พรรคเพื่อไทย จัดเสวนาออนไลน์ “ถอดบทเรียนการแก้ปัญหาโควิด-19” ชี้ผลสัมฤทธิ์การควบคุมโควิด-19 มาจากความร่วมมือของประชาชนและระบบสาธารณสุขที่ดี ผลพวงมาตรการภาครัฐสร้างผลกระทบประชาชน
14 พฤษภาคม 2563 พรรคเพื่อไทย จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “ถอดบทเรียนการแก้ปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาล : เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” โดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย , คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค , นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรค , นายวัฒนา เมืองสุข กรรมการยุทธศาสตร์พรรค , ดร.สุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) , ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมการเสวนา และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ
ความร่วมมือของประชาชน-การแพทย์และสาธารณสุข คือผลสัมฤทธิ์ควบคุมโควิด-19
โดย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ผลสัมฤทธิ์การควบคุมเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ ต้องยกให้พี่น้องประชาชนที่ร่วมมือกัน รวมไปถึงระบบการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมโรค สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญ คือ ความรู้ความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ และการวางโครงสร้างระบบสาธารณสุข ไปจนถึงการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและระบบเขตสุขภาพที่ดี ซึ่งมีผลต่อการดูแลประชาชนโดยรวม ทั้งการส่งเสริม การป้องกันโรค การดูแลและฟื้นฟูสุขภาพประชาชน หลักฐานสำคัญก็คือ การที่สถาบันจอนส์ ฮอปกินส์ ได้จัดลำดับความมั่นคงด้านสุขภาพของไทย อยู่ในลำดับที่ 6 ของโลก
ทั้งนี้ รัฐบาลไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่ต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไป เพราะสามารถใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ได้เนื่องจากมาตรการหลายๆ อย่างที่ได้ผลล้วนแต่เป็นการเป็นปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ อีกทั้งการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการใช้ยาแรงที่ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องในการควบคุมโรค และจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งการที่รัฐบาลใช้วิถีสุขภาพนำเสรีภาพ ถือเป็นการควบคุมคน ไม่ใช่การควบคุมโรค ส่งผลให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน การควบคุมโรคที่ดีควรมีมาตรการทางสาธารณสุขที่ดี คือเน้นการตรวจเชื้อค้นหากลุ่มเสี่ยงเพื่อควบคุมโรค ไม่จำเป็นจะต้องรวบอำนาจใช้ฝ่ายการเมืองอ้างความรวดเร็วมาควบคุม
ความเดือดร้อนของประชาชนมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า
โดย นายสุทิน กล่าวว่า ขณะนี้การทำลายล้างของโควิด-19 มีอยู่ 2 มิติ คือ 1. ด้านสุขภาพ และ 2. ด้านเศรษฐกิจ และยังมีต่อไปอีกคือด้านสังคม ปัญหาการเปรียบเทียบ ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ของคนในสังคม ซึ่งจะตามมาต่อเนื่องจากการเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ ในวันนี้ความเดือดร้อนของประชาชนมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า มีคนตกงาน ไม่มีรายได้ เพราะมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมา แต่กลับเยียวยาไม่ทั่วถึง ไม่ครอบคลุม นอกจากนี้ รัฐบาลยังบริหารเงินกองทุนประกันสังคมผิดพลาด ที่สำคัญ ระบบการลงทะเบียน การตรวจสอบสิทธิ มีปัญหาเยอะมาก ระบบ AI ตรวจสอบข้อมูลผิดพลาด ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาล
“เมื่อเปิดสภาแล้วจะมีการจัดทีมตั้งกระทู้ หรือหารือถึงสถานการณ์โควิด-19 ปัญหาการเยียวยา ปัญหาประกันสังคม และปัญหาความเดือดร้อน ต่างๆ ของพี่น้องประชาชน ที่สำคัญคือเรื่อง พ.ร.บ.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทนั้น จะต้องมีการตั้งคำถามอย่างมากมายถึงความจำเป็นที่ต้องกู้ ซึ่งกู้มาแก้ปัญหาโควิด-19 จริงหรือไม่ แล้วกู้ที่ไหน มีเงื่อนไขอย่างไร ดอกเบี้ยเท่าไหร่ เพราะเงินที่กู้มาจะเป็นภาระมหาศาล สิ่งเหล่านี้จะเป็นคำถามที่รัฐบาลต้องตอบให้ได้” นายสุทิน กล่าว
ปลดล็อก คืนชีวิตปกติให้กับประชาชน
นายวัฒนา กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลปลดล็อกคืนชีวิตปกติให้กับประชาชน สิ่งที่รัฐบาลควรทำในวันนี้คือการให้ความรู้กับประชาชนว่าโควิด-19 ไม่ได้เป็นโรคอันตรายเป็นแล้วตายทันที สิ่งที่ทำตอนแรกคือความต้องการที่จะควบคุมปริมาณคนป่วย ไม่ให้เกินกว่าระบบสาธารณสุขที่จะรับได้ แต่ในวันนี้สถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้น ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องทำไม่ใช่แค่การคลายล็อกแต่ต้องปลดล็อก เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะร้ายแรงมากที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทยมา หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทมาเพื่อนำมาใช้เยียวยา พยุงเศรษฐกิจ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งถูกต้องตามหลักการ แต่วิธีการที่รัฐบาลทำจะถูกต้องและได้ผลหรือไม่นั้นต้องรอดูต่อไป เช่นการกู้เงินมากว่า 6 แสนล้านบาทเพื่อนำมาเยียวยา ซึ่งตามหลักการรัฐบาลจะต้องเยียวยาให้ครอบคลุมทั่วถึงและได้ผลเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ แต่วิธีการเยียวยาที่รัฐบาลทำอยู่ในปัจจุบัน ไม่ครอบคลุม ไม่ทั่วถึง และสร้างปัญหามากมาย ไม่ก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ
รัฐบาลควรเยียวยาไปที่ครัวเรือน เพราะสามารถตรวจสอบได้ง่าย เนื่องจากมีทะเบียนราษฎร์อยู่แล้ว คนถือทะเบียนบ้าน หรือบัตรประชาชนแล้วไปขึ้นเงินที่ธนาคารได้เลย และควรเยียวยาอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ สิ่งที่อยากจะแนะนำคือ รัฐบาลต้องเยียวยาให้ครอบคลุม ทั่วถึงและเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ประกอบกับคลายล็อกให้เกิดการทำธุรกิจด้วยก็จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในแล้วอย่าไปสร้างเงื่อนไขเพิ่ม ตรงนี้จะเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมภายในประเทศใหม่ โดยเฉพาะการหันมาดูโลกหลังโควิดในด้านต่างๆ เพื่อให้มีมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ
สิ่งน่าเป็นห่วงที่สุด คือ ปัญหาการว่างงาน
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ปัญหาในภาพใหญ่ของประเทศขณะนี้ คือ มายาคติ ที่คิดว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือทางออก จะสามารถแก้ปัญหาได้ แต่ไม่ใช่ การที่รัฐบาลสามารถคลายล็อกครั้งนี้อาจพูดได้ว่าความสำเร็จมาจากภาคประชาชนที่ร่วมมือกัน และเป็นความสำเร็จที่เกิดจากระบบสาธารณสุขที่ดี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าหากไม่มี 30 บาทรักษาทุกโรค หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วันนี้รัฐบาลจะลำบากมากกว่านี้ ในการบริหารจัดการกับโรคระบาดโควิด-19
ซึ่งผลกระทบหนักสุดที่ถือว่าเป็นวิกฤติการณ์ขั้นรุนแรงและสิ่งน่าเป็นห่วงที่สุด คือ ปัญหาการว่างงาน อันเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์หรือปิดเมืองอย่างไม่ค่อยมียุทธศาสตร์นักในช่วงแรก ถ้าประเมินในแง่ของการว่างงาน อาจมีอัตราการว่างงานขั้นต่ำ 8 ล้านคนขึ้นไป และแย่ที่สุดอาจจะมีคนว่างงานเพิ่มมากขึ้นถึง 11 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ปัญหาการว่างงานจะเป็นปัญหาใหญ่ที่จะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ถ้ารัฐบาลยังไม่รีบปลดล็อก อีกทั้งปัญหาใหญ่ที่จะตามมาก็คือปัญหาเศรษฐกิจ เพราะจำนวนคนว่างงานที่มากขนาดนี้ หากรัฐบาลยังจะจ่ายเงินชดเชยรายได้ หรือแจกเงินไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา ปัญหาที่สองก็คือวิกฤติการณ์ฐานราก ในอีก 1-2 ปีข้างหน้าซึ่งน่าจะเป็นปัญหาหนักมาก เพราะสัดส่วนต่อหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด