“เพื่อไทย” ชี้ เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ Stagflation แล้ว เหตุเงินเฟ้อเพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นแต่เศรษฐกิจไทยยังติดลบ แนะรัฐบาลต้องลดค่าใช้จ่ายประชาชนทุกด้าน ชง “ประยุทธ์” ชะลอการบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่รัฐจะจัดเก็บ 100% ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ลดภาระกองทุนน้ำมัน
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดเลย กรรมการบริหารและคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อนกันอย่างมากจากข้าวของที่แพง ค่าครองชีพที่สูงขึ้นเกือบทุกอย่าง แต่รายได้ไม่เพิ่ม แถมหลายคนยังตกงานไม่มีงานทำ ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมีงานทำ สาเหตุของราคาสินค้าที่แพงขึ้นหลายคนเชื่อว่า เกิดมาจากเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งก็เป็นความจริง โดยเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น สาเหตุมาจากเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในโลกได้ฟื้นตัวจากวิกฤตไวรัสโควิดอย่างรวดเร็ว และยังขยายตัวมากกว่าที่ตกลงมา เช่น สหรัฐขยายตัว 5.6% ในปี 2564 จากที่ติดลบ -3.5% ในปี 2563 ประเทศจีนขยายตัวถึง 8.1% ในปี 2564 จากปี 2563 ที่ขยายได้ 2.3% เกาหลีใต้ขยายตัวได้ 4% ในปี 2564 ในขณะที่ปี 2453 ติดลบ – 0.6% เป็นต้น แต่ในขณะที่ประเทศไทยกลับตรงข้าม เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวจากการวิกฤตไวรัสโควิดเลย การขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2564 ที่ผ่านมายังต่ำเตี้ยไม่ถึง 1% หลังจากที่ ปี 2563 ตกลงหนักถึง – 6.1% นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมคนไทยถึงลำบากกันทั้งประเทศ เพราะรายได้ลด แต่ข้าวของแพง
ทั้งนี้อยากตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ (Stagflation) อย่างเต็มรูปแบบแล้ว เพราะเศรษฐกิจไทย ขยายตัวได้ต่ำ มีเงินเฟ้อสูง อีกทั้งยังมีว่างงานสูง ซึ่งองค์ประกอบครบถ้วน และภาวะเศรษฐกิจนี้เป็นภาวะเศรษฐกิจที่แย่ที่สุดและน่ากลัวที่สุดตามหลักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งจะแก้ไขได้ยากมาก ต้องใช้เวลานานจึงจะแก้ไขได้ ขณะที่ผู้นำจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเศรษฐกิจอย่างดีและต้องแก้อย่างเป็นระบบ ถึงจะแก้ไขได้
ดังนั้นการที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คลัง บอกว่าเศรษฐกิจไทยดีแล้วจึงจะเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเต็ม 100% หรือเก็บเพิ่มอีก 10 เท่า จากที่เคยจัดเก็บเพียง 10% มาตลอด 2 ปี ทั้งที่จริงแล้วเพียงเพื่อไม่ต้องการนำเงินงบประมาณไปชดเชยรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากความผิดพลาดในการแก้ไขกฎหมายการหารายได้ของท้องถิ่นที่บิดเบี้ยวมาตั้งแต่ยุค คสช.โดยหลักควรเก็บจากฐานรายได้ เมื่อแก้ไขหลักการเป็นการเก็บภาษีจากมูลค่าทรัพย์สิน จึงเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รายได้ต่ำ แต่ต้องมาแบกภาระภาษีจากทรัพย์สิน รัฐบาลควรจะต้องขยายเวลาการจัดเก็บภาษีที่ดินเพียง 10 % ออกไปก่อน และเร่งปรับปรุงภาษีที่ดินและสิ่งให้เหมาะสมและเป็นธรรม ให้ทันใช้ในการจัดเก็บปีถัดไป
อีกทั้ง ความพยายามในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมัน แทนการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล น่าจะเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะเศรษฐกิจยังหนักหนาสาหัสอยู่ ดังนั้นจึง อยากเรียกร้องให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำม้นดีเซลอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน อีกทั้งยังช่วยไม่ให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ทั้งนี้ ราคาน้ำม้นได้พุ่งขึ้นใกล้ $90 ต่อบาเรลแล้ว ซึ่งจะทำให้กองทุนน้ำมันติดลบหนักน่าจะเดือนละกว่า 7 พันล้านบาท หรือ อาจจะมากขึ้นเรื่อยๆ การคาดว่าราคาน้ำม้นจะลดหลังจากหน้าหนาวอาจจะไม่เป็นจริงก็ได้ เพราะความไม่สงบในประเทศผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะประเทศในตะวันออกกลางอาจจะประทุขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันอาจจะสูงต่อไป ยิ่งบอกว่าจะรอจนถึง $100 ต่อ บาเรลก่อนน่าจะยิ่งงงเข้าไปใหญ่ เพราะถึงตอนนั้นลดภาษีสรรพสามิตอาจจะยังไม่พอด้วยซ้ำไป ดังนั้นจึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ได้พิจารณาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในทันที
ในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ พล.อ ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาลจะต้องทำทุกทางที่จะลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และ ภาคธุรกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้น การขึ้นภาษีและไม่ยอมลดภาษีจะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นกับประชาชน และจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจฟื้นช้าหรือไม่ฟื้นเลยก็เป็นได้ จึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ได้ศึกษาแนวคิดให้ดี