“จุลพันธ์” ชี้ เศรษฐกิจไทยซึมยาว อัด “ประยุทธ์” บริหารล้มเหลว นำพาประเทศสู่วิกฤต

(24 ก.พ. 63) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โดยระบุว่า การบริหารเศรษฐกิจภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ คือหลักฐานแห่งความล้มเหลว ขาดความรู้ความเข้าใจและไร้ประโยชน์
 
นายจุลพันธ์ เริ่มต้นอภิปรายด้วยการไล่เรียงข่าว “การเสียชีวิต” ด้วยการฆ่าตัวตายของประชาชนจากภาวะเศรษฐกิจรุมเร้า โดยยกอ้างการให้สัมภาษณ์ของ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์จิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ที่ระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นสาเหตุแห่งการฆ่าตัวตายในช่วงปีที่ผ่านมากระทั่งถึงปีนี้ ถึงร้อยละ 18.3

“รัฐบาลนี้กำลังจะเป็นฆาตกร เป็นฆาตกรทางเศรษฐกิจ ทำลายความหวังของประชาชน ทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจ เพราะการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ ล้มเหลวซ้ำซาก ขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่ยอมรับความจริง ทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างผิดทิศผิดทาง”
   
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า เมื่อวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจตามหลักเศรษฐศาสตร์ พบว่า ปัญหาไม่ได้เพิ่งเริ่มเกิดแต่เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาหลายปี ตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ย. 57 เป็นต้นมา
   
ภาพรวมเศรษฐกิจตอนนี้อยู่ในช่วงขาลง ตัวเลขที่ชัดที่สุดคืออัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ที่ไหลลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2557 เท่ากับ 1% ปี 2558 เท่ากับ 3.1% ปี 2559 เท่ากับ 3.4% ปี 2560 เท่ากับ 4% ปี 2561 เท่ากับ 4.1% ปี 2562 เท่ากับ 2.4%
 
ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ยังระบุว่า เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ในระดับต่ำสุดในรอบ 69 เดือน ตั้งแต่รัฐประหาร พ.ค. 57 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคไม่มีความมั่นใจสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำและรายได้ในอนาคต
   
ขณะที่ดุลการค้าไทยอยู่สถานะเกินดุลต่อเนื่อง แต่ข้อเท็จจริงพบว่า กำไรจากการส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งมากขึ้นถึง 20% นับแต่ปีรัฐประหาร ทะลุ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในรอบปี 2562 ค่าเงินบาทแข็งตัวเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ “แข็งตัวมากที่สุดในโลก” กระทบส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของไทย แม้ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการทั้งปี 2562 แต่เชื่อว่าคงหนีไม่พ้นติดลบ ห่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้บวก 3% เช่นกันการนำเข้าก็หดตัวมาก เพราะเอกชนไม่กล้าลงทุนซื้อสินค้าประเภททุนหรือเครื่องจักร เข้ามาเพิ่มศักยภาพ เพราะไม่มีความมั่นใจในอนาคต
   
ตัวสุดท้าย การใช้จ่ายภาครัฐคืองบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ที่เพิ่งผ่าน ส.ส. และ ส.ว. ไปแบบหืดจับ มีปัญหาการกดบัตรแทนกัน นับเป็นกลไกตัวเดียวที่ยังเหลือพอขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจได้บ้าง

“เมื่อเดือนก่อนนายกฯ ไปพูดในงานสภาอุตสาหกรรมบอกว่าจะโต 3.5% คนเขาขำ ขำในความไม่รู้ของท่าน ยังฝันว่าเศรษฐกิจปีนี้จะโตกว่า 3%ได้”

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกัน แม้สภาพโดยรวมจะไม่ต่างจากไทย แต่บริหารเศรษฐกิจให้เติบโตได้ระดับ 5-6% ต่อปี ผิดกับไทยที่ต้องมาอุ้มรัฐบาลไม่ชอบธรรม ไร้ความเข้าใจ จนไม่สามารถพัฒนาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

สัญญาณอันตรายที่สุดในตอนนี้คือภาวะอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย แสดงถึงสภาวการณ์ที่ผู้คนจะชะลอการใช้จ่าย โดยอัตราเงินเฟ้อพึงประสงค์ควรอยู่ในช่วง 2-5% แต่ตัวเลขล่าสุดปี 2562 ไทยอยู่ที่ 0.17% ต่ำกว่าปี 2561 ที่ 0.90%

เมื่ออัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย ผลก็คือ เงินที่ถืออยู่ในมือมันเกือบคงที่ แรงจูงใจในการใช้จ่ายและลงทุนไม่มี คนรวยเลือกเก็บออมไม่ลงทุน คนจนไม่มีเงินใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว ผลก็คือ ภาวะเงินฝืดอย่างที่เห็นอยู่ เพราะการบริโภคโดยรวมน้อยเกินไป ผู้ผลิตต้องลดกำลังการผลิต ลดราคาเพื่อให้สินค้าขายได้ อัตราการจ้างงานลด โรงงานเริ่มปิดตัวและคนตกงานมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุปัจจัยหลักคือปริมาณเงินในระบบไม่เพียงพอต่อขนาดของเศรษฐกิจ เงินหมุนในระบบน้อยเกินไปนั่นเอง
   
ข้อมูลสถิติจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า ยอดขอปิดกิจการตั้งแต่เดือน ม.ค. 2562-ธ.ค. 2562 มี 1,767 โรงงาน จำนวนแรงงานถูกเลิกจ้าง 44,724 คน  
 
ขณะที่ล่าสุด เดือน ม.ค. 2563 พบ ยอดขอปิดกิจการมีจำนวน 222 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 53.10% คิดเป็นมูลค่าลงทุน 2.29 พันล้านบาท ลดลง 8.4% คิดเป็นจำนวนแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง 2.51 พันคน ลดลง 31.04%

กลุ่มที่เลิกจ้างมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์จากพืช ผลิตภัณฑ์ยานพาหนะและอุปกรณ์ รวมทั้งการซ่อมพาหนะและอุปกรณ์ และอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ตามลำดับ ขณะที่ภาคการเกษตรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็เจอปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมสลับกัน จนปริมาณผลผลิตไม่ได้อย่างที่ต้องการ รายได้หดหาย
 
“เศรษฐกิจไทยตอนนี้เป็นมะเร็งขั้น 2 จะเข้าขั้น 3 หากปล่อยท่านนายกฯ บริหารประเทศ บริหารเศรษฐกิจแบบงูๆ ปลาๆ ต่อไปมะเร็งเศรษฐกิจจะเข้าขั้น 4 ขั้นสุดท้าย ตอนนั้นหมอเทวดาก็ช่วยไม่ทัน จึงสรุปได้ว่าเศรษฐกิจไทยภายใต้การนำของท่านอยู่ในช่วงขาลง ซึมยาวและอาจจะถาวร ปีนี้เผาจริงแน่นอน คำถามคือไฟจะมอดเมื่อไหร่เท่านั้น”

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลใช้เป็นตัวหลักมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมาคือนโยบายการคลัง ผ่านงบประมาณแผ่นดิน ผลคือแทบไม่ช่วยให้ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่เพียงพอ สาเหตุคืองบประมาณแผ่นดินที่ใช้ไปเฉลี่ยปีละ 3 ล้านล้านบาท มีฐานมาจากการขูดรีดเก็บภาษีจากประชาชน ดูดกำลังบริโภคของประชาชน 2.7 ล้านล้านบาท แล้วเอามาเติมในระบบเศรษฐกิจจริงๆ เพียงแค่ 4.6 แสนล้านบาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับขนาด GDP ไทยที่ 16.5 ล้านล้านบาท

“เหมือนรถบรรทุกสิบล้อขนของเต็มจอดเสียอยู่ตีนดอยแล้วท่านไปยืนท้ายรถเข็นอยู่คนเดียว พยายามเอารถบรรทุกคันนี้ขึ้นไปยอดดอยให้ได้”

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงแบบนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ลดขนาดของภาครัฐลง โดยทำได้ 2 มุม คือ 1. ลดขนาดงานประจำเพิ่มการลงทุนภาครัฐ ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมาขนาดของรัฐกลับยิ่งใหญ่เลอะเทอะ งบประมาณประจำปีจาก 2.5 ล้านล้าน เป็น 3.2 ล้านล้านบาท กินสัดส่วนการพัฒนาที่ควรจะเป็นของพี่น้องประชาชน

การลดขนาดของภาครัฐในมุมที่ 2 คือการผ่อนเบาภาระทางด้านภาษีหรือการลดภาษี ซึ่งถือเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ เงินที่เหลือในมือประชาชนจะเป็นกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น เช่น ประเทศจีน กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดภาษีครั้งใหญ่ 2 ล้านล้านหยวน ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ปล่อยเงินคืนให้ประชาชนเป็นผู้กระตุ้น เขายอมแม้กระทั่งลดงบกลาโหม ผลคือ GDP กำลังจะแตะหลัก 100 ล้านล้านหยวน รายได้ต่อหัวกำลังจะเพิ่มเป็น 300,000 กว่าบาทต่อคน

แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยทำด้านภาษีกลับหัวกลับหางโดยสิ้นเชิง และยิ่งก่อปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่สุดท้ายไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ที่รับภาระจริงๆ กลายเป็นกลุ่มคนชนชั้นกลาง ที่ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ ไม่เหมือนกับมหาเศรษฐี , การขึ้นภาษีสรรพสามิตหลายรายการ ที่เป็นภาษีทางอ้อมซึ่งผลักภาระไปให้ผู้บริโภค หรือการรีดภาษีสินค้าออนไลน์จนฉุดรั้งตลาด และเปรียบเสมือนรีดเลือดจากปู ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ

“การขึ้นภาษีเหล่านี้นอกจากไม่เป็นธรรมแล้ว ยังขัดกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงขาลง เพราะเป็นการเอากำลังซื้อออกจากระบบ ดูดเงินที่เดือนร้อนอยู่แล้วของประชาชนออกจากการหมุนเวียน…สิ่งเดียวที่ท่านสร้างความเท่าเทียมได้สำเร็จคือ เจ๊งกันถ้วนหน้า”

นายจุลพันธ์ กล่าวถึง นโยบายชิมช้อปใช้ ซึ่งออกมาตรการเอาไปหักลดหย่อนภาษีได้ ว่าแม้จะถูกหลักการเศรษฐศาสตร์ แต่ไม่ตรงเป้า เนื่องจากคนได้รับประโยชน์คือคนมีฐานะหรือประมาณ 3 ล้านรายที่เป็นฐานภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ขณะที่คนจนอีกเกือบ 70 ล้านคนที่ไม่ได้มีรายได้ถึงฐานการเสียภาษี ไม่ได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีดังกล่าวเลย

“มาตรการนี้เทียบกับขนาดเศรษฐกิจไทย GDP 16.5 ล้านล้านบาทแล้ว มีสัดส่วนแค่ 0.12 % เท่านั้น เหมือนโรยเม็ดทรายลงไปบนชายหาด”

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แม้จะช่วยผ่อนภาระของประชาชนชั่วคราว แต่กลับไม่สามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง ไม่ได้สร้างกำลังซื้อใหม่ๆ สุดท้ายคนรับประโยชน์คือ “เจ้าสัว” รายใหญ่ เมื่อเงินในโครงการนี้ส่วนใหญ่ไหลไปสู่ธุรกิจของเขา

ประเทศไทยกำลังตกอยู่ใน “กับดักสภาพคล่อง” คือมีเงินสดในแบงก์มหาศาลแต่ไม่รู้จะไปใช้ที่ไหน คนจนจะกู้แบงก์ก็ไม่ให้เพราะโอกาสกลายเป็นหนี้เสียสูง คนรวยจะกู้ก็ไม่มีความเชื่อมั่น ถ้าสังเกตเวลาเกิด “กับดักสภาพคล่อง” พอเงินไหลเข้ามา ผู้คนเลือกที่จะไปออมกันหมด มากกว่าคิดจะใช้จ่ายหรือลงทุน และเป็นวังวนความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ท่านได้ก่อไว้

“ทุกคนรู้สึกถึงภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ที่น่าเศร้าคือเกือบทั้งหมดอยู่อย่างไม่มีความหวังกับการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลชุดนี้ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์”

นายจุลพันธ์ กล่าวแนะนำให้ไทยปรับเปลี่ยนแนวนโยบายจากเป้าหมายควบคุมกำกับเงินเฟ้อให้เปลี่ยนไปสู่การกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนแทน เช่น ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะสามารถทำให้การเติบโตของไทยอยู่ที่ 5-6% ต่อปีได้ไม่ยาก

ทางออกของปัญหาเศรษฐกิจ คือการยอมรับความจริง รัฐบาลต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะโคม่า นโยบายที่ออกมาผิดทิศผิดทาง และ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเลิกหลอกตัวเองและฟังเสียงของพี่น้องประชาชน

“ปัญหาปากท้องไม่ได้แก้ด้วยการหลอกตัวเอง 5 ปีที่ผ่านมาท่านติดนิสัยเผด็จการ ไม่ได้เรียนรู้เลยถึงกระบวนการประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเลย”

การแก้ระบบเศรษฐกิจนั้นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือ Trust and Confidence ซึ่งหมายถึงความไว้วางใจและความมั่นใจ โดยย้อนกลับไปเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือ ต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไม่ดี แต่เราได้นายกฯ ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร และภาคการเกษตรที่ค้าขายได้ค่อนข้างดี ท่านออกมาบอกให้ประชาชนใช้จ่ายอย่างปกติช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับนโยบายต่างๆ ในขณะนั้น สุดท้ายคนเชื่อ ช่วยกันจับจ่ายจนประเทศไทยผ่านวิกฤตช่วงนั้นมาได้อย่างรวดเร็ว

“สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ Trust and Confidence ความเชื่อถือเชื่อมั่นหมดลงไปตั้งแต่ตัดสินใจทำรัฐประหารแล้ว ท่านออกมาตรการอะไรขอความร่วมมือประชาชนมากแค่ไหน ขอให้เขาลงทุน เชื่อมั่นใช้จ่าย ไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครปฏิบัติตาม ตอนนี้หัวใจแห่งปัญหาเศรษฐกิจทั้งมวลคือตัวท่าน พล.ประยุทธ์ กุญแจดอกแรกที่จะแก้ปัญหาคือท่านต้องลาออกไปก่อน”