“เพื่อไทย” ขอความชัดเจนเกี่ยวกับวันเลือกตั้ง และยุติการใช้กลไกของรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย 
เรื่อง ขอความชัดเจนเกี่ยวกับวันเลือกตั้งและยุติการใช้กลไกของรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง 

ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดไว้เบื้องต้นว่าจะมีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ หลังจากก่อนหน้านี้หัวหน้า คสช. ได้เคยประกาศและรับปากต่อประชาชนและนานาประเทศว่าจะให้มีการเลือกตั้งขึ้นหลายครั้ง แต่ก็มีข้ออ้างเลื่อนการเลือกตั้งมาตลอด ๔ – ๕ ครั้งแล้ว ในครั้งนี้ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการเลือกตั้งในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ จะไม่เกิดขึ้น การเลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าผู้เกี่ยวข้องจะอ้างเหตุผลอย่างไร ย่อมมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความรู้สึกของประชาชนที่หวังจะได้อำนาจอธิปไตยคืนมา และใช้อำนาจดังกล่าวเลือกผู้แทนของตนเข้ามาบริหารประเทศ หลังจากที่ คสช. ได้ยึดอำนาจดังกล่าวไป และปกครองประเทศเกือบ ๕ ปี นอกจากนี้ยังมีผลต่อความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศอยู่บนความไม่แน่นอนอีกครั้ง 
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ความชัดเจนของกำหนดวันเลือกตั้งและการทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม โดยที่พรรคการเมืองมีโอกาสอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันในการแข่งขันจะเป็นหนทางนำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยและการยอมรับทั้งจากภายในและนานาชาติ แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มีข้อเท็จจริงหลายอย่างที่สร้างความกังวลใจยิ่งว่ามีการใช้อำนาจและกลไกของรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง และการดำเนินการดังกล่าวคงจะมีอยู่ไปจนถึงวันเลือกตั้ง อันจะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมที่เห็นได้ชัดเจนคือการที่ ๔ รัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ได้จัดตั้งพรรคการเมืองและเป็นกรรมการบริหารพรรค ขณะเดียวกันก็ยังปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีต่อไป จึงเป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะว่ากิจการใดเป็นการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะในนามของรัฐมนตรีและกิจกรรมใดทำไปเพื่อหวังผลทางการเมืองแก่พรรคการเมืองของตนเอง เพราะรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มโดยอาศัยช่องว่างตามรัฐธรรมนูญ สามารถใช้งบประมาณได้ปกติ โยกย้าย แต่งตั้งข้าราชการได้ ซึ่งต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งขณะเป็นรัฐบาลรักษาการที่มีอำนาจอย่างจำกัด เหตุนี้จึงเห็นการใช้งบประมาณอย่างมหาศาลทุ่มเทลงไปในปลายรัฐบาล โดยอ้างนโยบายประชารัฐที่มีชื่อคล้ายกับชื่อพรรคของตนเอง ที่สำคัญแกนนำพรรคบางคนได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกในบัญชีรายชื่อของพรรคตน แม้พลเอกประยุทธ์ ฯ ยังไม่ตัดสินใจอย่างเป็นทางการก็ถือว่า พลเอกประยุทธ์ ฯ และรัฐมนตรีทั้ง ๔ คน เป็นผู้เล่นไม่ใช่ผู้รักษากติกา หรือกรรมการต่อไป จึงต้องใช้อำนาจอย่างระมัดระวัง แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลายครั้งเป็นที่เห็นได้ชัดว่ามีการใช้กลไกของรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การที่หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ แก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองหลายครั้ง อันมีผลเป็นการทำลายความเข้มแข็งและศักยภาพของพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม การใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ แทรกแซงการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. ขณะนี้ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการใช้กลไกของ กอ.รมน.ภาค ที่มีแม่ทัพภาคเป็นผู้นำ เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัด อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในภาคอีสาน ๒๐ จังหวัด โดยอ้างว่าเพื่อให้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ทั้งที่เรื่องดังกล่าวไม่ใช่อำนาจหน้าที่ ของตน และยังมีการใช้ศูนย์ดำรงธรรมเรียกประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยอ้างเรื่องการสร้างความปรองดอง 
นอกจากนี้ยังมีการเลือกปฏิบัติในการให้ใช้สถานที่ราชการทำกิจกรรมทางการเมือง เช่น กรณีนายก อบจ.พะเยาไม่อนุญาตให้พรรคเพื่อไทยจัดเวทีปราศรัย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้อนุญาตให้พรรคการเมืองบางพรรคใช้พื้นที่ดังกล่าวได้ การใช้หน่วยงานความมั่นคงติดตามสอดส่องการลงพื้นที่ทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย หรือกรณีการบุกจับกุมว่าที่ผู้สมัครของพรรคขณะเดินรณรงค์พบประชาชนเป็นต้น 
พรรคเพื่อไทยจึงขอให้หัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ได้กำชับให้หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ได้วางตนเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง อย่าทำเป็นปากว่าตาขยิบ และขอให้ กกต. ได้เข้ามาตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ของรัฐในเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้ยกเป็นกรณีตัวอย่างข้างต้นว่ามีการใช้อำนาจรัฐเพื่อเป็นคุณแก่พรรคการเมืองบางพรรคหรือไม่ และขอให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ทำให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับวันเลือกตั้ง และยุติการคุกคามประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งด้วย เพราะถือเป็นสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรมของประชาชน 

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน 

พรรคเพื่อไทย ๑๕ มกราคม ๒๕๖๒