รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เตือน รัฐบาล “ความตกลง CPTPP” ทำไทยเสียเปรียบหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ-ความมั่นคงทางอาหาร และสาธารณสุข
27 เมษายน 2563 นางสาวจิราพร สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีเตรียมพิจารณาให้ความเห็นชอบการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ว่า หากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบก็ไม่ต่างอะไรกับการผลักไทยให้ทำการค้าแบบเก่าท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนไป ซ้ำยังอาจสร้างผลกระทบต่อการบริหารจัดการอุปกรณ์ทางการแพทย์ และความมั่นคงทางอาหารของไทยในอนาคต ที่ผ่านมาหลายฝ่ายได้เตือนรัฐบาลว่าการเข้าร่วม “ความตกลง CPTPP” จะทำให้ไทยเสียเปรียบ และส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ แต่รัฐบาลก็นิ่งเฉยไม่สนใจคำตักเตือน และยิ่งในปัจจุบันวิกฤติโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกเปลี่ยนไปอย่างมาก หลายประเทศเริ่มตระหนักรู้ถึงการทบทวนนโยบายด้านการค้าให้ทันต่อเหตุการณ์ แต่รัฐบาลไทยกลับทำตรงข้าม และคิดแบบเดิมๆ ในการเข้าร่วม CPTPP ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีที่เริ่มหารือกันมาหลายปีแล้ว ซึ่งอาจถูกมองได้ว่าเป็นการเอื้อผลประโยชน์สำหรับบางกลุ่มและธุรกิจต่างชาติ ซึ่งให้ข้อมูลด้านเดียวโดยอ้างผลการศึกษาเก่าที่เริ่มต้นศึกษามาหลายปี ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 แสดงถึงความไม่จริงใจต่อประชาชน
นอกจาก CPTPP จะสร้างผลกระทบให้กับไทยในหลายด้าน เช่น วิถีการทำการเกษตร ระบบสาธารณสุข การเปิดให้นายทุนต่างชาติมีอิทธิพลเหนือกิจการรัฐวิสาหกิจไทย แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ รัฐบาลไม่รู้จักถอดบทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 เช่น ข้อบทด้านการลงทุนใน CPTPP ที่ให้สิทธิต่างชาติฟ้องร้องไทย ผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการนอกประเทศได้ และลดอำนาจหน่วยงานไทยในการบริหารการลงทุน การนำเข้าและส่งออก รวมถึงการห้ามรัฐกำหนดเงื่อนไขต่อนักลงทุนต่างชาติเพื่อประโยชน์ของประเทศ ซึ่งในอนาคตหากเกิดวิกฤติโรคระบาดแบบโควิด-19 อีก จะทำให้ไทยไม่สามารถบริหารจัดการสินค้าจำเป็นได้ เช่น หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศได้ ดังเช่นเมื่อครั้งที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ยอมรับว่าไทยจำเป็นต้องส่งออกหน้ากากอนามัยไปต่างประเทศ แม้ว่าอยู่ในช่วงขาดแคลน เพราะต้องปฏิบัติตามความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ข้อบทเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ยังจะสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของไทยด้วย ดังนั้นการดึงดันเข้า CPTPP โดยขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบจะทำให้วิกฤติที่เกิดขึ้นในตอนนี้กลายเป็นมหาวิกฤติในอนาคตได้
“วิกฤติโควิด-19 ได้เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจโลกไปแล้วโดยสิ้นเชิง การทำความตกลงทางการค้าจะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยสอดรับกับสภาวะปัจจุบัน และรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต หากรัฐบาลดึงดันจะเข้าร่วม CPTPP ทั้งๆ ที่ไทยอยู่ในฐานะเสียเปรียบหลายอย่าง นอกจากจะสะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้มองไปข้างหน้าแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเลยแม้แต่น้อย”