‘นพดล’ วอนอย่าสร้างความกลัว ปม MOU44 ชี้ชัด กัมพูชาขุดน้ำมัน-ก๊าซขึ้นมาใช้ก่อนไม่ได้

‘นพดล’ ชี้ MOU44 เขียนชัด เจรจาแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาร่วม ต้องทำพร้อมกัน ยืนยันกัมพูชาไม่สามารถขุดน้ำมัน-ก๊าซขึ้นมาใช้ก่อนได้ ขออย่าสร้างความกลัวโดยไม่อยู่บนพื้นฐานของเอกสารและข้อเท็จจริง

[ไทยไม่เคยยอมรับเส้นไหล่ทวีปกัมพูชาลากผ่านเกาะกูด]

นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และสส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand กรณีที่หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี กก.บห. พรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเดียวกันว่า MOU44 เป็นสิ่งที่ชี้ว่าไทยยอมรับเส้นที่ประเทศกัมพูชาประกาศเป็นไหล่ทวีป  ซึ่งไม่เป็นความจริง  และยืนยันว่า ไทยไม่เคยยอมรับเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากผ่านมาทางเกาะกูด  และตาม MOU44   ไม่มีข้อความตอนใดที่เป็นการยอมรับ 

[MOU44 ต้องเจรจาทั้งเขตแดนทางทะเลและพัฒนาร่วม แยกจากกันไม่ได้]

นอกจากนี้ การที่หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์แสดงความกังวลว่าการไปตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กับกัมพูชา จะย้อนกลับมาผูกมัดเรื่องเขตแดนโดยปริยาย เช่น แบ่ง 50:50 เท่ากับยอมรับว่าแบ่งปันผลประโยชน์และเขตแดนกันคนละครึ่ง นั้น ไม่มีทางเป็นไปได้และไม่มีทางเกิดขึ้นนั้น

นายนพดล อธิบายว่า MOU44 เป็นตัวกำหนดให้กัมพูชาต้องเจรจาทั้งเขตแดนทางทะเล การปักปันเขตแดน รวมทั้งการพัฒนาร่วมไปพร้อมๆ กัน แยกจากกันไม่ได้ ดังนั้น การให้เหตุผลใดๆ ที่จะเป็นความสับสน เป็นผลร้ายต่อการดำเนินการ ต้องดูตามความจริงและเอกสาร และรัฐบาลนี้จะดำเนินการตามกรอบ MOU44 ข้อ 2 คือ ต้องเจรจาการแบ่งเขตทางทะเลกับการพัฒนาร่วมไปพร้อมกัน แยกจากกันไม่ได้  ไม่สามารถจะไปตกลงกันว่า น้ำมันและก๊าซนำมาใช้ก่อน คนละ 50:50 แล้วเรื่องเขตแดนไว้ทีหลังไม่ได้ ต้องทำพร้อมกันไป ดังนั้น ข้อสันนิษฐานนั้นจะไม่เกิดขึ้น อย่าวาดความกลัวให้คนไทยตระหนก เพราะมันจะไม่เกิดขึ้น” นายนพดลกล่าว

[การปักปันเขตแดน ต้องทำตาม กม.ระหว่างประเทศ]

นายนพดลกล่าวว่า ตามข้อ 3 ของ MOU44 บังคับไว้ด้วยว่า การปักปันเขตแดนหรือพื้นที่ทางทะเล จะต้องดำเนินการตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศ นี่คือจุดแข็งของ MOU44 กัมพูชาจะลากเส้นตามอำเภอใจไม่ได้   ต้องมานั่งคุยกันว่า ที่ถูกต้องในการประกาศเขตไหล่ทวีปต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

[ถ้าเจรจาไม่สำเร็จ ก็ไม่กระทบการอ้างสิทธิทะเลแต่ละฝ่าย]

นอกจากนี้ กรณีถ้าเจรจาไม่สำเร็จ มีข้อ 5 เขียนไว้ชัดเจนว่า เนื้อหาของ MOU และการดำเนินการตาม MOU จะไม่กระทบกระทั่งถึงการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละฝ่าย

[อย่าวาดความกลัว โดยไม่อยู่บนเอกสาร-ข้อเท็จจริง]

“ผมสงสัยว่าการไม่เห็นด้วยกับ MOU44 ไปสร้างความกลัวโดยไม่อยู่บนพื้นฐานของเอกสารและข้อเท็จจริง เอกสารล็อกไว้อยู่แล้วว่าในข้อ 5 ของ MOU44 ถ้าไม่กระทบ ก็ต้องมาเจรจากัน เป็น Agreement to negociate เป็นสัญญาในการให้คู่กรณีมาถกเถียงหาข้อยุติร่วมกัน  ซึ่งการตั้งคณะกรรมการใหม่ที่จะเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้   ก็จะยึดตาม MOU44 นี้ เพราะฉะนั้น นี่คือการปกป้องผลประโยชน์ของไทยที่ดีที่สุด” นายนพดลกล่าว