“วัฒนรักษ์” จัดหนัก เร่งนายกฯออก พ.ร.ก. พร้อมติงรัฐเหตุใดจึงยกเลิก 3 สารพิษ ได้ยากเย็น
(13 ต.ค. 62) ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช เลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการที่ทางรัฐบาลต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แต่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล ซึ่งก็ยังต้องขอชมเชยคณะการทำงานของรัฐมนตรีหลายท่าน แต่ทั้งนี้ก็ยังอดคิดไม่ได้ว่าทำไมการยกเลิกสารเคมีพิษเหล่านี้จึงยากเย็นได้ขนาดนี้ หรือเป็นเพราะมีผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง จนถึงขนาดมีข่าวว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายอาจมีมติโหวตสวนทางกับ มติคณะทำงานตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ให้ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปศึกษาแล้วนั้น ประกอบกับทั้งๆที่มีผลงานศึกษา วิจัย ทั้งในและต่างประเทศมากมายที่สามารถยืนยันว่าสารเคมีพิษทั้ง 3 ชนิด มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แปลกมาก ขนาด พล.อ.วิทวัส รชตะนันทร์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังกล่าวว่า ถ้ายังไม่ยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดนี้ ก็ถือว่าไม่มีเหตุอื่นอันสมควร เพราะปกติข้าราชการนั้นสมควรทำงานตามสายระบบบังคับบัญชา ดังนั้นจึงเข้าข่ายหัวหน้าหน่วยราชการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ตามกฎหมาย โดยให้ส่ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการพิจารณาชี้มูลความผิดหรือถ้าหากบุคคลใดเข้าข่ายผิดอาญาก็ให้ส่งศาลยุติธรรมเพื่อพิจารณา
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า การที่มีผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด และได้ไปยื่นเรื่องให้ศาลปกคลองวินิจฉัยมติของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่ น.ส.มนัญญา เป็นประธานฯ ตนเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ เพราะมีผลกระทบต่อเกษตรกรไทยที่ต้องลำบากต่อสู้กับสารพิษเหล่านี้มากว่า 30 ปี และกระทบต่อผู้บริโภคคนไทยทุกคนเพราะการที่เราจะทานผัก ผลไม้ และสัตว์น้ำ แต่ก็ยังต้องคอยเป็นกังวลว่าจะมีสารพิษเหล่านี้ปนเปื้อนหรือตกค้างหรือไม่ ซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยจากโรคเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นทุกปี จึงถือเป็นภาระทั้งภาคประชาชนและภาครัฐอีกด้วย ตนจึงเสนอแนะให้นายกรัฐมนตรีเร่งออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งในรายงานของ กมธ. ได้มีข้อเสนอแนะให้กับทางรัฐบาลจัดกองทุนเปลี่ยนผ่าน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์โดยใช้วิธีการไถกลบเพื่อปรับปรุงดินและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่ต้องมีเพิ่มสำหรับเกษตรที่ผ่านการฝึกอบรมการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ ซึ่งทาง กมธ. ไม่อยากเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรไทย