นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคี ผู้ก่อตั้ง WEF เสนอเป็นเจ้าภาพจัดประชุม WEF Special Meeting ปี 69 พร้อมหารือบังกลาเทศ เร่งเจรจา FTA ไทย – บังกลาเทศ เพิ่มสัดส่วนการค้า พร้อมเปิดงาน Thailand Receptionชวนลิ้มรสอาหารไทย ย้ำไทยกำลังพัฒนาภาคเกษตรกรรม ลงทุนนวัตกรรมเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรและอาหาร มั่นใจภาคเกษตรกรรมไทยจะยืดหยุ่น ยั่งยืน พร้อมสำหรับอนาคต
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ประจำปี 2568 (WEF Annual Meeting 2025: WEF AM25) ระหว่างวันที่ 20 – 25 มกราคม 2568 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส
22 มกราคม 2568 เวลา 09.00 น. (เวลาท้องถิ่น) ที่ศูนย์ประชุม Davos Congress Centre เมืองดาวอส นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับศาสตราจารย์ เคล้าส์ ชวาป ผู้ก่อตั้ง World Economic Forum (WEF) และประธานคณะกรรมการ ผู้ดูแลผลประโยชน์องค์กร (Chairman of the Board of Trustees) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบศาสตราจารย์ เคล้าส์ ชวาป อีกครั้ง ภายหลังที่พบกันในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียนที่เวียงจันทน์ พร้อมขอบคุณการเชิญเข้าร่วมการประชุม WEF ตนเองจะนำเสนอ “Soft power” ไทยในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ ไทยและ WEF เป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งร่วมกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งไทยพร้อมที่จะขยายความร่วมมือกับ WEF อย่างต่อเนื่องในด้านที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
ศาสตราจารย์ เคล้าส์ ชวาป ยินดีที่ได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรี WEF มั่นใจไทยมีศักยภาพพร้อมขยายความร่วมมือผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับ WEF ได้อีกมาก โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี การเกษตร และอาหาร
ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของประเทศผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ผ่าน Forum ของ WEF ในปีนี้ นอกจากนี้ ไทยสนใจที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม WEF Special Meeting ในปี 2569 และความเป็นไปได้ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Young Global Leaders’ Summit เพื่อเสริมพลังเยาวชน ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อเสริมสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่ บ่มเพาะความคิดใหม่ ๆ และสร้างนวัตกรรมในระดับโลก
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญศาสตราจารย์ เคล้าส์ ชวาป ร่วมเป็น keynote speaker ในการประชุม ACD High-level Conference on Global Architecture ในเดือนพฤษภาคม 2568 ที่จังหวัดภูเก็ตด้วย
เวลา 10.15 น. (เวลาท้องถิ่น ) นายกรัฐมนตรีแพทองธาร หารือกับศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณที่มีโอกาสได้พบกับศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ โดยไทยและบังกลาเทศมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ โดยบังกลาเทศเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียใต้ เป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพ ซึ่งภาคเอกชนไทยหลายบริษัทเข้าไปลงทุนในบังกลาเทศเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการเร่งขับเคลื่อนการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับบังกลาเทศ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน โดยมีเป้าหมาย มูลค่าการลงทุนประมาณ 2,000ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลแสดงความมั่นใจว่า ไทย-บังกลาเทศ จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยชื่นชมที่ไทยประสบความสำเร็จในการนำแนวคิด micro finance ไปปรับใช้โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน แก่ผู้มีรายได้น้อยให้มีอาชีพและชีวิตที่ดีขึ้น
ไทยและบังกลาเทศ ยังมีแนวทางสอดคล้องกันในการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้มีบทบาททั้งเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เพื่อให้ประเทศและสังคมมีความเข้มแข็ง รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตได้
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเชิญประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาล เป็นผู้บรรยายพิเศษ ในการประชุม Young Gen Forum ที่ไทยจะจัดในห้วงการประชุม BIMSTEC Summit ครั้งที่ 6 ในวันที่ 4 เมษายน 2568 ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเชื่อว่า จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ก่อนจะส่งมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC ให้แก่บังกลาเทศ โดยเชื่อมั่นว่า ภายใต้ตำแหน่งประธาน BIMSTEC บังกลาเทศจะมีบทบาทสำคัญในการขยายความร่วมมือต่างๆ ในภูมิภาคต่อไป
เวลา 12.00 น. (เวลาท้องถิ่น ) ที่ Plenary Hall Lobby ศูนย์ประชุม Congress Center เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ขึ้นกล่าวเปิดงาน Thailand Reception ในห้วงของการประชุม World Economic Forum ประจำปี ค.ศ. 2025 (WEF Annual Meeting 2025) นายจิรายุ สรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้มีโอกาสมาเยือนเมืองดาวอส พร้อมทั้งขอบคุณพันธมิตรไทยที่ให้การสนับสนุนการจัดงาน Thailand Reception ในครั้งนี้
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำถึงความงดงามและจิตวิญญาณของประเทศไทย ตลอดจนความแข็งแกร่งของไทย ทั้งในด้าน Soft Power เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงอาหารไทย ซึ่งมีชื่อเสียงด้านความหลากหลายและรสชาติที่ลงตัว อีกทั้งแฝงไปด้วยภูมิปัญญาและความพิถีพิถันของบรรพบุรุษ ซึ่งนำมาต่อยอดผสมผสานความทันสมัยและนวัตกรรม เพื่อรองรับความต้องการด้านอาหารที่หลากหลายในโลก ซึ่งไทยมุ่งมั่น “หล่อเลี้ยงอนาคตสำหรับทุกคน”
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า อาหาร ไม่เพียงแต่เป็นการบำรุงร่างกาย แต่ยังเป็นการเพิ่มพลังให้กับการใช้ชีวิต (medicine for the soul) และสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของคนไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณเชฟและทีมงานจากมูลนิธิ Chef Cares ประเทศไทย ที่มีส่วนร่วมในการจัดเตรียมอาหารในวันนี้ พร้อมเชิญชวนผู้เข้าร่วมงานร่วมเดินทางสัมผัสประสบการณ์กับการรับประทานอาหารไทย ซึ่งไม่เพียงแค่การลิ้มรส แต่ยังได้เข้าถึงแก่นแท้ของ ความเป็นไทย และความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย ทั้งแร่ธาตุในดินและสมุนไพรมากมาย ซึ่งทำให้วัตถุดิบต่างๆของไทยมีคุณภาพสูง มีประโยชน์ด้านสุขภาพ เช่นเมนูต้มยำกุ้งของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การ UNESCO ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ สะท้อนว่าอาหารไทยไม่เพียงอร่อย แต่ยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ประเทศไทยกำลังพัฒนาในภาคเกษตรกรรม โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI, หุ่นยนต์ และการเกษตรแม่นยำ เพื่อเพิ่มคุณภาพ ลดขยะ และเพิ่มผลผลิต โดยไทยกำลังลงทุนในนวัตกรรมเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรและอาหาร (agri-food tech innovations) เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ภาคเกษตรกรรมของไทยจะมีความยืดหยุ่น ยั่งยืน และพร้อมสำหรับอนาคต
นอกจากนี้ไทยยังพร้อมเป็นผู้นำในการพัฒนาธุรกิจด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในระดับโลก พร้อมเชิญชวนให้ผู้ลงทุนพิจารณาไทยเป็นจุดหมายปลายทางในการลงทุน เนื่องจากประเทศไทยเต็มไปด้วยโอกาสและศักยภาพทางเศรษฐกิจ “ลงทุนในประเทศไทย ลงทุนในอนาคต” เริ่มต้นการเดินทางที่น่าจดจำไปด้วยกัน นายกรัฐมนตรีกล่าว
#พรรคเพื่อไทย #WEF2025 #Davos2025