พท.วิพากษ์รธน.ต้องไม่สืบทอดอำนาจ ไม่กีดกันบุคคลและพรรคการเมืองใด ย้ำต้องเป็นปชต.ยอมรับเสียงปชช.

ที่ พท 0046/2558

                                                         14 สิงหาคม 2558

เรื่อง    การรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญ 

เรียน    ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

สิ่งที่ส่งมาด้วย  คำแถลง “เพื่อไทย วิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญ”

           ตามที่คณะทำงานติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
พรรคเพื่อไทย ได้เคยเสนอแนะและให้ความเห็นเรื่อง 
รัฐธรรมนูญที่ดีต้องยึดหลักการสำคัญที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
ต้องเชื่อถือและไว้วางใจประชาชน และได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่กรรมาธิการได้เสนอในประเด็นต่างๆ
ที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ความตามหนังสือที่ พท 0035/2558 ลงวันที่ 15
พฤษภาคม 2558 ถึงประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
นั้น

          จากการติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
พบว่าแม้คณะกรรมาธิการจะได้มีการปรับปรุงตามความคิดเห็นและคำขอแก้ไขจากพรรคเพื่อไทยและฝ่ายต่างๆ
ในบางประเด็น
แต่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติที่เป็นสาระสำคัญในหลายส่วนมิได้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขและยังคงไม่ยอมรับว่าอำนาจอธิปไตย เป็นของปวงชนชาวไทย
มีลักษณะสืบทอดอำนาจรัฐประหารและขององค์กรที่มาจากคณะรัฐประหาร อันนำไปสู่การที่ประเทศและประชาธิปไตยล้าหลัง จนกระทั่งไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและชีวิตของประชาชนได้
และที่สำคัญมิได้ก่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าในปัจจุบัน

          ดังนั้น คณะทำงานฯ
พรรคเพื่อไทยจึงขอเน้นย้ำเจตนารมณ์ผ่านคำแถลงที่แนบมาพร้อมนี้
เพื่อยืนยันหลักการประชาธิปไตยที่พรรคฯ ยึดมั่นใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1) รัฐธรรมนูญต้องไม่มีลักษณะการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร
ต้องเป็นประชาธิปไตยที่ยอมรับเสียงของประชาชน  2) รัฐธรรมนูญต้องไม่กีดกัน กลั่นแกล้งกลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งในการเข้ามาสู่กระบวนการประชาธิปไตยและการตัดสินใจของประชาชน

          พรรคฯ หวังว่าคำแถลงฉบับนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการจัดทำกรอบกติกาของประเทศและการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ต่อไป

   

                                                                               ขอแสดงความนับถือ

                                                       พลตำรวจโท  …………………………………….

                                                                           (พลตำรวจโทวิโรจน์
เปาอินทร์)

                                                                           รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

                                                                เพื่อไทย วิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญ

                                                ยังคงไม่ยอมรับว่าอำนาจอธิปไตย เป็นของปวงชนชาวไทย

                                       มีการสืบทอดอำนาจรัฐประหารและองค์กรที่มาจากคณะรัฐประหาร

                                                   จะนำไปสู่สภาวะที่ประชาชนขาดสิทธิและโอกาส

                                        รัฐบาลอ่อนแอ ระบอบประชาธิปไตยล้าหลัง
และเศรษฐกิจย่ำแย่

            ตามที่คณะทำงานติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคเพื่อไทยได้เคยเสนอแนะและให้ความเห็นไว้ว่า
รัฐธรรมนูญที่ดีนั้นต้องยึดหลักการสำคัญที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ต้องเชื่อถือและไว้วางใจประชาชน
และได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่กรรมาธิการได้เสนอในประเด็นต่างๆ
ที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยไปแล้วนั้น

           จากการติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ก่อนที่จะนำไปสู่การลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งหากเห็นชอบก็จะนำไปสู่การทำประชามติในลำดับต่อไปนั้น
เห็นว่า แม้คณะกรรมาธิการจะได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามความคิดเห็นและคำขอแก้ไขจากฝ่ายต่างๆ
ในบางประเด็น แต่บทบัญญัติที่เป็นสาระสำคัญในหลายส่วนมิได้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขและยังคงขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตยจนเป็นที่เห็นประจักษ์ว่า
ความปรารถนาของประชาชนที่จะให้มีรัฐธรรมนูญที่ดี มีความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากล
ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม
สร้างดุลยภาพที่เหมาะสมของทุกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย
รวมถึงการเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์และผลักดันการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ
อย่างเป็นรูปธรรมนั้น คงไม่อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

           1.   ร่างรัฐธรรมนูญนี้ปูทางการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร
เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม เสียงประชาชนไม่มีความหมาย ดังนี้

          1.1   การกำหนดให้บุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ แม้คณะกรรมาธิการจะอ้างว่าใช้ในกรณีจำเป็น แต่เมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการและประธานกรรมาธิการที่ได้แสดงผ่านทางสื่อหลายต่อหลายครั้ง  และบทบัญญัติต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ  ที่นำไปสู่รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ
บริหารงานเพื่อประชาชนไม่ได้ มีระบบเลือกตั้งที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ฯลฯ ประกอบกับบทบัญญัติอื่นๆ
ทั้งหมดก็เพื่อเปิดช่องให้บุคคลที่มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นนายกรัฐมนตรีได้
เป็นการเปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ทั้งๆ ที่พัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้ตกผลึกผ่านรัฐธรรมนูญหลายฉบับมามากกว่า
20 ปีแล้วว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศปรารถนาให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามหลักการประชาธิปไตยและเจตจำนงของประชาชน 

          1.2    การกำหนดให้ ส.ว.มีจำนวน 200 คน แต่มาจากการเลือกตั้งเพียงจังหวัดละ
1 คน ที่เหลือมาจากการสรรหาจำนวนรวมถึง 123 คน
มากกว่า ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งถึงเกือบสองเท่า ทั้งยังมีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ
 มีอำนาจอนุมัติกฎหมาย ฯลฯ
เป็นการไม่ให้ความสำคัญกับการที่กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน  การกล่าวว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ควรมาจากการสรรหา
เพื่อให้เกิดความหลากหลายก็เป็นเพียงข้ออ้าง
เพื่อวางกลไกการสืบทอดอำนาจอีกเช่นกัน 
เพราะเมื่อพิจารณาจาก ส.ว.ที่ได้รับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550
แล้ว ก็มีความหลากหลายไม่น้อยไปกว่า ส.ว.ที่มาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550
ตรงกันข้ามระบบสรรหาของประเทศไทยนอกจากเป็นแนวคิดที่ปฏิเสธอำนาจของประชาชนแล้ว ยังล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
หลายครั้งได้บุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะเข้ากับตำแหน่ง หรือได้บุคคลที่มีแนวคิดสวนทางกับแนวทางประชาธิปไตย
ดังจะเห็นได้จากการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในขณะนี้
หรือการสรรหาบุคคลที่ขาดคุณสมบัติเข้าไปเป็น ส.ว.ในอดีตจนถูกศาลวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง

            นอกจากนั้น จากการแถลงของกรรมาธิการเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม
2558 ที่ผ่านมา ว่า สำหรับ ส.ว.
ประเภทสรรหาในระยะเริ่มแรกนั้น จะกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล
ให้คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเป็นผู้สรรหา และให้มีวาระ 3 ปี
นั้น ยิ่งเห็นได้ชัดเจนถึงเจตนาที่จะสืบทอดอำนาจ แต่งตั้งพวกของตนเป็น ส.ว. โดยให้
ส.ว. สรรหาเป็นกลไกในการควบคุมตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน
และเป็นกลไกในการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ
ซึ่งเป็นองค์กรที่จะใช้ควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
นับได้ว่ายิ่งร่างก็ยิ่งเห็นธาตุแท้ของคณะบุคคลเหล่านี้
ที่มีแนวคิดในการปฏิเสธอำนาจของประชาชนมาโดยตลอด

          1.3  การกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติที่สามารถใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติและในทางบริหารสั่งการเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศต่างๆ
ในยามวิกฤตได้
  เห็นได้ว่าเป็นการนำองค์กรที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงใดๆ กับประชาชน
มาควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน  เหมือนเป็นการยึดอำนาจจากประชาชนโดยวิธีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 
สะท้อนให้เห็นแนวคิดที่ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการประชาธิปไตย
ซึ่งมีกลไกแก้ไขปัญหาของชาติตามระบบและครรลองอยู่แล้ว  เช่นหากเกิดปัญหาที่ทำให้รัฐบาลไม่อาจบริหารราชการแผ่นดินได้ 
ก็อาจมีการยุบสภาให้ประชาชนตัดสิน
หรือนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดโอกาสให้มีรัฐบาลใหม่  ที่ผ่านมาหลายต่อหลายครั้งก็ดำเนินการมาเช่นนี้  เพียงแต่เมื่อครั้งที่ผ่านมามีกลุ่มบุคคลที่เจตนาจะให้บ้านเมืองเกิดวิกฤตที่ควบคุมไม่ได้
จงใจให้นำไปสู่การรัฐประหาร  โดยคบคิดร่วมกระทำกันอย่างเป็นกระบวนการ 
ความจริงผู้ร่างรัฐธรรมนูญควรจะหามาตรการและกำหนดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางป้องกันและระงับยับยั้งการกระทำเหล่านั้นมากกว่า 
แทนที่จะมาสร้างองค์กรเสมือนเป็นซูเปอร์บอร์ด มีอำนาจเหนือรัฐบาล
ทำลายหลักกฎหมาย ทำลายหลักการประชาธิปไตยและทำลายความชอบธรรมของระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

           1.4  การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และองค์กรต่าง
ๆ ที่ถูกตั้งไว้ในช่วงการรัฐประหาร  และภายหลังการเลือกตั้ง
เป็นกลไกที่มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ  
การวางกลไกเช่นนี้ เป็นการตอกย้ำและเสริมสร้างระบบขัดขวางการทำงานของรัฐบาลและสภาที่สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ
2550 ทั้งในแง่ที่มาและอำนาจหน้าที่
เพื่อมุ่งหมายให้รัฐบาลและสภาอ่อนแอไม่สามารถทำงานเพื่อประชาชนตามนโยบายที่หาเสียงได้
และเพื่อบีบให้พรรคการเมืองส่วนหนึ่งต้องไปศิโรราบสนับสนุนให้บุคคลที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง
จัดตั้งรัฐบาล

          2.  การจำกัดสิทธิของผู้เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง
หรือเคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งมาแล้วในการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง
ทั้งๆที่ผู้ที่เคยถูกถอดถอนหรือถูกตัดสิทธิทางการเมือง
ในอดีตเกือบทั้งหมดไม่มีโอกาสในการต่อสู้คดีและถูกลงโทษย้อนหลัง จึงเป็นการลงโทษซ้ำในความผิดที่เขาไม่ได้กระทำ
และไม่มีการดำเนินกระบวนการพิจารณาตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด ประเด็นถ้อยคำที่ไม่ชัดเจนคลุมเครือนี้
คณะกรรมาธิการได้แถลงว่าจะชี้แจงไว้ในบันทึกเจตนารมณ์ว่ามิได้มุ่งหมายถึงบุคคลที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในอดีต
แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีสำหรับสังคมไทยว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่ชัดแจ้งให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติได้
เช่น กรณีตีความบทบัญญัติมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ 2550 จนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าตีความเกินรัฐธรรมนูญและเป็นผู้บัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเอง
ทำให้ประชาชนเกิดความแคลงใจในมาตรฐานและความเป็นกลาง นอกจากนั้นการห้ามผู้ที่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง
มิให้สมัครรับเลือกตั้งได้ตลอดไปนั้น เป็นการตัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในทางการเมืองอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ
จึงไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นไม่ควรจะหมายรวมถึงผู้ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญโดยกระบวนการที่ไม่ปกติที่ผ่านมา
มิฉะนั้นบทบัญญัติดังกล่าวก็มีขึ้นเพียงเพื่อสกัดกั้นบุคคลจากพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดเป็นการเฉพาะนั่นเอง

           คณะทำงานพรรคเพื่อไทยขอสรุปว่า
ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่เคารพและไม่เชื่อมั่นในวิจารณญาณของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย
นำไปสู่รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ วางกลไกการบริหารจัดการประเทศที่รังแต่นำไปสู่ความล้มเหลวและความขัดแย้ง
ขาดความน่าเชื่อถือในเวทีการเจรจาระหว่างประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของต่างประเทศ
เพราะไม่มีนักลงทุนใดกล้าลงทุนในประเทศที่รัฐบาลอ่อนแอ
ไม่มีความต่อเนื่องของนโยบาย นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้สร้างเงื่อนไขอันจะนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นใหม่
มุ่งสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและกลุ่มที่สนับสนุน  มิได้มีกรอบของการปฏิรูปที่ชัดเจน
ครอบคลุมทุกด้านทุกองค์กร เป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องการที่จะหยุดประชาธิปไตย
ไม่ต้องการให้ประชาธิปไตยเป็นกลไกในการแก้ปัญหาของประเทศ อันจะทำให้ประชาชนอ่อนแอ
ขาดสิทธิและโอกาส และประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

   

                                                                                              พรรคเพื่อไทย 

                                                                                              สิงหาคม 2558