ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อไทยถึงกมธ.ร่างรธน.
การรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยต่อ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
1. สมาชิกพรรคเพื่อไทย ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดย อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
ทั้งทางข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ไม่ใช่เป็นของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ
2. “ควรมีการทำประชามมติรัฐธรรมนูญ”
รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกติกาสูงสุดในการปกครองประเทศ จะต้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทั้งกระบวนการยกร่างและการให้ความเห็นชอบ
ด้วยการออกเสียงประชามติ ที่สำคัญ
เพื่อเคารพหลักการ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” คนไทยผู้เป็นเจ้าของประเทศ
จึงควรเป็นผู้ตัดสินใจเลือกและยอมรับกติกาที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม และหากประชาชนไม่ผ่านความเห็นชอบ
ก็ควรมีการนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับใช้ทันที
และเปิดให้มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในระหว่างที่นำร่างรัฐธรรมนูญ ปี
2540 มาใช้
3. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ต้องยึดหลักการประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง กำหนดแนวทางในการอยู่ร่วมกันของประชาชนชาวไทยที่เป็นธรรมและยั่งยืน
วางกลไกบริหารจัดการประเทศที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ
องค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ภายใต้หลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล สร้างดุลและระบบตรวจสอบที่เหมาะสมต่อทุกองค์กรที่ใช้อำนาจดังกล่าวโดยประชาชนมีส่วนร่วม
คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน
สร้างความยุติธรรมและความปรองดองสมานฉันท์ที่เป็นรูปธรรม
มีแนวทางการปฏิรูปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปดำเนินการได้โดยคล่องตัว สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศเพื่อให้เกิดสันติสุขและเกิดการพัฒนาได้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ
และไม่สืบทอดอำนาจของกลุ่มที่ไม่ปรารถนาประชาธิปไตย
4. สมาชิกพรรคเพื่อไทยเห็นว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ไม่ได้มีสาเหตุมาจากระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นปัญหาของบุคคลที่อยู่ในองค์กรต่างๆ
ที่ไม่เคารพกติกา และไม่เคารพในหลักการประชาธิปไตย
5. ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้น มีลักษณะไม่เชื่อถือ
ไม่ไว้วางใจประชาชนและยึดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน
6. ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้น ออกแบบให้ฝ่ายบริหารเป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ วางกลไกการบริหารจัดการประเทศที่รังแต่นำไปสู่ความล้มเหลวและความขัดแย้ง
ไม่สามารถบริหารประเทศ ไม่สามารถแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนได้ ขาดความน่าเชื่อถือในเวทีการเจรจาระหว่างประเทศ
7. รัฐธรรมนูญที่ดี ต้องมุ่งสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
สร้างโอกาสให้ประชาชน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
และไม่สร้างเงื่อนไขอันจะนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นใหม่
8. รัฐธรรมนูญที่ดี ต้องไม่มีวาระซ่อนเร้น
เพื่อมุ่งสืบทอดอำนาจของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใด แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจัดทำขึ้นกลับมีลักษณะที่ทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าใจว่า
เป็นการขยายอำนาจและมุ่งสืบทอดอำนาจต่อไปอย่างมาก โดยการสถาปนาองค์กรใหม่ๆ ขึ้น
เพื่อให้สมาชิกของกลุ่มตนเข้ามาทำงานและขยายบทบาทในภายหลังที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว
9. หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ
ต้องกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกตั้งผู้แทนโดยตรง และผู้นำฝ่ายบริหารต้องมาจากตัวแทนที่ประชาชนเลือกเท่านั้น
“การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งที่สังคมไทยคุ้นเคย
เข้าใจดีและไม่มีปัญหา”
มีแต่จะยิ่งสร้างความยุ่งยากและทำให้การเลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้แทนของประชาชนมีปัญหาและไร้ประสิทธิภาพ
10. การกำหนดให้มีกลุ่มการเมืองควบคู่ไปกับพรรคการเมืองในกระบวนการเลือกตั้ง
เป็นเจตนาที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะหยุดยั้ง และลดทอนพัฒนาการของระบบพรรคการเมือง
เพื่อมุ่งให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ถือว่าไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย
11. รัฐธรรมนูญต้องเปิดโอกาสให้บุคคลมีสิทธิรับเลือกตั้งได้อย่างกว้างขวาง
ไม่สร้างข้อจำกัดที่ไร้เหตุผล
เพียงเพื่อต้องการกำจัดคู่แข่งหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองบางฝ่าย
ความพยายามตัดสิทธิพรรคการเมืองบางพรรค
และนักการเมืองบางฝ่าย ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติไว้
เพื่อให้ขาดคุณสมบัติในการเลือกตั้ง จึงไม่ถูกต้อง
12. ที่มาและอำนาจ ส.ว.
ตามร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำขึ้นมีปัญหา เพราะ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง
ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่กลับมีอำนาจเหนือองค์กรใดๆ
สามารถเห็นชอบและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้ เสนอพระราชบัญญัติได้ ให้ความเห็นชอบการเสนอชื่อแต่งตั้งรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีได้ก่อนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ
13. การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจาก
ส.ส. ซึ่งเป็นการไม่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
และเป็นการลบล้างการต่อสู้ของประชาชนและการตกผลึกของประชาธิปไตย
14. ต้องมีระบบและกลไกในการควบคุมการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ
ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและชอบธรรม
เพื่อป้องกันการตีความรัฐธรรมนูญในทางขยายอำนาจให้ตน
และป้องกันการขยายอำนาจจนกลายเป็น “ซูเปอร์องค์กร”
15. หลักการของรัฐธรรมนูญต้องอยู่บนพื้นฐานที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ไม่ควรกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากเกินไป
จนต้องใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญมาทำการฉีกรัฐธรรมนูญอีก
สมาชิกพรรคเพื่อไทยเสนอให้มีบทบัญญัติห้ามนิรโทษกรรมผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญ
เหมือนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2517 และให้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
สรุป
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ตอบสนองความคาดหวัง แต่เน้นการสร้างวาทกรรมและองค์กรใหม่มากมาย
ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ การทำงานมีความซ้ำซ้อน
เป็นองค์กรครอบงำหรือสืบทอดอำนาจเพื่อควบคุมกำกับการบริหารราชการแผ่นดิน
ฝ่ายบริหารถูกออกแบบให้อ่อนแอ ซึ่งจะมีผลทำให้การบริหารราชการแผ่นดิน
ไม่สามารถตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ แทนที่จะสร้างความปรองดองและการปฏิรูป
กลับจะนำไปสู่ความขัดแย้งยิ่งกว่าเดิม จึงควรทำประชามติเพื่อให้ประชาชน
มีโอกาสได้ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบ ยิ่งถ้ายังพยายามคงหลักการและกลไกของร่างรัฐธรรมนูญนี้ไว้ก็ยิ่งต้องทำประชามติ.
15 พฤษภาคม 2558