“เลขาธิการพรรคเพื่อไทย” เรียกร้อง “พล.อ.ประยุทธ์” ลาออก เปิดทางให้มีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
26 ตุลาคม 2563 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ระหว่าง 26-27 ตุลาคม 2563 ว่า มุมมองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นของพรรคร่วมฝ่ายค้านและรัฐบาลมีความแตกต่างกันมาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลยังคงมองว่าเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการที่กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นนักเรียน นักศึกษา และประชาชน เป็นต้นตอของปัญหา และมุ่งกล่าวโจมตีให้ร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นด้านหลัก เมื่อนายกรัฐมนตรีตั้งโจทย์ของปัญหาผิดพลาดโดยโยนความผิดให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมเช่นนี้ หนทางหรือแนวทางในการแก้ปัญหาก็จะผิดไปด้วย เหมือนที่รัฐบาลได้กระทำต่อผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ที่ผ่านมา
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราจะต้องดูว่าต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากอะไร ใครคือต้นตอของปัญหาที่แท้จริง และเราจะแก้ปัญหาที่ต้นตอนั้นได้อย่างไร ด้วยวิธีการใด ซึ่งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีจะต้องเปิดใจกว้างยอมรับฟังปัญหาต่างๆ จากฝ่ายค้าน และเริ่มพิจารณาประเด็นหลักที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง คือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน และยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ รวมถึงข้อเรียกร้องให้หยุดคุกคามประชาชน
ต้อตอของปัญหาคือตัวรัฐธรรมนูญ 2560 จึงเกิดการเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านได้มองเห็นปัญหาในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ประกาศใช้บังคับแล้ว และได้มีการรณรงค์เรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาโดยตลอด แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่เคยได้รับการตอบรับจากรัฐบาลเลย มีแต่คำเยาะเย้ยถากถางตลอด ลำพังเพียงพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่อาจจะขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ เพราะผู้ร่างและผู้กำกับการร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดเงื่อนไขที่แก้ได้ยากไว้ โดยจะต้องอาศัยเสียง ส.ว. สนับสนุน
เหตุผลข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชน คือ การขอให้ยกเลิกการคุกคามประชาชน อยู่ในวิสัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะทำได้ แต่กลับไม่ทำ ปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพและคุกคามประชาชนในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการใช้คำสั่งตนเอง และกฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ จึงเป็นที่มาของข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ต้องการให้หยุดคุกคามประชาชน แต่แทนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะฟังเสียงเรียกร้องดังกล่าวกลับใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งการฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก ทั้งนี้เพื่อจะได้มีข้ออ้างในการจับกุมผู้ชุมนุมได้อีกข้อหาหนึ่ง ซึ่งผลจากการออกประกาศดังกล่าวกลับทำให้มีการชุมนุมขยายวงกว้างและมีจำนวนผู้ชุมนุมมากขึ้น จนมีการใช้กำลังสลายการชุมนุมจนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งท้ายที่สุดรัฐบาลก็ได้ออกประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในขณะที่มีการฟ้องร้องต่อศาลว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ชอบ
ส่วนเหตุผลอีกประการที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้อง คือ การให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหนทางที่จะทำให้ปัญหาทั้งหมดยุติลงได้ เพราะท่านไม่มีความชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น เมื่อได้อำนาจมาแล้วก็สร้างกลไกในการสืบทอดอำนาจต่อไป โดยใช้กลไกของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นเครื่องมือ ส่วนในการบริหารประเทศของท่านก็ได้สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแสนสาหัส
หนทางที่การชุมนุมจะยุติลงได้ก็ด้วยการที่รัฐสภาแห่งนี้จะลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และของประชาชนที่เข้าชื่อกันเสนอ และหลังจากรับหลักการแล้วก็ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับไปพร้อมกัน เพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ต่อไป โดยจะต้องเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วเพื่อให้กระบวนการตั้งเลือกตั้ง ส.ส.ร. และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นไปด้วยความรวดเร็ว
“ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนขึ้นแล้วประกาศกลางที่ประชุมของรัฐสภาแห่งนี้ว่า ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการต่อไป และมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หลังจากทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จก็ยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ร่างโดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงต่อไป