แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย เรื่อง ความเห็นต่อร่างสัญญาประชาคมและกระบวนการสร้างความปรองดอง
แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย
เรื่อง
ความเห็นต่อร่างสัญญาประชาคมและกระบวนการสร้างความปรองดอง
ของรัฐบาลและ คสช.
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 3/2560
แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ
และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) และต่อมาได้มีคำสั่งที่ 7/2560
แต่งตั้งคณะกรรมการย่อยในคณะกรรมการ ป.ย.ป. รวม 4 ชุด ซึ่งรวมถึง
คณะกรรมการเตรียมการเพื่อการสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยคณะกรรมการชุดนี้
ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ เพื่อจัดทำสัญญาประชาคม
และต่อมาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ได้มีการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อชี้แจงร่างสัญญาประชาคมดังกล่าว
มีข้อสรุปรวม 10 ข้อนั้น
พรรคเพื่อไทยได้ติดตามการดำเนินการของคณะกรรมการ
ป.ย.ป. และคณะกรรมการย่อย ในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด และได้ออกแถลงการณ์
พร้อมทำหนังสือ รวมถึงเสนอความเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ ไปหลายครั้ง เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกระบวนการสร้างความปรองดอง
ในรูปแบบดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า
กระบวนการสร้างความปรองดองตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีนั้น
ไม่สามารถที่จะนำไปสู่การสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่เป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง
เนื่องจากคณะกรรมการที่มาทำหน้าที่สร้างความปรองดองล้วนมาจากฝ่ายการเมือง
ข้าราชการระดับสูง และกองทัพ ทั้งหมด
โดยพรรคเพื่อไทยได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระที่มาจากทุกภาคส่วนเป็นผู้ดำเนินการ
และเสนอให้มีการศึกษาถึงต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งอย่างแท้จริงเพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขที่ถูกต้อง
และได้เสนอว่าการจะสร้างความปรองดองนั้นจะต้องสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นประชาธิปไตย
เปิดโอกาสให้ประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี
เมื่อพิจารณาจากร่างสัญญาประชาคมทั้ง 10 ข้อแล้ว
เห็นว่า
1.
มีเนื้อหาที่ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหรือนำไปสู่การสร้างความสามัคคีปรองดองแต่อย่างใดเลย
เป็นเพียงคำแนะนำสำหรับประชาชนหรือกำหนดหน้าที่ประชาชนคนไทยในการใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้น
ไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาจากฝ่ายกองทัพ องค์กรในกระบวนการยุติธรรม
และองค์กรอิสระที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุปัญหาความขัดแย้งว่าจะปฏิบัติหน้าที่ของตนตามกฎหมาย
อย่างเคร่งครัด
และจะไม่ใช้อำนาจไปก้าวก่ายแทรกแซงในทางการเมืองไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ หรือ
มีข้อสัญญาว่าจะดำรงความยุติธรรมด้วยความถูกต้องเที่ยงธรรมไม่เลือกปฏิบัติ เป็นต้น
2. ไม่ได้มีการศึกษา วิเคราะห์
ต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งที่แท้จริง สิ่งต่างๆ ที่พรรคเพื่อไทย
ได้เสนอเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง อันจะนำไปสู่การสร้างความปรองดอง
ก็ไม่ได้มีการนำเอาไปปฏิบัติหรือปรากฏอยู่ในร่างสัญญาประชาคม แต่อย่างใด
เพราะการจะแก้ปัญหาความขัดแย้งต้องรู้ต้นเหตุ ของปัญหา และยอมรับต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในแต่ละเหตุได้อย่างถูกต้อง
3. การจะสร้างความสามัคคีปรองดองนั้น รัฐบาลและ
คสช. ต้องปฏิบัติหน้าที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมอย่างแท้จริง
เคารพซึ่งความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า
การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน
การสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง และการทำลายล้างทางการเมืองต่อฝ่ายตรงข้าม
ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น พรรคเพื่อไทย จึงเห็นว่า
กระบวนการสร้างความปรองดองและสัญญาประชาคมที่จัด ทำขึ้น โดยไม่เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้องและปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
จะไม่นำไปสู่ความปรองดองที่ปวงชนชาวไทยคาดหวัง
และตราบใดที่หลักนิติธรรมยังถูกละเมิด
สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลยังไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
ปัญหาความขัดแย้ง ก็ไม่อาจจะลดลงได้ เนื้อหาของร่างสัญญาประชาคมหลายเรื่องที่จัดทำขึ้นเป็นสิ่งที่ได้ปฏิบัติเป็นปกติ
อยู่แล้ว
แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์ต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความสามัคคีปรองดอง
การลงนามหรือให้สัตยาบันจึงไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
พรรคเพื่อไทย
20 กรกฎาคม 2560