พรรคเพื่อไทย จัดเสวนาวิชาการ “ทิศทางรัฐธรรมนูญไทย” เดินหน้าผลักดันรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อสร้างประชาธิปไตย
24 มิถุนายน 2563 พรรคเพื่อไทย จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ทิศทางรัฐธรรมนูญไทย” โดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค ร่วมกล่าวเปิดการเสวนา ขณะที่วิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร.โภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด , ศ.(พิเศษ) ชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม , ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ
“คุณหญิงสุดารัตน์” เชิญชวนประชาชนร่วมออกแบบรัฐธรรมนูญ
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสิทธิของประชาชน สิทธิของพลเมือง การจะเข้าถึงซึ่งทรัพยากรของประเทศชาติ ความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่มาก ซึ่งความเสียหายจากการเขียนรัฐธรรมนูญด้วยน้ำมือเผด็จการคือการลิดรอนสิทธิและโอกาสของประชาชน ดังนั้นพรรคการเมือง อย่างพรรคเพื่อไทย จึงมีหน้าที่ในการยืนอยู่แถวหน้าในการที่จะดำเนินการแก้ไขในสิ่งที่จะลิดรอนสิทธิของประชาชน ซึ่งนอกจากการจัดเสวนาอย่างต่อเนื่องแล้วก็จะเปิดช่องทางออนไลน์ ให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นการให้สิทธิประชาชนร่วมเขียนรัฐธรรมนูญด้วยกัน ไม่ใช่มีเพียงคนไม่กี่คนที่มาจากเผด็จการมาเป็นผู้เขียน เพื่อที่จะได้ช่วยกันลบสิ่งที่เป็นทุกข์ของประชาชนออกไปและช่วยกันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
“โภคิน” ชี้ รัฐธรรมนูญคือหัวใจ แต่วันนี้กลับไม่ตอบโจทย์ประชาชน
รศ.ดร.โภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า รัฐธรรมนูญคือหัวใจของทุกอย่าง วันนี้กลับไม่ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศและประชาชน แต่ไปตอบโจทย์คนร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า อีกทั้งวันนี้หลายอย่างยังผิดเพี้ยน แม้จะมีการกำหนดให้อำนาจเป็นของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดีควรให้โอกาสประชาชน ไม่ใช่แค่ให้สิทธิ์ ประชาชนควรมีสิทธิ์และโอกาสที่จะพูด และรัฐต้องรับฟัง ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นฉบับแรกที่บอกว่าประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ เข้าชื่อแก้รัฐธรรมนูญได้ และที่สำคัญเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ได้ ไม่ใช่มีอำนาจแค่วันเลือกตั้งแค่วันเดียว แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับไม่ยึดโยงประชาชน ประชาชนไม่มีโอกาสได้ใช้อำนาจนั้นเลย เมื่อรัฐธรรมนูญอาจเขียนเพื่อรองรับเผด็จการหรือรองรับประชาธิปไตยก็ได้ เพราะเวลายึดอำนาจเสร็จเขาก็สามารถยกเลิกรัฐธรรมนูญที่มี และเขียนธรรมนูญการปกครองขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับอำนาจเบ็ดเสร็จของเขา ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องสถาปนารัฐธรรมนูญที่ปกป้องและรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตย
“ชัยเกษม” ชี้ รัฐธรรมนูญแฝงระบบรัฐราชการ ส่อสร้างปัญหาระยะยาว
ศ.(พิเศษ) ชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ขอยกตัวอย่างเรื่องการปฏิรูปประเทศ และแนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งเป็นเหมือนโฆษณาชวนเชื่อ ที่มีปัญหาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งในส่วนนี้ไม่เห็นด้วยอย่างมากในการนำยุทธศาสตร์ชาติไปรวมกับการปฏิรูปประเทศ เพราะการปฏิรูปเป็นเรื่องการหาเสียงของรัฐบาล และยุทธศาสตร์ 20 ปี คือการบังคับประเทศให้เดินไปอย่างนั้น โดยคนเพียงไม่กี่คน แต่จะมีผลต่อคณะรัฐมนตรีที่จะมาบริหารราชการแผ่นดินต่อไป
ซึ่งการทำยุทธศาสตร์ชาติหรือการบริหารประเทศไม่ใช่เรื่องที่จะไปกำหนดระยะยาวได้ เพราะโลกเปลี่ยนไป เหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไป ความเป็นอยู่ของประชาชน และการประกอบอาชีพของประชาชน ทุกอย่างในประเทศนี้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการไปกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการบังคับใช้กฎหมายยาวๆ 20 ปี อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการมาคุมยุทธศาสตร์ชาติที่มีอำนาจมาก ถ้ารัฐบาลยังเป็นพวกเดียวกันกับเขาก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้ามีรัฐบาลอื่นที่ผิดแปลกออกไปก็คงเป็นเรื่อง ซึ่งการกระทำแบบนี้จะทำให้ระบบรัฐราชการยังคงหลงเหลืออยู่ในฝ่ายการเมือง และหากขั้วการเมืองที่ไม่ใช่เป็นพวกเดียวกันกับที่ทำยุทธศาสตร์นี้ก็คงจะยากในการที่จะบริหารประเทศ
“วัฒนา” ชี้ประชาธิปไตยคือเครื่องมือสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ
นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศวันนี้มีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และกำลังเดินไปเส้นทางข้างหน้าโดยไม่รู้ว่าจะจบแบบไหน สถานะทางการคลังวันนี้รัฐบาลอยู่ได้ด้วยเงินกู้ และการกู้เงินของรัฐบาลขึ้นไปที่ 58% ของจีดีพี ซึ่งเหลือโอกาสอีก 2% ในการก่อหนี้สาธารณะ ทั้งนี้ สถานะทางการเงินการคลังของประเทศน่าเป็นห่วงเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ เพราะการบริหารราชการแผ่นดิน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อมั่น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ สร้างความไม่มั่นคงให้ระบบการเมือง เมื่อการเมืองไม่มั่นคง คนก็ไม่เชื่อมั่น ซึ่งหายนะจะตามมา
ประชาธิปไตยคือเครื่องมือสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เพราะคำว่าประชาธิปไตยรับรองสิทธิเสรีภาพของทุกคน เมื่อบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้ วันนี้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมี 4 ตัว คือ การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน และการบริโภคภายใน ซึ่งขณะนี้ดับสนิทหมด ปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้ได้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ เสียงปริ่มน้ำ แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ เพราะมัวแต่แก้ปัญหาของตัวเองอยู่ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาให้สืบทอดอำนาจ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อประชาชน ทางออกของประเทศ คือ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน เอาอำนาจกลับมาคืนให้ประชาชน
“นักวิชาการ” ย้ำ ประชาชนมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ คือแนวทางสร้างประชาธิปไตย
ขณะที่ ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รัฐธรรมนูญคือกฎหมายที่เป็นธรรมของรัฐ ในขณะที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เป็นพันธสัญญาระหว่างรัฐและประชาชนที่อยู่ในรัฐ คือ 1. ต้องรับประกันว่าประชาชนมีสิทธิขั้นพื้นฐานอะไรบ้าง เป็นพันธสัญญาว่าจะใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นหรือไม่ ถ้ารัฐธรรมนูญทำให้อดมื้อกินมื้อก็แสดงว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน 2. ต้องรับประกันความยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ความยุติธรรมจะต้องปกป้องคนที่อ่อนแอในสังคมก่อน เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญควรจะเสริมสร้างความเท่าเทียมด้วย และ 3. ต้องรับประกันการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่สามารถทำได้ แสดงว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ทำตามเจตนารมณ์
รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คือ รัฐธรรมนูญที่ไปในทางอำนาจนิยม นั่นคือ เอื้ออำนวยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ให้สามารถใช้อำนาจไปกดขี่ข่มเหงผู้อื่นได้ ทำให้คนในสังคมยอมกับการที่ถูกกดขี่ จะออกมาต่อสู้ก็ยาก และมีความพยายามส่งต่อแนวคิดการใช้อำนาจกดขี่เป็นรุ่นต่อรุ่น เห็นได้จากทุกครั้งที่มีการรัฐประหารจะเห็นคนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยเอาดอกไม้มาให้คณะรัฐประหาร ซึ่งกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยต้องลบล้างอำนาจนิยมเหล่านั้นออกไป โดยทำให้อำนาจเป็นของประชาชนจริงๆ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นแนวทางที่สำคัญที่สุดในการที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเป็นประชาธิปไตย