โดยมีกองทุนพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นกองทุนที่เข้าถึงง่าย ดอกเบี้ยต่ำ

   ทั้งหมดนี้พรรคเพื่อไทยต้องการดึงศักยภาพทรัพยากรที่มีอยู่ มาผสมผสานกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เหมือนรัฐบาลที่ไม่เคยมองเห็นถึงทรัพยากรที่มีอยู่ภายในประเทศ มีดีแต่กู้เงินมาลงทุน เหมือนตำพริกละลายแม่น้ำ เหมือนกระเชอก้นรั่ว ใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย ไม่ประหยัด มีดีแต่กู้ กู้มาแล้วไม่วางแผนในระยะยาว

5. Travel application (เทคโนโลยีเพื่ออัพเกรดจาก New normal เป็น Now normal)
ภาคการท่องเที่ยวไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองจาก Offline มาเป็น Online มากขึ้น ผ่าน Digital platform โดยมีรายละเอียดดังนี้
จัดตั้งแอพพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น โดยภายในแอพพลิเคชั่นจะมีโปรโมชั่นจากร้านค้า ภัตตาคาร โรงแรม เที่ยวบินและทัวร์ต่างๆ ที่สามารถผูกบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ได้ มีระบบจองที่พักและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

นายจักรพล ได้กล่าวต่อว่าอีกว่ายังมีโครงการ Travel Midline พรรคเพื่อไทยเล็งเห็นโอกาสของการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดย 1 ในนโยบายที่สำคัญคือ Travel Midline ซึ่งเป็นนโยบายที่สร้างและพัฒนาโครงสร้างการท่องเที่ยวในประเทศไทยและเชื่อมประเทศเพื่อนบ้านไว้ได้ด้วยกัน ภายใต้กรอบความคิด “เที่ยวไทย เชื่อมโลก” ผ่านการดำเนินการภายในและภายนอก กล่าวคือการดำเนินการภายใน คือ การส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ต่างๆในหลายเส้น Midline ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐานและที่สำคัญคือยุทธศาสตร์การ ภายในขอบเขตดังนี้

  • ภายประเทศ จังหวัดเมืองหลัก เมืองรอง และเขตเศรษฐกิจใหม่
  • ภายนอกประเทศ ความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้แก่ กลุ่ม GMS, IMT-GT,APEC OECD, MJ-CI และ JDS
    โดยกายการจะเริ่มนโยบายนี้ต้องเริ่มจาก 1.ศึกษาและประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ 2.ติดต่อประสานงานทั้งความร่วมมือภายในและภายนอกประเทศ 3.ตรวจสอบความพร้อมในการเริ่มโครงการ 4.เริ่มโครงการ
  • หากได้ดำเนินการนโยบายดังกล่าว เชื่อว่าจะมีการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นมากกว่า 80,000 บาทต่อหัว นักท่องเที่ยวไทยมากกว่า 200 ล้านคนต่อครั้ง นักท่องเที่ยวต่างประเทศมากกว่า 40 ล้านคน รายได้จากภาคการท่องเที่ยวมากกว่า 3.5 ล้านล้านบาท อีกทั้งเพิ่มตำแหน่งงานด้านการท่องเที่ยวมากกว่า 800,000 ตำแหน่ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย เพื่อคนไทยทุกคน  

นายจักรพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ผมยินดีที่จะคว้าโอกาสทองในการนำพาการท่องเที่ยวไทยสู่จุดสูงสุดอีกครั้ง เวลานั้นมีมูลค่าเสมอ หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะใช้เวลาทุก ๆ ขณะให้เกิดประโยชน์ สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติให้มากที่สุด และคืนความทุกข์มอบความสุขให้แก่คนไทย

“เพื่อไทย” ห่วง ประเทศไทยต้องใช้เวลาอีกนานในการรักษาตัวเอง

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเลย เขต 2 และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของไทย หลังจากสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังปรับตัว แต่ละประเทศกำลังออกมาตราการต่างๆ เพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจของตนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและปัญหาเศรษฐกิจถดถอย จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีมาตรการที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่นหลายระเทศแข่งขันกันดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อฟื้นคืนธุรกิจท่องเที่ยวที่ซบเซาไปนานในช่วงวิกฤตโควิด มาตรการต่างๆ ก็เพื่อให้ประเทศตนผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปให้ได้ โดยประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่ในปัจจุบัน รัฐบาลไทยกลับไม่มีความชัดเจนในการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่หน้าเป็นห่วงว่าผลกระทบหลังจากนี้ต่อประชาชน จะยิ่งรุนแรงและเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลานานกว่าที่จะสามารถฟื้นตัวได้ มาตรการของรัฐบาลกลับเป็นการมุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินเหมือนที่ผ่านมา แม้ว่าจะช่วยเหลือประชาชนได้บ้าง แต่ไม่สามารถฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

มาตรการล่าสุดของรัฐบาลที่มีเป้าหมายเพื่อดึงนักลงทุนกลับกลายเป็นเรื่อง การพยายามออกกฎกระทรวงเพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาซื้อที่ดินในประเทศไทยได้ จนทำให้โดนประชาชนและสังคมไทยออกมาต่อต้านแนวคิดดังกล่าว และในที่สุดรัฐบาลก็ต้องยอมถอยเรื่องการขายที่ดินไปก่อน นี่คือสิ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นห่วง เพราะความพยายามขายที่ดินให้ต่างชาติ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีแผนการรับมือปัญหาเศรษฐกิจ จนต้องคิดขายแผ่นดินเพื่อหาเงิน ซึ่งนี่เปรียบเสมือนการยอมรับว่า รัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถคิด หรือมีนโยบายในการดึงดูดการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยในมุมมองนักลงทุนต่างชาติได้ จนทำให้ธุรกิจต่างชาติมากมายเลือกย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน ไม่เพียงเท่านั้น ในขณะที่รัฐบาลไม่สามารถหามาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ แม้ฝ่ายการเมืองในสภาพยายามจะออกกฎหมายเพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนในการสร้างธุรกิจ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล

ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากในขณะนี้กระแสการเมืองไทยกำลังเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งใหม่เข้าไปทุกขณะ อีกทั้งข่าวความวุ่นวายภายในรัฐบาลเอง ทำให้รัฐบาลมุ่งความสนใจไปในเรื่องของการเตรียมความพร้อมของฝ่ายตนในด้านการเมือง จนเหมือนจะลืมหน้าที่ฝ่ายบริหารไป ความแตกแยกในฝ่ายบริหารเห็นได้จากข่าวในช่วงเวลานี้ ที่รัฐบาลแทบไม่มีการพูดถึงมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ กลับกันมีข่าวการโยกย้ายและการต่อสู้ทางการเมืองภายในรัฐบาลมากขึ้น ทำให้การแก้ไขปัญหาและการช่วยเหลือประชาชนกลายเป็นเรื่องรอง หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ปัญหาเหล่านี้จะไม่จบถึงแม้รัฐบาลปัจจุบันจะหมดวาระลง แต่ประชาชนจะยังต้องได้รับผลกระทบต่างๆ จากความไม่เอาไหนของผู้นำรัฐบาลที่ชื่อประยุทธ จันทร์โอชา ต่อไป และรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาก็จะต้องใช้เวลาอีกมากในการซ่อมแซมประเทศที่พังมาตลอด 8 ปี ภายใต้การบริหารของผู้นำรัฐบาลคนปัจจุบัน