เพื่อไทย จี้ รัฐบาล-คสช. แก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อเปิดกว้างรับฟังความเห็นของประชาชน
คำแถลงพรรคเพื่อไทย
เรื่อง ขอให้แก้ไขเพิ่มเติม
พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559
ตามที่กลุ่มวิชาชีพต่างๆ ในสังคมไทยได้ร่วมกันเรียกร้องให้กระบวนการทำประชามติต้องเปิดกว้าง มีการรับฟังความคิดเห็นต่างๆ อย่างรอบด้าน ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพที่จะแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และเผยแพร่รณรงค์ความเห็นของตนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญได้โดยเสรี ภายใต้กฎหมายปกติที่มีอยู่ และต่อมาพรรคเพื่อไทยได้เรียกร้องให้รัฐบาลและ คสช.ดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เนื่องจากเห็นว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดว่า จะยอมรับร่างรัฐธรรมนูญให้มีผลบังคับใช้ในการปกครองประเทศหรือไม่ ขณะเดียวกันกลับให้อำนาจคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเผยแพร่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
ด้วยข้อเรียกร้องของพรรคเพื่อไทยกับความเห็นของหลายภาคส่วน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏว่าขณะนี้ยังไม่มีเสียงตอบรับจากรัฐบาลและ คสช. แต่อย่างใด พรรคเพื่อไทยเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ผ่านมา ซึ่งมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ก็ได้รับรองเสรีภาพดังกล่าวไว้ทำนองเดียวกัน
พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ได้วางหลักการไว้ในมาตรา 7 ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งในส่วนของ กรธ. กรรมการ อนุกรรมการและเจ้าหน้าที่ของ กรธ. มาตรา 10 เปิดโอกาสให้ กรธ.สามารถเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบัญญัติและสาระของร่างรัฐธรรมนูญได้โดยเสรี และไม่ให้ถือว่าการดำเนินการใดๆ ของ กรธ.ฯลฯ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง
ในกรณีของประชาชน มาตรา 61 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ “ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” และได้บัญญัติต่อไปว่าการก่อความวุ่นวายฯ นั้น หมายถึงการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียงในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือช่องทางอื่นใดที่ 1) ผิดไปจากข้อเท็จจริง 2) มีลักษณะรุนแรง 3) ก้าวร้าว 4) หยาบคาย 5) ปลุกระดม 6) ข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง โดยมีโทษจำคุกถึง 10 ปี
การบัญญัติในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น เห็นได้ชัดว่าก่อให้เกิดความคลุมเครือ เจ้าหน้าที่สามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้การแสดงถ้อยคำหรือข้อความที่เป็นคำหยาบต่อบุคคลซึ่งเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้านั้น ตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นเพียงความผิดลหุโทษ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนเท่านั้น จึงเป็นการบัญญัติกฎหมายที่ประหลาด เพราะถ้ามีการใช้คำหยาบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการร่างและเผยแพร่รัฐธรรมนูญ อาจถูกจำคุก 10 ปีได้ และถ้ามีการตั้งฉายาที่เป็นคำหยาบต่อร่างรัฐธรรมนูญ ก็อาจถูกจำคุก 10 ปีได้เช่นกัน ตรงกันข้ามถ้าใช้คำหยาบต่อผู้ร่างกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะผิดแค่ลหุโทษ และใช้คำหยาบตั้งฉายาร่างกฎหมายต่างๆ ก็จะไม่มีความผิดใดเพราะร่างกฎหมายไม่ใช่บุคคล การอ้างว่าไม่ต้องการให้ประชาชนใช้คำหยาบ จึงไม่ใช่ด้วยการใช้วิธีเอาผิดกรณีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
ยิ่งกว่านั้น ในการเผยแพร่ของ กรธ. และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ถ้าไม่ใช่การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบัญญัติและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ แต่มีเจตนาพิเศษมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงออกเสียงในทางสนับสนุน ด้วยการกระทำที่มีลักษณะ 6 ประการข้างต้น เช่น มีลักษณะรุนแรง ปลุกระดม ข่มขู่ หรือใช้คำหยาบคายกับผู้ไม่เห็นด้วย จะถือเป็นการกระทำที่ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยความเรียบร้อย และเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 61 ซึ่งมีโทษจำคุก 10 ปี เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปหรือไม่
การจำกัดเสรีภาพประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยบทบัญญัติมาตรา 61 ดังที่กล่าวมา ขณะเดียวกันมาตรา 10 กลับให้ กรธ. และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง สามารถกระทำการใดๆ ได้มากมาย ซึ่งหากใช้วิธีการที่ผิดตามมาตรา 61 จะถือเป็นการกระทำผิดหรือไม่ ก็ไม่แน่ชัด นั้น นอกจากจะขัดต่อกติการะหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวข้างต้นแล้ว จะมีผลโดยตรงต่อการไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญในอนาคตในกรณีที่แม้จะผ่านประชามติก็ตาม
พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า ทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ให้เกิดความชัดเจน เป็นธรรม สอดคล้องกับหลักสากลในการทำประชามติ ให้ทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็น รวมทั้งการรณรงค์เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติครั้งนี้ได้อย่างเต็มที่ เมื่อประชาชนทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญได้แสดงออกอย่างเต็มที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ผลของประชามติจะออกมาอย่างไร ก็จะได้รับการยอมรับ หากปล่อยให้สภาพการณ์เป็นอยู่ดังเช่นปัจจุบัน จะมีแต่ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น
อนึ่ง พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ในขณะที่ทุกฝ่ายต้องการบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้วิจารณญาณของตนอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจเลือกอนาคตของประเทศ และของประชาชนทุกคน
รัฐบาลและกลไกของผู้มีอำนาจต่างๆ ควรระมัดระวังมิให้เกิดเหตุการณ์อันจะนำไปสู่การตีความหรือเกิดความหวาดระแวงว่า รัฐกำลังใช้อำนาจหรือกำลังของตนเข้าคุกคามผู้มีความเห็นต่างจนทำให้เกิดความหวาดกลัว อันจะมีผลกระทบไปสู่การทำประชามติ และการยอมรับผลประชามติในอนาคต
พรรคเพื่อไทย
13 พฤษภาคม 2559