“เพื่อไทย” ยื่น “กรธ. – กกต. – สนช.” ทบทวน “ไพรมารีโหวต”

ที่
พท.0026/2560

27 มิถุนายน 2560

เรื่อง  ขอให้พิจารณาทบทวนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
พ.ศ. …

ในบางมาตรา

เรียน  ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (นายมีชัย
ฤชุพันธุ์)

อ้างถึง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
พ.ศ. … ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติให้ความเห็นชอบในวาระสาม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560

ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
พ.ศ. … เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560
ซึ่งมีสาระสำคัญบางประการที่แตกต่างจากร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ให้นำระบบการคัดเลือกผู้สมัครขั้นต้น
(Primary Vote) มาใช้
การจัดตั้งสาขาของพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
ซึ่งหลายพรรคการเมืองได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในทางปฏิบัติอันจะส่งผลต่อการจัดส่งผู้สมัครของพรรคการเมือง

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า
หลักการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในทางการเมืองกับพรรคซึ่งรวมถึงการคัดเลือกผู้สมัครนั้น
เป็นสิ่งที่ดีและเป็นไปตามเจตนารมณ์ในการจัดตั้งพรรคการเมืองแต่วิธีการมีส่วนร่วมนั้นทำได้หลายวิธี
ข้อสำคัญคือ
วิธีการดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับสภาพของความเป็นจริงของสภาพการณ์ทางการเมืองและระบบพรรคการเมืองที่เป็นอยู่
และต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อการส่งผู้สมัครของพรรคการเมืองด้วย
ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่าระบบคัดเลือกผู้สมัครขั้นต้น (Primary
Vote) ตามร่างที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีปัญหาที่ควรต้องพิจารณาดังนี้

1.การบริหารพรรคการเมืองผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการบริหารและต่อสมาชิกพรรคคือคณะกรรมการบริหารพรรค
หากเกิดความผิดพลาดขึ้น กฎหมายได้กำหนดบทลงโทษอย่างหนัก ทั้งโทษทางอาญา ทางแพ่ง
ทางปกครอง รวมถึงการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง

การคัดเลือกผู้สมัครโดยปกติพรรคต้องพิจารณาจากผู้มีความประพฤติที่ดี
มีความรู้ความสามารถในการสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเดิมพรรคก็มีกระบวนการสรรหาโดยผ่านคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครและคณะกรรมการบริหารร่วมกัน
โดยมีการพิจารณารับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกและประชาชนในพื้นที่อยู่แล้วว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้สมัครของพรรคเพราะสุดท้ายแล้วประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินในการเลือกตั้ง
หากพรรคส่งบุคคลที่ประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย ผู้นั้นก็จะไม่ได้รับเลือกตั้ง
แต่การให้สิทธิค่อนข้างเด็ดขาดแก่สาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดซึ่งมีสมาชิกที่มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครเพียง
100 คน กรณีของสาขา และ 50 คน
กรณีตัวแทนประจำจังหวัดนั้น อาจเป็นการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ทั่วถึงทำให้เกิดกรณีที่สมาชิกพรรคที่ต้องการลงสมัครจัดตั้งสมาชิกซึ่งสนับสนุนตนเองเพื่อมาลงคะแนนเลือกตนได้ง่าย
ทั้งที่บุคคลดังกล่าวอาจไม่มีความเหมาะสมเพียงพอในการเป็นตัวแทนของพรรคในการสมัครรับเลือกตั้ง
แต่วิธีการคัดเลือกผู้สมัครตามร่างเดิมของ กรธ.นั้นมีความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและไม่ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
เพราะได้ให้ทุกภาคส่วนในพรรคมีส่วนร่วม
โดยคณะกรรมการบริหารพรรคและคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครร่วมกันคัดเลือกผู้สมัครซึ่งคณะกรรมการบริหารนั้นได้รับเลือกมาจากสมาชิกพรรค
ส่วนคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครนั้นก็เลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรค ซึ่งประกอบไปด้วย
กรรมการบริหาร สาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดและสมาชิกพรรค
อันจะทำให้การคัดเลือกผู้สมัครมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและมีเหตุผลมากกว่าที่จะปล่อยให้มีการเลือกตั้งกันเองเฉพาะของสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

2.การคัดเลือกขั้นต้น (Primary Vote) นั้นมีกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง
เพราะผู้สมัครต้องดำเนินการโดยสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดทุกแห่ง
อาจทำให้เกิดปัญหาที่พรรคสรรหาผู้สมัครได้ไม่ทันกำหนดเวลารับสมัครของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
และอาจมีกรณีร้องเรียนว่าผู้สมัครไม่ได้รับการสรรหาที่ถูกต้อง
ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจพิจารณาไม่รับผู้นั้นเป็นผู้สมัครทำให้พรรคต้องเสียโอกาสในการส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นได้

3.บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสาขาพรรคการเมืองในบางมาตรา เช่น มาตรา 33 และขั้นตอนการเลือกผู้สมัคร ส.ส. เขตในร่างมาตรา 35, 47, 49/1 และ 49/2 ไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดการตีความที่สับสน
โดยมีปัญหาดังนี้

3.1ร่างมาตรา 33 บัญญัติว่า “ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน
พรรคการเมืองต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1)…………….

(2)จัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่คณะกรรมการกำหนดอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา
โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขาตั้งแต่ห้าร้อยคนขึ้นไป”

การใช้ถ้อยคำว่า
สมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสาขา”
แสดงว่าในจังหวัดหนึ่งอาจมีสาขาพรรคการเมืองได้หลายสาขา
และสาขาพรรคการเมืองสาขาหนึ่งอาจมีเขตพื้นที่รับผิดชอบคลุมพื้นที่เพียงบางส่วนของจังหวัด
หรือคลุมพื้นที่หลายจังหวัด หรือคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดกับบางอำเภอของจังหวัดอื่น
หรือคลุมพื้นที่บางอำเภอของหลายจังหวัด

แต่หากประสงค์ให้สาขาพรรคการเมืองมีเขตพื้นที่รับผิดชอบทั้งจังหวัดเพียงจังหวัดเดียวหรือบางส่วนของจังหวัดเพียงจังหวัดเดียว
ก็ต้องระบุให้ชัดเจนในมาตราที่บัญญัติเกี่ยวกับสาขาพรรคการเมือง
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้การร่างมาตรา 35 และมาตรา 49/1 ในส่วนของการเลือกผู้สมัครหมดปัญหาความคลุมเครือด้วย

3.2ในจังหวัดที่ไม่ใช่ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่หรือสาขาของพรรคการเมือง
คณะกรรมการร่างฯ
กำหนดให้มีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดคนหนึ่งหรือหลายคนเพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในจังหวัดนั้น
แทนสำนักงานใหญ่หรือสาขาพรรคการเมืองที่ดูแลการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในจังหวัดที่ตั้งทั้งจังหวัด

แต่
สนช. แก้ไขเป็นทำนองให้มีตัวแทนพรรคการเมืองประจำเขตเลือกตั้ง
โดยไม่ระบุว่าในเขตเลือกตั้งหนึ่งให้มีตัวแทนกี่คน
และยังคงใช้ชื่อว่าตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ซึ่งมีปัญหาทางปฏิบัติมากเนื่องจากในบางช่วงยังไม่มีการกำหนดเขตเลือกตั้งเลย
และเขตเลือกตั้งที่กำหนดไว้ก็เปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ
ต่างจากเขตจังหวัดซึ่งจะคงเดิมตลอดไปหากไม่มีการตั้งจังหวัดใหม่
ส่งผลให้จำนวนสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งที่เคยเกิน 100 คน อาจลดลงต่ำกว่าเพราะการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง
และยังกระทบถึงสัดส่วนผู้เข้าประชุมใหญ่ตามร่างมาตรา 39
เพราะตัวแทนพรรคการเมืองประจำเขตเลือกตั้งมีได้เกือบ 350 คน
นอกจากนี้ทำให้พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วทุกเขตเลือกตั้งต้องหาสมาชิกรวมกันประมาณกว่า
35,000 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นภาระมากแก่พรรคการเมืองใหม่และพรรคการเมืองขนาดเล็ก
ทั้งจะส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งต่างๆในจังหวัดเดียวกันขาดเอกภาพ

ร่างมาตรา
35 บัญญัติว่า “เขตเลือกตั้งในจังหวัดใดที่มิได้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือสาขาพรรคการเมือง
ถ้าพรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นเกินหนึ่งร้อยคน
ให้พรรคการเมืองนั้นแต่งตั้งสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นซึ่งมาจากการเลือกของสมาชิกดังกล่าวเป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในเขตพื้นที่รับผิดชอบนั้น
และให้นำความในมาตรา 34
มาใช้บังคับแก่ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดด้วยโดยอนุโลม”

ประเด็นคือ
จังหวัดที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือสาขาพรรคการเมืองไม่ต้องมีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งใดๆในจังหวัดนั้นใช่หรือไม่
ตัวแทนพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งใดต้องมีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งนั้นใช่หรือไม่
และการประชุมสมาชิกเพื่อเลือกผู้สมัครตามที่บัญญัติไว้ในร่างมาตรา 49/1 ในจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งหลายเขต
ให้แยกประชุมเป็นรายเขตเลือกตั้งใช่หรือไม่ หากใช่ ก็ควรแก้ร่างมาตรา 35 โดยใช้ถ้อยคำดังนี้

ในจังหวัดที่มิได้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือสาขาพรรคการเมือง
ถ้าพรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งใดในจังหวัดนั้นเกินหนึ่งร้อยคน
ให้พรรคการเมืองแต่งตั้งสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งนั้นซึ่งมาจากการเลือกของสมาชิกดังกล่าวเป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำเขตเลือกตั้งเพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งนั้นและให้นำความในมาตรา
34
มาใช้บังคับแก่ตัวแทนพรรคการเมืองประจำเขตเลือกตั้งด้วยโดยอนุโลม”

นอกจากนี้ก็ต้องแก้ไขร่างมาตรา
49/1 และ 49/2
ให้รับกับการแก้ไขร่างมาตรา 35 ข้างต้น
โดยเฉพาะต้องแก้ไขถ้อยคำ “ การประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด”
เป็น “การประชุมสมาชิกในเขตเลือกตั้ง” เนื่องจากเป็นการประชุมสมาชิกที่จัดโดยตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
มิใช่การที่ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดมาประชุมกัน

การแก้ไขแบบนี้
ต้องเปลี่ยนคำว่า “ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด” ในมาตราอื่นเป็น “ตัวแทนพรรคการเมืองประจำเขตเลือกตั้ง”
ด้วย

อย่างไรก็ตาม
ควรแก้ไขร่างมาตรา 35
และมาตราที่เกี่ยวข้องกลับไปตามร่างเดิมของคณะกรรมการร่างฯซึ่งมีเหตุผลดีกว่า

ในกรณีที่กรรมาธิการร่วมยังยืนยันให้มีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
แต่การประชุมสมาชิกเพื่อเลือกผู้สมัคร ในจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งหลายเขต
ให้ประชุมรวมทั้งจังหวัดเช่นเดียวกับจังหวัดที่มีสาขาพรรคการเมือง
โดยสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งใดมีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครของทุกเขตเลือกตั้ง
ก็ต้องแก้ไขร่างมาตรา 49/1 และ 49/2
ให้ชัดเจนและสอดคล้องกัน
ให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำเขตเลือกตั้งในจังหวัดร่วมกันจัดการประชุมสมาชิกในเขตจังหวัดนั้น

พรรคเพื่อไทยหวังว่า
เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและไม่มีปัญหาอุปสรรคต่อการส่งผู้สมัครและการจัดการเลือกตั้ง
มีความเป็นธรรมแก่ทุกพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน
จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตั้งกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาทบทวนแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้มีความเหมาะสมต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

พล.ต.ท.
วิโรจน์ เปาอินทร์

รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

27 มิ.ย. 2560