นายกฯ สั่งใช้ “ธวัชบุรี โมเดล” แก้ปัญหายาเสพติดประสบความสำเร็จ นำร่อง 10 จังหวัด
‘นายกฯ ลงพื้นที่ติดตามโมเดลบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดใน จ.ร้อยเอ็ด สั่งการ “ธวัชบุรี โมเดล” ใน 10 จังหวัดนำร่อง และให้กำลังใจผู้บำบัดฟื้นฟู เยี่ยมชมศูนย์ฝึกอาชีพ มีงานทำ ตั้งตัวได้ ลดการกลับไปเสพซ้ำ’
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เวลา 11.00 น. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางถึงท่าอากาศยานร้อยเอ็ด พร้อมออกเดินทางต่อสู่วัดบ้านเขวาทุ่ง ต.เขวาทุ่ง อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด เพื่อเป็นประธานการประชุมสั่งการโมเดลการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดและกำหนดเป็นพื้นที่นำร่องทั่วประเทศ โดยมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.อุบลราชธานี ชญาภา สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ร้อยเอ็ด กิตติ์ธัญญา วาจาดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.อุบลราชธานี เข้าร่วมประชุม โดยมีประชาชนมารอให้การต้อนรับอย่างเนื่องแน่น
ธวัชบุรีเป็นหนึ่งในชื่ออำเภอของจังหวัดร้อยเอ็ดที่ถูกนำมาใช้เป็นชื่อโครงการอย่าง “ธวัชบุรีโมเดล” จากความสำเร็จของการปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จนมาถึงในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เพราะปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ
โดยธวัชบุรีเป็นโมเดลที่ใช้ค่ายทหารในพื้นที่เป็นสถานที่สำหรับบำบัดยาเสพติดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีการดูแลผ่านการแพทย์แผนปัจจุบัน ใช้จิตแพทย์เป็นผู้บำบัดรักษา พร้อมทั้งมีศูนย์ฝึกอาชีพครบวงจร ที่ทำให้เมื่อบำบัดสำเร็จแล้วจะมีงานทำทันที สร้างรายได้ ลดการกลับสู่ยาเสพติด
จากการประชุมนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการสั่งการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยสั่งการเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
1.ใช้ธวัชบุรีโมเดลขยายผลการดำเนินการไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ตามภูมิภาค โดยมีจังหวัดนำร่อง 10 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ อุทัยธานี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ สกลนคร นครพนม ระยอง นครศรีธรรมราช ตรัง และนราธิวาส
2.ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจัดทำ Dashboard ในการอัพเดตข้อมูลและเป็นฐานข้อมูลกลางให้ทุกฝ่ายได้รับทราบข้อมูลร่วมกัน
3.ขอให้ตัดวงจรการค้ายาเสพติดรายสำคัญ ปฏิบัติการกวาดล้างผู้ค้าในพื้นที่แพร่ระบาด ยึด อายัดทรัพย์ เอาผิดอย่างจริงจังและเด็ดขาด
4.บำบัดรักษา ขอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ตำรวจ ทหาร ทำงานอย่างบูรณาการ เพิ่มสถานพยาบาลในการรองรับการบำบัดรักษาให้เพียงพอ
5.จัดให้มีการฝึกอาชีพ เพื่อไม่ให้เกิดกระบวนการกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ โดยขอให้ดำเนินการเรื่องศูนย์ฝึกอาชีพให้เพียงพอ
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้ติดตามการฝึกอาชีพและแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เข้ารับการบำบัด
เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติด ตามแนวทาง “คืนคนดี สู่สังคม” ขยายโอกาสทางการศึกษา เพิ่มพูน ฝึกฝนทักษะ สามารถเข้าถึงแหล่งทุน เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
โดยให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน การเสริมสร้างอาชีพถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ได้รับการบำบัด เสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง ให้พวกเขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตและอยู่ร่วมกับสังคม ป้องกันไม่ให้กลับไปสู่วงจรของยาเสพติด
รัฐบาลจริงจังและเด็ดขาดกับปัญหายาเสพติดเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดนำร่องทั้ง 10 จังหวัดนี้ จะต้องเป็นจังหวัดปลอดยาเสพติดหรือลดลงอย่างน้อย 90% ก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้
“สุดท้ายขอเน้นย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลจะจริงจังกับเรื่องปัญหายาเสพติด และรอวันที่ยาเสพติดจะหมดไปจากประเทศ ก็ขอเริ่มที่จังหวัดนำร่องทั้ง 10 จังหวัดนี้ก่อน แน่นอนว่าเราต้องพยายามทำให้ยาเสพติดลดลงอย่างน้อย 90% ขอให้ทุกคนลุยเต็มที่ในเรื่องนี้ อยากให้ประเทศของเราเป็นประเทศที่ปลอดยาเสพติด และเป็นประเทศสีขาวในทุกพื้นที่ไม่ใช่แต่เพียง 10 จังหวัดนำร่องเท่านั้น ต้องขอบคุณจังหวัดร้อยเอ็ดที่เริ่มต้นอย่างสวยงามและคิดว่าเมื่อจังหวัดอื่นๆ มองเห็นจังหวัดร้อยเอ็ด ก็เชื่อถึงความเป็นไปได้ว่าทุกพื้นที่ก็จะเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้เหมือนกัน” นายกฯ กล่าว
ทั้งนี้ ทีมงานนายกรัฐมนตรี ยังได้สรุปประชุมสั่งการโมเดลแก้ไขปัญหายาเสพติด ใช้ ‘ธวัชบุรี โมเดล’ เป็นแผนแก้ปัญหายาเสพติด พร้อมนำร่อง 10 จังหวัดทั่วประเทศดังนี้
1) ใช้ธวัชบุรีโมเดล ขยายผลการดำเนินการไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ตามภูมิภาค โดยเริ่มก่อนที่จังหวัดนำร่อง 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุทัยธานี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ สกลนคร นครพนม ระยอง นครศรีธรรมราช ตรัง และนราธิวาส
2) ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจัดทำ Dashboard อัปเดตข้อมูลและเป็นฐานข้อมูลกลางให้ทุกฝ่ายได้รับทราบข้อมูลร่วมกัน
3)ขอให้ตัดวงจรการค้ายาเสพติดรายสำคัญ ปฏิบัติการกวาดล้างผู้ค้าในพื้นที่แพร่ระบาด ยึด อายัดทรัพย์ เอาผิดอย่างจริงจังและเด็ดขาด
4) บำบัดรักษา ขอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ตำรวจ ทหาร ทำงานอย่างบูรณาการ เพิ่มสถานพยาบาลเพื่อรองรับการบำบัดรักษาให้เพียงพอ
5) จัดให้มีการฝึกอาชีพ เพื่อไม่ให้เกิดกระบวนการกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ โดยขอให้ดำเนินการเรื่องศูนย์ฝึกอาชีพให้เพียงพอ