‘เพื่อไทย’ ตอบข้อสงสัย-บันทึกข้อเท็จจริงการประชุม 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ปมไม่มีชื่อ ประวิตร-ธรรมนัส ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. นครราชสีมา และ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติไม่ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้นทำให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในพรรคเพื่อไทยจะ ‘มีดีล’ กับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ และมีความแตกแยกระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือเปล่านั้น
นายประเสริฐ ได้ชี้แจงผ่านเพจพรรคเพื่อไทย (16 ส.ค.) ถึงข้อเท็จจริงจากการประชุม 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ดังนี้ ในการประชุม 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้นมีการประชุมหารือตามขั้นตอนปกติว่า จะมีตัวแทนจากแต่ละพรรคใดเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประวิตร และ ร้อยเอกธรรมมนัส หรือไม่ โดยได้ถามย้ำกับสมาชิกจากพรรคก้าวไกล ในประเด็นดังกล่าวแล้วอย่างชัดเจน
พรรคก้าวไกลได้แจ้งที่ในประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านว่ากำลังพิจารณา แต่เบื้องต้นประเด็นและหลักฐานยังไม่พร้อมหรือมีหลักฐานมากเพียงพอ โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจร้อยเอกธรรมนัส จนถึงวันที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะลงมติและแถลงข่าวแก่พี่น้องสื่อมวลชนในวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น ก็ยังไม่มีการยื่นมติว่าจะขออภิปรายร้อยเอกธรรมนัสต่อพรรคร่วมฝ่ายค้านแต่อย่างใด
ส่วนกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประวิตรนั้น พรรคก้าวไกลได้เสนอว่ามีจะมีตัวแทนจากพรรคก้าวไกลเป็นผู้อภิปราย โดยกำลังรวบรวมหลักฐานและอาจจะขอเสนอชื่อให้ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านพิจารณา
แต่จนถึงช่วงค่ำของวันอาทิตย์ที่ 15 ส.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนจะมีการแถลงข่าวในเช้าวันที่ 16 ส.ค. ได้มีการเสนอจากพรรคก้าวไกลว่า สมาชิกพรรคก้าวไกลต้องการอภิปราย ดังนั้นที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงขอรายละเอียดเพื่อนำมาพิจารณาในที่ประชุม ซึ่งได้แก่ ความชัดเจนว่าจะอภิปรายในประเด็นใด , ให้เป็นประเด็นที่ไม่ซ้ำกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งที่ผ่านมา และ ให้การอภิปรายครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่ความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ของผู้ที่จะถูกอภิปรายในปัจจุบัน
แต่พรรคก้าวไกลไม่ได้ให้รายละเอียดและความชัดเจนที่มากเพียงพอ ที่ประชุมจึงสรุปยืนยันว่าจะอภิปรายนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีรวม 6 คน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความชัดเจนในการทำงานที่ผิดพลาดล้มเหลว 3 ประเด็น คือ 1)การบริหารจัดการโควิดที่ผิดพลาดล้มเหลว 2) ปัญหาเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องวิกฤตโรคระบาดโควิด 3) ปัญหาการคอร์รัปชันของกระทรวงต่างๆ ที่มีหลักฐานชัดเจน
แต่หากจะมีการอภิปรายรัฐมนตรีท่านอื่นที่เกี่ยวพันกับประเด็นดังกล่าว พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นร่วมกันว่าให้เปิดอภิปรายควบโยงกับนายกรัฐมนตรีได้ และหากต้องการเวลาเพิ่มเติม พรรคเพื่อไทยยินดีจัดสรรเวลาที่ต้องใช้ร่วมกันให้เพิ่มเติม รวมทั้งถ้ามีหลักฐานชัดเจน จะนำไปยื่น ป.ป.ช. ต่อตามกระบวนการที่เคยทำมา พรรคเพื่อไทยยินดีร่วมสนับสนุนด้วยการลงลายมือชื่อร่วมด้วย
ในเรื่องนี้ หนึ่งในตัวแทนพรรคก้าวไกลได้ชี้แจงไปแล้ว โดย ในเวลา 12.59 น. ของวันที่ 16 ส.ค. 2564 สำนักข่าวเดลินิวส์ ได้รายงานคำสัมภาษณ์ของ วิโรจน์ ลักขณาอดิสร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ โฆษกพรรคก้าวไกล ถึงกรณีไม่ปรากฏชื่อ พลเอกประวิตร และ ร้อยเอกธรรมนัส ในชื่อผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า … “ความไม่ชอบมาพากลเรื่องการบริหารงานในความรับผิดชอบ พลเอกประวิตร และ ร้อยเอกธรรมนัส มันก็มีเบาะแสร้องเรียนเข้ามา แต่ยังต้องใช้เวลารวบรวมหลักฐานให้ชัด มัดตัวให้ดิ้นไม่หลุด ไม่ได้หมายความว่า เราจะปล่อยปละละเลยข้อร้องเรียนของทั้งสองคน แต่แสดงให้เห็นว่า พรรคก้าวไกลเราทำงานไม่ได้มีอคติกับใคร”
เลขาธิการพรรคเพื่อไทยย้ำว่า กรณีดังกล่าวไม่ควรถูกใช้มาสร้างความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านแต่อย่างใด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านจะร่วมกันชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เป็นวาระสำคัญที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ บริหารจัดการวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ผิดพลาด จนประชาชนต้องติดเชื้อเกือบล้านคน เสียชีวิตหลายพันคนและอาจถึงหลักหมื่นคน อีกทั้งยังก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาซ้ำเติมความยากลำบากของพี่น้องประชาชน
และทิ้งท้ายว่าขอให้พี่น้องประชาชนติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ฟังการชี้แจงของรัฐมนตรีทั้ง 6 คนว่า บุคคลเหล่านั้นเห็นแก่ใคร เห็นแก่พี่น้องประชาชนที่ล้มตายหรือไม่