“เพื่อไทย” อัด นโยบายรัฐไม่ตอบโจทย์เกษตรกร จี้ เร่งแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ
(13 พ.ย. 62) เมื่อเวลา 10.30 น. นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส. ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาเรื่องข้าว เปิดเผยว่า จากการพิจารณานโยบายรัฐบาลพบว่าการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่รัฐบาลประกาศนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ในอดีตเคยเกิดปัญหาทุจริต หวั่นใจว่าหากนำมาใช้เกิดปัญหาการทุจริตอีกครั้ง
ที่ว่านโยบายนี้ทำไม่ได้เพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณจะมาดำเนินโครงการ ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่งหนังสือมาถึง คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร หรือ คชก. เพื่อขอกรอบวงเงินจำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งทาง คชก. ไม่สามารถอนุมัติได้เพราะไม่มีระเบียบที่ให้ไว้ นอกจากนี้ที่ผ่านมาให้แล้วหายทางคณะกรรมการหวั่นว่าจะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
นายอุบลศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นโยบายประกันรายได้เกษตรกร เป็นนโยบายที่ไม่ตอบโจทย์ของเกษตรกร เพราะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการมากกว่า สถานการณ์ในปัจจุบันพ่อค้ารับซื้อข้าวกดราคารับซื้อข้าวจากเกษตรกร แล้วให้เกษตรกรไปกินส่วนต่างราคาจากรัฐบาลแทน ตามราคาที่ประกาศจากหน่วยงานรัฐ อาทิ ข้าวขาวปัจจุบันราคารับซื้อจากเกษตรกรที่ 5,000 บาทต่อตัน ส่วนหากมีการตั้งราคาที่ 12,000 บาทต่อตัน ที่เหลืออีก 7,000 บาท ให้เกษตรกรไปเอาจากรัฐแทน แบบนี้มันเป็นการช่วยเกษตรกรหรือช่วยพ่อค้ากันแน่
“เงิน คชก. ที่รัฐบาลมาขอกรอบวงเงินนั้น หากมีการทุจริต รัฐมนตรีจะยอมติดคุกหรือไม่ ในอดีตเคยมีการนำเข้าสู่ศาลมาแล้ว ทั้งนี้การทำนโยบายแบบไม่ดูฐานะของตัวเอง ไม่มีเงินประกาศนโยบายสวยหรู ก็ไม่ต่างกับการหลอกเกษตรกร ที่รอความหวังจากรัฐบาลที่ไม่รักษาคำพูด สุดท้ายเกษตรกรรับกรรมในที่สุด”
นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส. ศรีษะเกษ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลการปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ระยะที่ 1 สรุปล่าสุด กำหนดช่วยเหลือเกษตรกรที่มีสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยกำหนดราคาประกันยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กก. น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กก. แบ่งสัดส่วนการจ่ายเงินให้กับเจ้าของสวนยาง 60% และคนกรีดยาง 40% ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กก. แต่ขายจริงได้แค่ 14 บาท ทั้งนี้อยากให้การยางรับซื้อเพื่อดึงราคาขึ้น และให้นำยางไปใช้ทำถนน รวมทั้งกำหนดให้กรมชลประทาน นำยางพาราไปใช้ทำฝาย หรือพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งกีดขวางเข้าไปสร้างความเสียหายในแหล่งน้ำ ทำทุ่นพลาสติก HDPE ปูด้วยแผ่นยางกันลื่น ใช้ในกรณีเกิดอุทกภัย ถนนตัดขาด ทำเรือนวัตกรรมกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก และรางวัดปริมาณน้ำ เป็นต้น
นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส. ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยประมาณ 400,000 คน มีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 11 ล้านไร่ แต่ในปัจจุบันประสบปัญหาราคาอ้อยตกต่ำมาก ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำ มาถูกซ้ำเติมด้วยการใช้มาตรา 44 ของรัฐบาล คสช. ยกเลิกโควต้า ก. หรือยกเลิกโควต้าการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาลแต่ละแห่ง ทำให้ราคาน้ำตาล ทรายในประเทศลดลง มีผลต่อการคำนวนราคาอ้อยในปัจจุบัน และปีนี้เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะลำบากจากนโยบายให้โรงงานน้ำตาลซื้ออ้อยไฟไหม้ได้ไม่เกิน 50% ในราคาที่ต่ำกว่าอ้อยสดตันละ 30 บาท
รัฐบาลปัจจุบันยังไม่มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่แตกต่างจากปีที่แล้วแต่อย่างใด ดังนั้น อยากให้รัฐบาลเร่งรัดแก้ไขเร่งด่วน คือ 1. ขอให้รัฐบาลเสนอแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับ พ.ศ.2527 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ให้สามารถนำน้ำอ้อยไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นจากอ้อยที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล พลาสติคชีวภาพ เครื่องสำอางค์ เวชภัณฑ์ และปรับปรุงสัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ให้เป็นธรรม พร้อมทั้ง ขอให้รัฐบาลผ่อนปรนระเบียบเกี่ยวกับอ้อยไฟไหม้ แก้ปัญหารถบรรทุกอ้อย ลดข้อกำหนดของระยะห่างของโรงงานน้ำตาล เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยต่อไป