พท.แถลงการณ์ เรียกร้องแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ให้สอดคล้องหลักการประชาธิปไตย

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย เรื่อง การจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ 

          ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย และต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับ โดยมีข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติอย่างเข้มงวด และยังเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ตีความได้ทุกกรณีตามอำเภอใจ เพื่อเอาผิดกับผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ประกอบกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารอย่างกว้างขวางในการควบคุมตัว ค้นและจับกุมตัวบุคคลได้โดยไม่ต้องมีหมายจับของศาล ส่งผลให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญถูกจำกัดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ว่ากรณีของนายวัฒนา เมืองสุข ที่ถูกทหารควบคุมตัวด้วยสาเหตุเพียงแค่แสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ กรณีอาจารย์มหาวิทยาลัยที่แสดงความเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ถูกข่มขู่ที่จะใช้มาตรการทางกฎหมายดังกล่าวดำเนินการ รวมถึงการแถลงของนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้มีการควบคุมพลเรือนจำนวนประมาณ 10 คน ซึ่งอยู่ในกลุ่มกิจกรรมเฟสบุ๊คไปไว้ในค่ายทหาร โดยอ้างว่าผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ยังไม่รวมถึงการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ได้ให้สัมภาษณ์ในลักษณะข่มขู่ห้ามการแสดงความเห็น หรืออภิปรายข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญอยู่อย่างต่อเนื่องด้วย นั้น 
 พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น คือ การนำร่างรัฐธรรมนูญไปขอความเห็นชอบจากประชาชน ซึ่งการตัดสินใจเพื่อแสดงความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบโดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นการตัดสินใจว่าจะให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดเพื่อใช้ในการปกครองประเทศหรือไม่ การออกเสียงประชามติดังกล่าวจึงมีความสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่ง 
         ดังนั้น การออกเสียงประชามติจึงต้องเป็นไปด้วยความถูกต้อง ชอบธรรม โปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรมทุกขั้นตอน ประชาชนต้องมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงและความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญจากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ ทั้งต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนมีโอกาสที่จะรับฟังการอภิปรายถึงข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการออกเสียงประชามติที่ต้องให้ประชาชนได้ทราบเนื้อหา ผลดีและผลเสียของร่างรัฐธรรมนูญให้มากที่สุดก่อนที่จะตัดสินใจลงคะแนนออกเสียงยอมรับหรือไม่ยอมรับกติกาดังกล่าว ซึ่งถือเป็นหลักการสากลในการทำประชามติ 
        เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 แล้ว พรรคเพื่อไทยเห็นว่า แม้มาตรา 7 จะให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติไว้ แต่มาตรา 61 ของกฎหมายฉบับนี้กลับกำหนดข้อห้ามที่เข้มงวด ขัดต่อหลักการในมาตรา 7 เสียเอง และยังกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้สูงมาก โดยให้จำคุกถึง 10 ปี นอกจากนี้เนื้อความของกฎหมายยังเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจตีความการกระทำของบุคคลได้อย่างกว้างขวาง จนยากจะเข้าใจได้ว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ การจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนในการให้ความเห็นและเผยแพร่ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว นอกจากจะเป็นการปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลของประชาชนแล้ว ยังเป็นการใช้มาตรการทางกฎหมายแบบเผด็จการ เพื่อจำกัดสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน อันขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 4 เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันกลับให้อำนาจแก่รัฐในการที่จะใช้กลไกในระบบราชการทุกรูปแบบเพื่อเข้าถึงประชาชนในการให้ข้อมูลด้านเดียวเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติ ซึ่งแม้จะอ้างว่าเพื่อชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ แต่โดยพฤตินัยแล้วก็คือการชี้นำให้มีการรับร่างรัฐธรรมนูญนั่นเอง อนึ่ง คำข่มขู่ของพลเอกประยุทธ์ฯ และพลเอกประวิตรฯ ต่อประชาชนที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง ได้สร้างความหวาดกลัว และปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน จนไม่มีประโยชน์อันใดที่จะทำประชามติในลักษณะเช่นนี้ 
          ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดังกล่าว องค์กรทั้งในและต่างประเทศ ต่างได้แสดงความเป็นห่วงถึงการออกเสียงประชามติที่ถูกปิดกั้นครั้งนี้อย่างกว้างขวาง รวมถึงเรียกร้องให้มีการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR), สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF), มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw), ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR), สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย เป็นต้น 
         พรรคเพื่อไทยจึงเรียกร้องมายัง คสช. ดังต่อไปนี้ 
1. รัฐบาล และ คสช. ต้องแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2559 ในมาตรา 7 และมาตรา 61 ให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้วิพากษ์วิจารณ์ อภิปรายแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความคิดเห็นของตน ไม่ว่าจะในทางเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ หากเป็นไปโดยสุจริตและในทางวิชาการ นอกจากนั้น คสช. ต้องแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่ง และ/หรือประกาศของหัวหน้า คสช. หรือ คสช. ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนที่เป็นไปโดยสุจริตและในทางวิชาการ 
 2. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องรีบเผยแพร่ระเบียบปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 โดยระเบียบดังกล่าวต้องยึดเจตนารมณ์ตามมาตรา 7 เป็นสำคัญ และให้ถือว่าการแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความคิดเห็นของบุคคลโดยสุจริตและในทางวิชาการ เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย 
 ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกมา สะท้อนความต้องการอันแท้จริงของประชาชน ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และจะไม่นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกอีกต่อไป 

   พรรคเพื่อไทย 
28 เมษายน 2559