“จิราพร สินธุไพร” เผย พ.ร.ก.กู้เงิน มีเอกสารแค่ไม่กี่หน้า ไร้รายละเอียดแผนงาน เตือน “รัฐบาล” ใช้เงินกู้ ให้คำนึงถึงคนไทยที่ต้องแบกภาระหนี้

29 พฤษภาคม 2563 น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 , พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่า วิกฤติโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายต่อประเทศไทย โดยเฉพาะต่อระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน รัฐบาลจะอ้างว่าเศรษฐกิจของประเทศทรุดหนักเพราะโควิด-19 อย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะก่อนหน้านั้นเศรษฐกิจก็แย่อยู่แล้ว และเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าการบริหารประเทศกว่า 6 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอและเปราะบางมาก และยังพิสูจน์ความผิดพลาดบกพร่องในการบริหารประเทศซ้ำแล้วซ้ำเล่า

รัฐบาลเยียวยาประชาชนล่าช้า ไม่เร่งด่วนสมกับที่ออกเป็น พ.ร.ก. ซึ่งเงินเยียวยา 555,000 ล้านบาท ดูเหมือนว่าจำนวนเงินเยอะ แต่เงื่อนไขที่จะเข้าถึงเงินกลับเยอะกว่า รัฐบาลอย่ามาอ้างว่าการแจกเงิน 5,000 บาท เป็นบุญคุณกับประชาชน เพราะนี่คือเงินของประชาชนไม่ใช่ของรัฐบาล ที่สำคัญรัฐบาลไม่ได้แจกเงินให้ประชาชนฟรีๆ แต่เป็นการให้โดยแถมหนี้จำนวน 1 ล้านล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย

“การใช้เงินกู้ก้อนนี้จึงต้องมีทิศทางที่ต้องชัดเจนและแม่นยำ แต่ พ.ร.ก.ฉบับนี้ มีแค่การวางกรอบแผนงานการฟื้นฟูเศรษฐกิจไว้แบบกว้างๆ มีเอกสารเพียงไม่กี่หน้า รัฐบาลชี้แจงเพียงแค่กรอบแผนงาน ไม่ได้อธิบายรายละเอียดที่ชัดเจน มีแค่ชื่อโครงการ รัฐบาลกู้มาก่อน แล้วค่อยมาคิดแผนงานตามภายหลัง ทำให้มองไม่เห็นทิศทางและอนาคตของการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศที่ชัดเจน รัฐบาลไม่ได้มีความพร้อมในการวางยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม นี่คือความหละหลวมล้มเหลวตั้งแต่เริ่มคิดโครงการ” 

แผนการใช้เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาทนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลจงใจใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน เอาเรื่องการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 45,000 ล้านบาท และเงินสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท เป็นเหมือนการตีเช็คเปล่า ให้รัฐบาลไปทำ “งบเบี้ยหัวแตกแจกทุกกระทรวง” มาพ่วงกับเงินที่จำเป็นต้องใช้เยียวยาประชาชนจำนวน 555,000 ล้านบาท เพื่อบีบบังคับทางอ้อมให้สภาต้องอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทฉบับนี้ ทำให้เป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุด หากจะไม่ให้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ผ่าน ก็นึกถึงพี่น้องประชาชนที่รอเงินช่วยเหลือเยียวยา แต่ถ้าจะให้ผ่านไปโดยง่าย ก็ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของแผนงานการใช้เงินกับภาระหนี้ที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศต้องช่วยกันแบกรับจำนวน 1 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมดอกเบี้ย และไม่ทราบว่ากี่ปีจะใช้หนี้หมด 

เงินกู้ก้อนนี้หากใช้อย่างไม่มีทิศทางและไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้จริง ถ้าในอนาคตเกิดวิกฤติที่ไม่คาดฝันขึ้นอีก รัฐบาลจะทำอย่างไรต่อไป ถ้ารัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม หนี้สาธารณะของไทยก็ต้องพุ่งสูงกว่า 60% ของจีดีพี เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง จึงถือเป็นหน้าตักสุดท้ายที่รัฐบาลต้องใช้เพื่อทำให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศเข้มแข็งและสามารถรองรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกหลังวิกฤติโควิด-19 ได้ ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส ขอให้รัฐบาลพลิกวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ให้เป็นโอกาสของประชาชนและประเทศชาติ ไม่ใช่โอกาสในการสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคงให้กับรัฐบาลเอง