“เพื่อไทย” ส่ง 9 แกนนำพรรคถกวงปรองดอง 8 มี.ค.
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่พรรคเพื่อไทย (พท.)
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายชูศักดิ์ ศิรินิล
ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย
ร่วมแถลงข้อหารือเบื้องต้นในการส่งตัวแทนพรรคฯเข้าร่วมเวทีปรองดองของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง
ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย
กล่าวว่า
เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยได้ประสานกับทางสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเพื่อเข้าร่วมพูดคุยและเสนอแนะแนวทางปรองดองในวันที่
8 มีนาคม เวลา 09.00 -12.00 น. ในส่วนของบุคคลที่จะเข้าร่วม ประกอบด้วยคนที่พรรคแต่งตั้งขึ้นมาดูแลเรื่องปรองดอง
และส่วนที่เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคและที่ปรึกษา อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์
รักษาการหัวหน้าพรรค นายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองหัวหน้าพรรค นายโภคิน พลกุล
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา นายชัยเกษม นิติสิริ
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายนพดล ปัทมะ
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายจาตุรนต์ ฉายแสง
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งตนและนายชูศักดิ์ อย่างไรก็ตาม
ในส่วนของวันและตัวบุคคลอาจมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากบางส่วนอาจติดภารกิจอยู่ต่างประเทศหากมีความชัดเจนจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า
มองว่าการระดมทุกฝ่ายมาพูดคุยจะเป็นประโยชน์ในการหาทางออกวิกฤตให้ประเทศ
หากจะให้ปัญหาคลี่คลายขอให้รัฐบาลแสดงความจริงใจ
และต้องชัดเจนว่าจะเข้าสู่บรรยากาศปรองดอง และควรยอมรับความเห็นต่างในการหาทางออกความขัดแย้งอย่างสันติวิธี
ไม่ใช่เปิดเวทีปรองดองแต่สังคมกลับมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่
และจากนี้ไปจะหารือในหมู่ผู้บริหารพรรคเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่าจะมีการเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ รวมทั้งคุณหญิงสุดารัตน์
เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและแกนนำพรรคเพื่อไทย
เป็นตัวแทนหารือวงปรองดองหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า
จะขอหารือและประสานไปอีกครั้ง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล
ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ส่วนคำถาม 10 ข้อ
ที่จะหารือในวงปรองดองนั้นสิ่งที่จะนำไปแสดงความเห็นในเวทีปรองดอง เช่น
1.ต้องมีหลักความเป็นกลาง 2.มีความเป็นอิสระ คณะทำงานที่มาพูดคุย
3.ความสามัคคีปรองดองจะเกิดได้ต้องค้นหาความจริงและเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย
ต้องหาความจริงของเหตุความขัดแย้งทั้งหมดและตีแผ่ให้สังคมรับทราบ
4.ความสามัคคีปรองดองจะเกิดขึ้นได้
ต้องไม่มีการสร้างข้อจำกัดหรือตั้งเงื่อนไขในการพูดคุย
5.ไม่สร้างปัญหาความขัดแย้งให้เกิดขึ้นใหม่
6.ผลสรุปของแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองควรเป็นความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย
มิใช่เกิดจากการออกคำสั่งหรือตรากฎหมายขึ้นบังคับ ซึ่งความเห็นนี้คงจะนำเสนอในเวทีพูดคุยต่อไป
ที่มา : http://www.matichon.co.th/news/471084
21 ก.พ. 60