เพื่อไทยเปิดตัวแบบจำลองทางเศรษฐกิจมหภาคครั้งแรก คาดจีดีพีไทยปี 66 โต 2% ‘กิตติ’ ชี้ สถานการณ์แย่ต้องลดงบทหารให้น้อยกว่าจีดีพี เชื่อภาษี ปชช.ถูกใช้คุ้มค่า
ดร.กิตติ ลิ่มสกุล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 พบว่ามีข้อจำกัดและน่าเป็นห่วงหลายด้าน ได้แก่
1.เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้การส่งออกและการลงทุนของไทยชะลอตัวลงตาม
2.การระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศ ที่อาจกระทบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย
3.อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง ซึ่งเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจพิจารณาปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน การจ้างงาน และหนี้ครัวเรือน ซึ่งอยู่ในระดับสูงที่ 90% และหนี้ภาคสถาบันการเงิน ซึ่งอยู่ในระดับที่เป็นห่วง โดยเชื่อว่ากระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จะบริหารจัดการ
4.เสถียรภาพทางการเมือง ที่ปัจจุบันมีเพียงการดึงตัวผู้สมัคร ส.ศงเพื่อเตรียมการไปสู่การเลือกตั้ง ทำให้การบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจหยุดชะงัก ไม่มีประสิทธิภาพ
5.ค่าพลังงานและค่าเอฟที ที่ผลักภาระให้ผู้ประกอบการและประชาชน อาจจะกระทบต่อค่าใช้จ่ายและรายจ่ายของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น
คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย จึงจัดทำแบบจำลองทางเศรษฐกิจมหภาคอย่างเป็นทางการครั้งแรก พบว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ในปี 2566 จะเติบโตที่ 1.23 – 2% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าคาดการณ์ของหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3% พรรคเพื่อไทยจึงขอเสนอการจัดการกับการถดถอยทางเศรษฐกิจ ได้แก่
- ใช้นโยบายการคลังด้านการใช้จ่าย : ด้วยการปรับโครงสร้างค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางบวกต่อเศรษฐกิจมากนัก เช่น งบประมาณการการป้องกันประเทศ และซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่ควรมากกว่าการเติบโตของจีดีพี เช่น หากจีดีพีเติบโต1.23 – 2% งบซื้ออาวุธไม่ควรเกิน 2% เพราะหากมากกว่านี้จะเกิดผลกระทบในทางลบ
2 นโยบายการคลัง ด้านการหารายได้ : เงินกองทุนต่างๆ ที่หลายกระทรวงเป็นผู้บริหารจัดการ ควรถูกจัดระบบใหม่ เนื่องจากหลายกองทุน ไม่ได้ดำเนินการที่คุ้มค่ากับงบประมาณมากเท่าที่ควร พรรคเพื่อไทยมองว่าควรเข้าไปพิจารณาว่ากองทุนใดมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ บางกองทุนต้องปรับลดงบประมาณลง บางกองทุนอาจมีการปรับเพิ่มงบประมาณ เช่น กองทุนเพื่ออาหารกลางวันเด็ก หรือกองทุนเพื่อดูแลผู้สูงอายุรวมทั้งผู้ด้อยโอกาส ควรปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จะไม่มีการปรับเพิ่มอัตราภาษี แต่จะจัดการด้านการบริหาร โดยจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ
3.นโยบายการเงิน : คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ ได้ศึกษาแนวคิดการจัดตั้ง เครื่องมือทางการเงินเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle : SPV) เป็นบรรษัทเฉพาะกิจ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างผู้ต้องการสินค้ากับผู้ผลิตสินค้าในภาคเกษตร เป็นเงินทุนระยะสั้น ระดมทุนระหว่างกลุ่มเกษตรกร และฝั่งผู้ซื้อ หากเกษตรกรต้องการเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือเครื่องอำนวยความสะดวกในการทำการเกษตร เพื่อลดรายจ่ายให้กับเกษตรกร เช่น ไซโล โรงอบไล่ความชื้นในพืชผลทางเกษตร กองทุนนี้จะช่วยแก้ไขได้
นายสัตวแพทย์พลวัฒน์ ศรีเรืองสุข คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ภาคการเกษตรมีความสำคัญมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของประเทศไทย เพราะมีประชากรมากกว่า 40% ของประเทศ แต่พบว่าราคาสินค้าเกษตรในระยะยาวมีแนวโน้มราคาตกต่ำ จึงมีความกังวลว่าภาคการเกษตรจะเกิดความเสียหายอย่างถอยกลับไม่ได้ พรรคเพื่อไทย ยังคงยืนยันในหลักการ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส โดยมีวิธีการ ดังนี้
1.เพิ่มรายได้ เกษตรกรควรเข้าถึงตลาดมากขึ้น ได้เงินจากตลาดเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ผ่านการสร้างไซโล มีเงินทุนเสรี เกษตรรวมกลุ่มเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงตลาดโดยตรงได้
2.ลดรายจ่าย จากสถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมี ที่มีราคาแพงมากกว่าในอดีต เราจะทำให้ราคาปุ๋ยให้มีความเหมาะสม และหาตัวทดแทน เพื่อให้ราคาปุ๋ยลดลง คณะทำงานด้านเศรษฐกิจได้ทำการศึกษาคือ แหนแดง (A.pinnata) ซึ่งมีคุณสมบัติตรึงไนโตรเจนจากอากาศเข้ามาสู่ตัวมัน สำปะหลัง ทำให้มันสำปะหลังมีค่าไนโตรเจนหรือค่าโปรตีนสูงมาก สามารถนำมาใช้ทดแทนปุ๋ยไนโตรเจนได้
3.ขยายโอกาส เราจะเพิ่มผลิตภาพสินค้าเกษตรให้มากขึ้น เพื่อโอกาสในการมีรายได้มากขึ้น เช่น ปัจจุบันกำลังการผลิตข้าวของไทยผลิตได้ 600 ก.ก./ไร่ ในขณะที่ต่างประเทศกำลังการผลิตข้าวอยู่ที่ 1,000 ก.ก./ไร่ มันสำปะหลัง ไทยผลิตได้ 3.3 ตัน/ไร่ อินเดียผลิตมันสำปะหลังได้ 5.6 ตัน/ไร่ เท่ากับว่าปัจจุบันเกษตรกรไทยใช้ทรัพยากรในการผลิตเท่ากันหรือมากกว่า แต่ผลผลิตทางการเกษตรไทยได้น้อยกว่า พรรคเพื่อไทยมีวิธีที่จะใช้ทรัพยากรที่ลดลง เพื่อผลิตได้มากขึ้น หากเพื่อไทยทำได้ พี่น้องประชาชนในภาคอีสานจะมีรายได้เพิ่มขึ้น
4.นโยบายด้านดิจิทัล สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ได้ เพื่อไทยจะสร้างคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดธุรกิจในด้านต่างๆ สร้าง Smart industry และนำมาใช้ในทางการเกษตรด้วย รวมทั้งนำไปใช้ในทางการแพทย์เพิ่มขึ้น เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคจะถูกปรับให้ทันสมัยมากขึ้นด้วย รวมทั้งในเรื่องของโลจิสติกส์ และการศึกษา life long learning