นโยบายสาธารณะ..โครงการรับจำนำข้าว..อีกครั้ง

นับตั้งแต่การเริ่มประท้วงของ กปปส. จากประเด็นนิรโทษกรรม จนนำไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อการบริหารประเทศแล้วไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนบางส่วน นับว่าเป็นเรื่องปกติของการปกครองระบอบประชาธิปไตย หากแต่สิ่งที่ผิดปกติคือ การนำประเด็นเรื่องนโยบายสาธารณะที่พรรคการเมืองประกาศไว้มาเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน

นโยบายสาธารณะเป็นนโยบายที่รัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งต้องดำเนินการตามที่ได้ประกาศไว้ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง และแน่นอนว่าจะต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กล่าวคือ ต้องโปร่งใส เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อประเทศชาติอย่างที่สุด

พรรคเพื่อไทยประกาศให้โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายหลักที่จะดำเนินการเมื่อได้รับเลือกตั้งให้บริหารประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ผ่านการพิจารณาของ กกต.ก่อนประกาศตามระเบียบของ กกต. (แต่มักไม่มีใครกล่าวถึง) เมื่อพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก ได้จัดตั้งรัฐบาลและแถลงนโยบายรับจำนำข้าวต่อสภาฯเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประเด็นเรื่องความชอบธรรมของนโยบายจึงไม่ใช่ประเด็นที่ต้องมาพิจารณากันอีก เพราะถ้าไม่ยึดตามหลักการนี้ คำถามที่จะตามมาคือ หลังจากนี้ประเทศเราจะดำเนินนโยบายสาธารณะกันอย่างไร หรืออีกนัยหนึ่ง พรรคการเมืองจะดำเนินนโยบายเพื่อประชาชนได้อย่างไร

อีกประเด็นหนึ่งที่โครงการรับจำนำข้าวถูกโจมตีมากนำสู่การดำเนินการทางกฎหมายหลายอย่างตามมาทั้งการถอดถอนนายกรัฐมนตรีและการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือด้านการบริหารโครงการรับจำนำข้าว มีประเด็นโจมตีสำคัญอยู่ 3 ประเด็น คือ 1)การใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลในการดำเนินโครงการจนสร้างหนี้ให้ลูกหลานกว่า  30 ปี ตามคำกล่าวของนักการเมืองฝ่ายค้านและ ป.ป.ช และถูกหยิบยกซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากสื่อต่างๆ 2) การไม่ยุติโครงการเมื่อเห็นว่าโครงการสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งๆที่มีหลายฝ่ายออกมาเตือน ประเด็นนี้น่าจะมาจากการอ้างถึงการคอรับชั่น หรือ อย่างที่นักการเมืองบางคนกล่าวว่า โกงทุกขั้นตอน และประเด็นสุดท้าย 3) โครงการนี้ได้สร้างความทุกข์ยากให้ชาวนาจนต้องฆ่าตัวตายไปกว่า 16 ราย

ประเด็นดังกล่าวมีการโจมตีแบบเหมารวมปะปนกันทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ จึงต้องทำความเข้าใจโดยแยกให้ชัดเจนเพื่อให้เห็นถึงความรับผิดชอบของรัฐบาลและการแก้ไขปัญหาในเชิงบริหารโครงการ

รัฐบาลสร้างหนี้มหาศาล..ทำให้ลูกหลานต้องเป็นหนี้ยาวนานกว่า 30 ปี?
จริง…. โครงการรับจำนำข้าวจำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในการดำเนินโครงการฯ
แต่ “ไม่น่าจะจริง”  กับการที่ต้องชดใช้หนี้ยาวนาน ที่ใช้คำว่า “ไม่น่าจะจริง” เนื่องจากมันเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งยังมาไม่ถึง

การพัฒนาประเทศดั้งเดิมต้องพึ่งรายได้จากสินค้าเกษตรซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศก่อนการพัฒนาเข้าสู่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ นั่นหมายความว่า ภาษีจากสินค้าเกษตรได้ถูกนำมาพัฒนาประเทศในด้านต่างๆรวมทั้งด้านอุตสาหกรรม นั่นหมายความว่า เกษตรกรต้องเสียสละรายได้ที่ควรได้จากการขายสินค้าตัวเองมาให้รัฐบาลพัฒนาประเทศมาอย่างยาวนาน ต่อเมื่อเข้าสู่ยุครายได้หลักของประเทศเปลี่ยนสู่สินค้าชนิดอื่นสิทธิประโยชน์จากรายได้ก็ยังคงหมุนเวียนจัดสรรเพื่อพัฒนาด้านอื่นๆ ไม่ได้หันกลับมาดูแลเกษตรกรอย่างเต็มที่ การที่พรรคเพื่อไทยดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาด ก็เป็นเพียงมาตรการดูแลเกษตรกรให้มีรายได้เพียงพอกับการดำรงชีพ ไม่ต่างจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ หรือขึ้นเงินเดือนข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด โดยเรายึดหลักว่า คนทุกคนที่ทำงานควรมีรายได้จากการทำงานไม่ต่ำกว่า 300 บาท ชาวนาที่ทำนา และมีข้าวมาจำนำ จึงเป็นกลุ่มประชาชนที่ใช้แรงงานทำงานจีงควรมีรายได้ไม่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำเช่นกัน ดังนั้น ส่วนเกินของราคาข้าวรับจำนำกับราคาตลาด สำหรับพรรคเพื่อไทยจึงไม่ใช่การขาดทุน แต่เป็นการจ่ายค่าแรงให้กับประชาชนที่ทำงานตามผลผลิตที่เขาทำได้ เพราะถ้าเราไม่มองว่า การขึ้นเงินเดือน การขึ้นค่าแรง การจ่ายเงินชดเชยราคาข้าว การจ่ายเงินประกันราคาข้าว หรือการลดภาษีเพื่อสนับสนุนด้านต่างๆเป็นการขาดทุน เงินที่เราจ่ายให้ชาวนาก็อยู่บนตรรกะเดียวกันนี้  ด้วยความที่ชาวนามีเป็นจำนวนมากทำให้ปริมาณงบประมาณที่ใช้จึงมากขึ้นมากกว่าหลายโครงการที่ดำเนินการมาก่อนจนสร้างความกังวลกับหลายฝ่ายดังที่ปรากฎให้เห็นมาตลอด แต่ดังที่กล่าวมาข้างต้น  นี่คือฐานคิดของการจ่ายเงินงบประมาณโครงการรับจำนำข้าวไม่ใช่การมีแต่มุ่งหมายเพื่อประชานิยมตามอำเภอใจอย่างที่กล่าวหากัน

ที่สำคัญ โครงการรับจำนำข้าว มีระยะการปรับโครงการที่ชัดเจน ดังจะเห็นได้จากการเริ่มดำเนินโครงการโซนนิ่งหลังดำเนินโครงการมาเพียงสองรอบการผลิต ทั้งนี้เพื่อการปรับโครงการให้มีประสิทธิภาพในแง่การลงทุนให้มากที่สุด รวมทั้งเป็นการนำไปสู่การหยุดโครงการเมื่อชาวนาได้ปรับตัวและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว

ส่วนการบอกว่าเราสร้างหนี้ให้ลูกหลานชดใช้ยาวนานกว่า 30 ปี “ไม่น่าจะจริง” สำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะขณะที่เราดำเนินนโยบายที่ใช้จ่ายงบประมาณสูง เราตระหนักเสมอว่าเราจำเป็นต้องทำให้ประเทศมีรายได้เพียงพอกับงบประมาณที่เราใช้เสมอ ในอดีตพรรคไทยรักไทยเคยเป็นรัฐบาลที่บริหารประเทศจนมีรายได้มากพอที่จะจ่ายเงินคืน IMF ได้ก่อนเวลา รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็เช่นกันเรามีนโยบายต่อเนื่องระยะยาวจำนวนหลายโครงการที่จะพัฒนาศักยภาพการแข่งขันที่เป็นการลงทุนให้กับประเทศซึ่งจะส่งผลให้เกิดรายได้ในระยะยาว ดังที่จะพบว่า ในขณะที่เราดำเนินนโยบายเพื่อชาวนา เราได้ลดภาษีหลายด้านเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับการแข่งขันของประเทศ เราเตรียมโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อเป็นรากฐานของรายได้ในอนาคตต และกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลาในการบริหารประเทศเรามีรายได้เพียงพอแม้จะดำเนินนโยบายลดภาษีบางด้าน เหล่านี้คงจะประสบความสำเร็จและเห็นผลในระยะต่อไปถ้าเราได้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง
การใช้งบประมาณมาก และต้องชดใช้หนี้อย่างยาวนาน คงไม่น่าจะจริงกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่อาจจะจริงกับรัฐบาลที่ไม่ชัดเจนในการหารายได้ให้ประเทศ

รู้ว่าเสียหาย ขาดทุนมากมาย…ทำไมไม่ยุติโครงการ?
“ความเสียหาย หลายแสนล้านบาท ขาดทุนมหาศาลและโกงทุกขั้นตอน” ดูจะเป็นข้อกล่าวหาที่สมเหตุสมผลที่จะสร้างมโนภาพว่า ประเทศชาติกำลังล่มจมจากนโยบายรับจำนำข้าว

ลองมาแยกแยะข้อกล่าวหานี้กัน ความเสียหายหลายแสนล้านบาท เป็นภาพรวมของการขาดทุนมหาศาลและการโกงทุกขั้นตอน  อยากแยกให้เห็นทีละเรื่อง
การขาดทุนมหาศาล เพื่อพิจารณาข้อกล่าวหาแล้ว ประกอบด้วยสามเรื่องสำคัญ คือ
1)ซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ทำให้ขายได้ราคาน้อยกว่าราคาซื้อ ถือเป็นการขาดทุน รัฐบาลขายข้าวได้ราคาต่ำกว่าราคาซื้อเป็นเรื่องจริง แต่ส่วนเกินของราคาดังกล่าวเป็นเงินที่ถูกส่งตรงเข้าสู่บัญชีชาวนาเป็นรายบัญชี (อันนี้รัฐบาลไม่ได้โกงแน่นอน) เงินจำนวนดังกล่าวเป็นการดำเนินนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร หรือชาวนา ชดเชยที่พวกเขาได้เสียสละรายได้ที่ควรได้มาเป็นภาษีพัฒนาประเทศมาอย่างยาวนานก่อนประเทศเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม สำหรับรัฐบาลนี่คือการลงทุนด้านคน ไม่ใช่การขาดทุน
2) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการอีกจำนวนหนึ่งรวมดอกเบี้ย คือการขาดทุน ถ้าไปพิจารณาโครงการต่างๆที่ทุกรัฐบาลดำเนินการจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ไม่เคยถูกนับว่าเป็นการขาดทุน เพราะเป็นงบประมาณเพื่อการพัฒนาประเทศ ที่สำคัญปริมาณงบประมาณค่าใช้จ่ายของโครงการรับจำนำข้าวก็ไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการอื่นของรัฐบาลอื่น
3)สินค้าเก็บรักษาไม่ดี ทำให้เสื่อมคุณภาพทำให้ขาดทุนมากขี้น การเสื่อมราคาของสินค้าภายใต้กาารเก็บรักษาของคู่สัญญากับรัฐนั้น อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้เก็บรักษาข้าว รัฐบาลจะไม่ขาดทุนในแง่นี้ เพราะคู่สัญญาต้องปฏิบัติตามสัญญาคือส่งมอบข้าวทั้งปริมาณและคุณภาพตามที่รับจำนำให้กับรัฐบาล

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงยอมใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อลงทุนสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชาวนาไม่แตกต่างจากรัฐบาลได้ปรับขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น และเงินที่ลงทุนดังกล่าวก็ได้แค่ค่าแรงขั้นต่ำคือเพียงวันละ 300 บาทเท่านั้น

รัฐบาลบริหารงานโกงทุกขั้นตอน…
ขอเอาการชำแหละโกงจำนำข้าวทุกขั้นตอนของหมอวรงค์มาอ้างอิง โดยสรุป หมอวรงค์เขียนว่า โครงการรับจำนำข้าว โกงต้นน้ำคือชาวนานำข้าวมาส่งโรงสี โกงกลางน้ำคือโรงสีข้าวส่งเข้าโกดังกลางซึ่งมีเซอร์เวเยอร์เกี่ยวข้อง โกงปลายน้ำคือการระบายข้าว และเพิ่มขั้นตอนการลงทะเบียนเกษตรกรอีกขั้นตอนหนึ่งที่มีการโกง

ขอยกตัวอย่างเรื่องที่หมอวรงค์เขียนไว้ “กระบวนการทุจริตในขั้นตอนการลงทะเบียนเกษตรกร…จะไม่ต่างจากการลงทะเบียนเกษตรกรโครงการประกันรายได้…แต่ผมมีความเชื่อว่าหากเรามีประสบการณ์มากขึ้นการทุจริตในขั้นตอนนี้ก็แก้ได้ไม่ยาก” หมอวรงค์เองก็ยอมรับว่า โครงการประกันราคาข้าวซึ่งมีเพียงขั้นตอนเดียวคือลงทะเบียนเกษตรกรแล้วจ่ายเงินกันเลย ก็ยังมีการโกงและต้องการการปรับแก้ เพราะไม่ได้ตั้งใจโกง แต่โครงการรับจำนำข้าวเมื่อมีการทุจริตขึ้นในโครงการที่มีหลายขั้นตอนกว่า กลับมองว่าเป็นการตั้งใจโกง

อย่างไรก็ตามรัฐบาลรับฟังข้อท้วงติงจากทุกฝ่าย ทุกครั้งที่ปรากฎว่ามีข้อมูลแสดงถึงปัญหาการทุจริตในขั้นตอนใด กระบวนการใด รัฐบาลจะมอบหมายให้ กขช.ไปปรับปรุงกระบวนการทุกครั้ง ขั้นตอนที่หมอวรงค์กล่าวถึงในแง่ของการลงทะเบียน การดำเนินการในช่วงต้นน้ำ และกลางน้ำรัฐบาลมีกระบวนการ ขั้นตอนการปฏิบัติ การกำหนดเงื่อนไขและคณะกรรมการควบคุมในทุกขั้นตอน และเมื่อพบว่ายังมีการทุจริตรัฐบาลก็ได้ติดตามหาผู้รับผิดชอบและส่งดำเนินคดีก่อนที่จะถูกรัฐประหาร ซึ่งทั้งหมดนี้ปรากฎเป็นหลักฐานชัดเจน

ในแง่ของปลายน้ำ เป็นปัญหาในแง่ของการบริหารโครงการฯซึ่งต้องพิจารณาการปรับแก้ระบบการบริหารโครงการฯและลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้ที่ได้รับมอบหมายให้นำนโยบายไปปฏิบัติ ในแง่นี้ ทั้งรัฐมนตรี ข้าราชการ เอกชนและกระทั่งประชาชนที่เกี่ยวข้องก็อยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดีเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า มีการคอรัปชั่นอย่างไร ซึ่งเราต้องการกระบวนการที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายเพื่อพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้

ทำให้ชาวนาฆ่าตัวตายกว่า 16 ราย

ส่วนเรื่องสำคัญคือการสร้างความทุกข์ยากให้ชาวนาจนต้องฆ่าตัวตาย เมื่อพิจารณาสาเหตุการฆ่าตัวตายจะเกิดจากการไม่ได้รับเงินจากการนำข้าวมาจำนำ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากการบริหารงานของรัฐบาลหรือการปราศจากเงินในการจ่ายให้ชาวนา แต่เกิดจากกระบวนการขัดขวางของ กปปส.ที่ไม่ให้รัฐบาลดำเนินการจ่ายเงินตามโครงการดังข่าวที่ทราบกันโดยทั่วไป

เมื่อถึงตรงนี้ เราคงต้องตั้งคำถามกับสังคมว่า ตกลง..เราควรสำนึกกันหรือยังว่า เกษตรกร..ได้เสียสละเพื่อพัฒนาประเทศมาก่อนใคร..แล้วถึงเวลาหรือยังที่ต้องตอบแทนพวกเขากันบ้าง และ เราต้องการให้รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ ดำเนินนโยบายสาธารณะแบบไหน หรือ เราจะไม่มีนโยบายสาธารณะที่จะมุ่งแก้ปัญหาประชาชนกันอีกต่อไป

 ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย  อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง