“จิราพร” ชี้ ไทยถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP เพราะเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ห่วง ยิ่งคุกคามผู้ชุมนุมจะยิ่งมีปัญหา
นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด ในฐานะคณะทำงานทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP กับสินค้าไทยเพิ่มอีก 231 รายการ คิดเป็นมูลค่าราว 25,000 ล้านบาท มีผลวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ว่า เดิมสหรัฐฯ เคยตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยไปแล้วจำนวน 573 รายการ เมื่อเดือนเมษายน 2563 จึงเท่ากับว่าสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยไปทั้งสิ้น 804 รายการ รวมมูลค่าราว 65,000 ล้านบาท โดยการถูกสหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิ GSP ติดกันถึง 2 ครั้งในห้วงเวลาห่างกันไม่นาน สะท้อนว่ารัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการทำรัฐประหารไม่มีเครดิตในการเจรจาการค้าในเวทีต่างประเทศ และยิ่งตอกย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทีมเศรษฐกิจ ไม่มีพลังการในการเจรจาต่อรอง เสมือนเป็นเบี้ยตัวเล็กไม่มีความสำคัญในสายตาสหรัฐฯ เหมือนที่เคยอวดอ้าง
การที่รัฐบาลให้หน่วยงานรัฐออกมาอ้างว่า การตัดสิทธิ GSP ครั้งล่าสุดนี้กระทบเพียงแค่ภาษีนำเข้าที่ไทยต้องจ่ายเพิ่มเพียง 600 กว่าล้านบาทนั้น เป็นการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เพราะการคำนวณความเสียหายเพียงเฉพาะภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มไม่สะท้อนต่อสภาพความเสียหายทางการค้าของไทยในอนาคต การถูกตัด GSP จะทำให้ราคาสินค้าของไทยในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อศักยภาพทางการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ในระยะยาว นอกจากนี้การอ้างจำนวนมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการคำนวณจากสินค้าเพียงไม่กี่รายการ ทั้งๆ ที่มีสินค้าอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสินค้าของผู้ประกอบการ SME เช่น ผลิตภัณฑ์เซรามิก เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผลไม้ สับปะรดกระป๋อง น้ำมันพืช ส่วนประกอบรถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ของตกแต่งบ้าน ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 ดังนั้นประเด็นไม่ได้อยู่ที่มูลค่าและจำนวนสินค้าที่ถูกตัดสิทธิเพียงอย่างเดียว แต่รัฐบาลต้องตรวจสอบด้วยว่าสินค้าอะไรและผู้ประกอบการ SME รายใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบ และต้องคำนวณรวมกับความเสียหายที่เกิดจากการที่ไทยถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไปก่อนหน้านี้ด้วย การที่รัฐบาลอ้างว่าการตัดสิทธิครั้งนี้ส่งผลกระทบไม่มาก แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจในการดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME และการค้าของไทยเลย
เมื่อครั้งไทยถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ในเดือนเมษายน 2563 รัฐบาลก็ชี้แจงไม่ตรงกัน พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยโตเร็ว นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นอ้างว่า เป็นเพราะไทยพ้นขีดความยากจนแล้ว ในขณะที่หน่วยงานรัฐออกมาชี้แจงว่าเป็นเพราะการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงเกินเพดาน มาวันนี้ถูกประกาศตัดสิทธิ GSP อีกครั้งก็อ้างว่าเกิดจากสาเหตุที่ไทยไม่ยอมเปิดตลาดสุกรให้กับสหรัฐฯ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลปัดความผิดออกจากตัวเองตลอด ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลผลประโยชน์ทางการค้าของไทย ทั้งนี้ นอกเหนือจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลไทยในการเจรจาต่อรอง GSP แล้ว ในห้วงการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีสินค้าไทยที่ถูกประเทศคู่ค้าห้ามนำเข้าหรือยอดการส่งออกตกต่ำหลายรายการ เช่น กะทิ มะพร้าว ผัก ผลไม้ ข้าว และสินค้าเกษตร เป็นต้น
“รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทราบถึงแนวโน้มที่สหรัฐฯ จะตัดสิทธิ GSP ไทยมาตั้งแต่หลังการทำรัฐประหารในปี 2557 แต่ก็ปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด ไม่สามารถเจรจาเพื่อแก้ปัญหาได้ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มาจากการทำรัฐประหารและสืบทอดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ไม่มีเครดิตในการเจรจาต่อรองในเวทีต่างประเทศและไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของผู้นำประเทศคู่ค้า หนำซ้ำตอนนี้สถานการณ์ประชาธิปไตยของประเทศก็เลวร้ายจากการที่รัฐบาลเข้าจับกุมคุมขังนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยอย่างสันติ ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยในขณะนี้เป็นประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมมีปัญหา ซึ่งจะส่งผลต่อการดึงดูดการลงทุนในอนาคตอีกด้วย” นางสาวจิราพร กล่าว