นพดล เสนอโรดแมป “การเมืองแห่งความรัก การเมืองแห่งความหวัง” (Politics of Love, Politics of Hope) เพื่อแก้ปัญหาและเดินหน้าประเทศอย่างเต็มศักยภาพ


นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญและสถานการณ์และการขับเคลื่อนประเทศว่าคนไทยส่วนใหญ่ประสบความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิดและเศรษฐกิจ และยังหาทางออกไม่เจอ หลายคนเดือดร้อนแสนสาหัส หลายคนสิ้นหวัง ตนขอเป็นกำลังใจ และอีกไม่นานต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ตนขอเสนอโรดแมปเพื่อออกจากวิกฤติ ด้วยแนวคิด“การเมืองแห่งความรัก การเมืองแห่งความหวัง” (Politics of Love, Politics of Hope) ให้ประเทศเดินหน้าอย่างมีสันติสุข กล่าวคือ


1.การเมืองแห่งความรัก (Politics of Love) ความปรองดองของคนในชาติเป็นเรื่องจำเป็นในการเดินหน้าประเทศอย่างเต็มศักยภาพ ที่ผ่านมาผู้นำการเมืองหลากหลายพูดกันมาตลอดว่าอยากเห็นความรักความสามัคคี แต่ไม่แก้เงื่อนไขที่ทำให้สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น เราต้องเร่งสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน เรื่องเร่งด่วน 3 เรื่องที่ต้องแก้เพื่อให้เกิดความปรองดองคือ

1)การมีกติกาการอยู่ร่วมกันที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม ด้วยการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งการจัดทำประชามติเพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

2) การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ ยิ่งผ่านไป่ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งเพิ่ม ในขณะนี้ยังไม่เห็นกระบวนทัศน์หรือนโยบายที่จะเผชิญความท้าทายนี้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิผล ผู้นำทางการเมืองและพรรคการเมืองทั้งหลายต้องสำเหนียกว่าปัญหานี้ดำรงอยู่ และต้องประดิษฐ์นโยบายมาบำบัดความทุกข์ยากให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโอกาส การเข้าถึงปัจจัยการผลิต เข้าถึงทุน เข้าถึงการศึกษาเป็นต้น

และ 3) การสร้างหลักประกันและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพองประชาชน ทำให้หลักนิติธรรมเป็นสิ่งที่ชาวบ้านสัมผัสได้ คนจะยากดีมีจนอย่างไรก็ตาม ความยุติธรรมคือที่พึ่งที่เข้าถึงได้เท่าเทียมกัน


2) การเมืองแห่งความหวัง (Politics of Hope) แม้ชีวิตจะลำบากแร้นแค้นเพียงใดก็ตาม เราต้องมีความหวัง ผู้นำทางการเมืองต้องสร้างและส่งมอบความหวังให้ประชาชนให้ได้ จึงจะเป็นการเมืองที่มีความหมาย และการเมืองแห่งความหวังอย่างแท้จริง นอกจากนั้น การเมืองแห่งความหวังจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้นำทางการเมืองและพรรคการเมืองทั้งหลาย รักษาคำสัญญาทางการเมือง และมีศักยภาพพอที่จะแปลงคำสัญญาให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ตนเห็นว่าผู้นำทางการเมืองและพรรคการเมืองควรสร้างและส่งมอบความหวังอย่างน้อย 4 เรื่องดังนี้

1) ความหวังในการสร้างรายได้ และฟื้นเศรษฐกิจประเทศ คนยากจนที่สุดควรมีหลักประกันรายได้ที่พอยังชีพ ฝ่ายการเมืองต้องปลดปล่อยศักยภาพตนเองออกมาเพื่อเร่งสร้างรายได้ให้ประชาชน ธุรกิจ และประเทศ เราจะเพิ่มศักยภาพให้คนไทยและประเทศไทยเพื่อสร้างรายได้อย่างไร ความแหลมคมของนโยบาย ประวัติในการผลักดันนโยบายจนสำเร็จ รวมทั้งการรักษาสัญญาที่ให้ไว้จะเป็นปัจจัยที่ประชาชนจะใช้ในการตัดสินใจว่าจะให้ใคร พรรคการเมืองใดมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าคนไทยในขณะนี้ สัญญาที่ว่างเปล่าจะเป็นปัจจัยที่หนักแน่นในการกาบัตร

2) ความหวังในการพลิกโฉมการศึกษาไทยไประดับโลก ต้องพลิกโฉมการศึกษาทั้งการสร้างโอกาส สร้างคุณภาพ สร้าง ”.หลักประกันการศึกษาคุณภาพถ้วนหน้า” ต้องหาฉันทานุมัติในการพลิกโฉมการศึกษาในทุกมิติ การสร้างทุนมนุษย์ของไทยเป็นทั้งเรื่องการสร้างโอกาส และการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ สังคมไทยบ่นเรื่องการศึกษามานาน ได้เวลาที่ต้องมีผู้นำไปพลิกโฉมการศึกษาเพื่อคนไทยให้ได้ ไม่ใช่งานง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้

3) ความหวังในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แข่งให้ถูกเรื่อง แข่งในเรื่องที่ไทยมีศักยภาพ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนาทุนมนุษย์ในทุกมิติ การสร้างระบบน้ำเพื่อผลิตอาหารปลอดภัยมูลค่าสูง สู่การเป็นมหาอำนาจการผลิตอาหารป้อนโลก การดำรงความมุ่งหมายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก การเพิ่มการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา เพื่อแข่งขันและสร้างมูลค่าของสินค้าและบริการ การเตรียมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความเป็นเลิศทางการแพทย์และการสร้างมูลค่าจากสมุนไพรไทย ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์ประเทศ รวมทั้งการใช้และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ตกขบวนเศรษฐกิจดิจิทัล

4) ความหวังในการพร้อมเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ Climate change เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่จะกระทบความอยู่รอดของมนุษย์ ปัญหาการเมือง เช่นเถียงกันว่าจะเอาระบบเลือกตั้งแบบไหน เป็นเรื่องที่เทียบไม่ได้เลยกับการถกเถียงเรื่องโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ เราต้องคิดระดับโลก แต่ช่วยกันทำที่บ้าน Think globally, Act locally. ผู้นำทางการเมืองและพรรคการเมืองทั้งหลายต้องตระหนักในเรื่องนี้ และเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว การกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้มาตรการทางราคาและภาษีเพื่อให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น เร็วขึ้น การเพิ่มพื้นที่ป่าขนานใหญ่ สร้างงาน สร้างอนาคตด้วยการปลูกไม้มีค่า การเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น


“ตนเชื่อว่าแต่นี้ไป จนถึงการเลือกตั้ง และหลังจากนั้น ประชาชนจะคาดหมายจากผู้นำทางการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆมากขึ้นว่า จะสามารถแก้ปัญหาของประชาชนและของประเทศได้หรือไม่ ทั้งความรู้และความสามารถ และประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ตนเชื่อว่าแนวทาง “การเมืองแห่งความรัก การเมืองแห่งความหวัง” (Politics of Love, Politics of Hope) จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสามารถแก้ปัญหาของคนไทยและเดินหน้าประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จต่อไป