เพื่อไทยจัดเสวนาวิชาการ ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำและแนวทางนโยบายเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน’ ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ TDRI แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็น ‘ความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ เมื่อเรื่องเล่า ที่อยู่อาศัย โครงสร้างและอุดมการณ์ทางการเมืองไม่เคยมีพื้นที่ให้คนจน
เพื่อไทยจัดเสวนาวิชาการ ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำและแนวทางนโยบายเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน’ ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ TDRI แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็น ‘ความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ เมื่อเรื่องเล่า ที่อยู่อาศัย โครงสร้างและอุดมการณ์ทางการเมืองไม่เคยมีพื้นที่ให้คนจน
10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย นำโดย สุทิน คลังแสง ประธานคณะทำงานที่ปรึกษานโยบายด้านการขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ จัดวงเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำและแนวทางนโยบายเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน’ เพื่อร่วมกันหาทางออกและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ
โดยมีวิทยากร ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธร ปีติดล ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงTDRI ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ ส.ส. และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ณ อาคารรัฐสภา ห้องประชุมพรรคเพื่อไทย
ดร. ธร เริ่มต้นวงเสวนาในหัวข้อ ‘การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านมุมมองโครงสร้างทางการเมืองและอุดมการณ์’ เล่าว่า ปัจจุบันปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ‘กำลังติดหล่ม’ ด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้าง
“เรามีแนวทางและข้อเสนอทางนโยบายในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นจำนวนมาก แต่ขาดการผลักดันนโยบายเหล่านั้นให้เกิดขึ้นและนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำได้จริง” ดร. ธร กล่าว
จากการศึกษาของศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. ธร ชี้ว่า ความเหลื่อมล้ำในไทยยังเป็นปัญหาสำคัญและยังคงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องตระหนัก เพราะหากคลี่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทั้งหมดออกมาศึกษาจะพบว่า แม้ความเหลื่อมล้ำจะลดลงอยู่บ้างตามที่ภาครัฐศึกษา แต่เมื่อถอดปัจจัยอย่างเงินช่วยเหลือออกมา ความเหลื่อมล้ำก็ยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นเท่าไรนัก
นอกจากนั้นยังพบว่า การยกระดับฐานะของกลุ่มชนชั้นกลางในปัจจุบันนั้นยากขึ้น กล่าวคือ ชนชั้นกลางกำลังเผชิญปัญหา ‘รายได้และทรัพย์สินลดลง แต่รายจ่ายเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น’ ขณะที่ตัวเลขความเหลื่อมล้ำที่ภาครัฐมียังขาดข้อมูลของกลุ่มรายได้ระดับสูง ทำให้ข้อมูลความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยต่ำกว่าความเป็นจริง
ข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับตัวเลขความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสที่ทางศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พบว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนรายได้น้อยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์มีสัดส่วนการเข้าถึงระดับการศึกษาอุดมศึกษาเพียงไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ และเข้าถึงอาชีพที่มีทักษะสูงเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำและยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นมาเป็นเวลานาน สะท้อนให้เห็นว่า ‘โอกาส’ ในการเปลี่ยนสถานะทางสังคมในประเทศไทยเป็นไปได้ยากมากขึ้น
“ความเหลื่อมล้ำแก้ยากจริงหรือ?” เป็นคำถามถัดไป ซึ่ง ดร. ธร อธิบายเฉลยในทันใดว่า กุญแเจสำคัญในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนอยู่ที่ ‘การทำให้การเมืองสร้างความเป็นไปได้ในการลดความเหลื่อมล้ำ’
กล่าวคือการปรับโครงสร้างทางการเมืองให้กระจายทรัพยากรทางอำนาจให้กับประชาชน ประชาชนมีสิทธิทางการเมืองที่เสมอภาค มีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนในวงกว้าง สนับสนุนสหภาพและการรวมกลุ่มต่างๆ เพื่อช่วยเจรจาต่อรอง สนับสนุนประชาชนให้มีส่วนร่วมในการวางรากฐานนโยบาย ความเหลื่อมล้ำจึงจะลดลง และนี่คือวิวัฒนาการและพลวัตของความเหลื่อมล้ำตลอด 100 ปีของหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่มีประสบการณ์การลดลงของความเหลื่อมล้ำ
สำหรับประเทศไทย พลวัตรของความเหลื่อมล้ำเคยอยู่ในเส้นทางลดลงจากการปรับโครงสร้างทางการเมืองในช่วงหลังปี 2540 เมื่อนโยบายของรัฐบาลยุคนั้น มุ่งเน้นไปที่ ‘การกระจายทรัพยากรทางอำนาจสู่ท้องถิ่น’ ‘การขยายสวัสดิการการศึกษาและสาธารณสุข’ และ ‘การสร้างนโยบายที่อุดหนุนกลุ่มคนยากจนและด้อยโอกาส’ ในช่วงนั้นหัวเมืองในต่างจังหวัดมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น และกลุ่มคนรายได้น้อยยังมีโอกาสหารายได้เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี เส้นทางของความเหลื่อมล้ำในไทยน่าเป็นห่วงขึ้นในช่วงหลังปี 2558 สาเหตุที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำไม่สามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืนนั้น ดร. ธร อธิบายว่า “เป็นเพราะโครงสร้างและการเมืองไทยในปัจจุบันกำลังปิดช่องทางในการลดความเหลื่อมล้ำ”
แน่นอนว่า การแก้ไขแค่โครงสร้างทางการเมืองยังไม่เพียงพอต่อการลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน ดร. ธร ชี้ว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงในการลดความเหลื่อมล้ำยั่งยืนได้คือการมุ่งปรับเปลี่ยน ‘เรื่องเล่า’ ที่ประกอบขึ้นเป็น ‘อุดมการณ์’ ที่คอยค้ำยันให้ความเหลื่อมล้ำยังคงหยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไทย
เรื่องเล่าที่เรามักได้ยินกันเมื่อกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำ เช่น ‘นิ้วมือไม่เท่ากัน’ (คนเรามีความไม่เท่ากันเป็นธรรมชาติ) ‘รู้จักที่ต่ำที่สูง’ (ควรยอมรับสถานะและรู้หน้าที่ตนเอง) ‘โง่-จน-เจ็บ’ (คนจนขาดวัฒนธรรมและความรู้ที่จะสามารถตัดสินใจหรือใช้ชีวิตไปได้ไกลกว่านั้น) หรือ ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ (ความสำเร็จเป็นเรื่องที่มาจากคุณลักษณะของปัจเจกชนเป็นหลัก) เรื่องเล่าทั้งหมดนี้ ทำให้ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นเรื่องปรกติ และเบี่ยงความสนใจของสังคมออกจากโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม กล่าวได้ว่าคนที่มีรายได้น้อยหรือคนจนไทยนั้นติดอยู่ใน ‘เรื่องเล่าของความเหลื่อมล้ำ’ ที่อยู่ในสังคมไทยมาอย่างช้านาน และยากที่จะหลุดออกไปได้
ดังนั้น หากต้องการลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน สังคมจะต้องพลิกเรื่องเล่าเหล่านี้เสียใหม่ ต้องสร้างชุดเรื่องเล่าที่ทำให้คนในสังคมหันมาร่วมกันผลักดันการสร้างสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนที่เกิดมาได้บรรลุศักยภาพของตนเอง ได้วิ่งไปถึงเส้นชัยที่เขาต้องการจะไปได้ให้เต็มที่
“ในเชิงอุดมการณ์ เราอาจปรับโครงสร้างทางการเมืองได้ แต่ก็เปลี่ยนได้ไม่นาน ประชาชนต้องสร้างเรื่องเล่าใหม่ เพื่อให้เกิดโครงสร้างทางสังคมและการเมืองใหม่ พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือในการทำให้เรื่องเล่านั้นเกิดขึ้นจริง” สุทิน คลังแสง ประธานวงเสวนาในครั้งนี้ กล่าวเห็นด้วยกับ ดร. ธร
ขณะที่ ดร. อภิวัฒน์ รัตนวราหะ กล่าวต่อในหัวข้อ ‘การวางแผนเมืองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ’ ระบุว่า การวางแผนเมืองหรือจัดสรรพื้นที่เป็นขั้นพื้นฐานของการลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม และความยากจน แต่ทุกวันนี้การพัฒนาเมืองกลับยิ่งทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ ด้วย 2 ปัจจัย ได้แก่
การเข้าถึงแหล่งที่ตั้งและแหล่งบริการขั้นพื้นฐาน (โรงเรียน โรงพยาบาล สวนสาธารณะ หรือ ระบบขนส่ง)
การเข้าถึงทุนเศรษฐกิจและทุนของรัฐ (เขตเศรษฐกิจ พื้นที่ท่องเที่ยว พื้นที่ใกล้บริเวณ BTS หรือ MRT)
เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐมักเลือกลงทุน สร้าง และพัฒนาเมืองในบริเวณที่เดิมๆ กลายเป็น ‘ลาภลอย’ หรือ ‘ส้มหล่น’ ให้กับกลุ่มคนที่มีถิ่นฐานอยู่ตรงตาม 2 ข้อที่กล่าวมา จะด้วยเพราะถิ่นอาศัยเดิม หรือเพราะมีความสามารถในการเข้าถึงที่ตั้งเหล่านั้นได้มากกว่า แต่ผลสรุปกลับออกมาว่า คนที่มีรายได้น้อย ชนชั้นกลางระดับล่าง หรือคนยากจน ไม่สามารถเข้าถึง ไม่มีโอกาส ถูกผลักไสให้ออกห่างจากตัวเมือง ทั้งๆ ที่การพัฒนาเมืองในที่ตั้งบริเวณดังกล่าว มาจากการใช้เงินภาษีของประชาชนทุกคนก็ตาม
เพราะหากดูสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายของไทยในปัจจุบันแล้วจะพบว่า ช่องว่างรายจ่ายของคนไทยกว้างขึ้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยมีสัดส่วนการใช้จ่ายกับอาหารและเครื่องดื่มน้อยลง เนื่องจากต้องใช้จ่ายกับของอุปโภคบริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านเวชภัณฑ์ ค่าเดินทาง และการศึกษา
ประกอบทั้งยังมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสวัสดิการ บริการของรัฐ สาธารณูประโภคและโอกาสค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตเทศบาล
‘แล้วจะแก้ไขปัญหาที่ว่านั้นอย่างไร?’ ดร. อภิวัฒน์ ระบุว่า นี่คือ ‘Policy Dilemma’ รัฐจะต้องเปลี่ยนโครงสร้าง (transformation) พัฒนาเมืองขั้นพื้นฐานให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสีเขียวให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมีความเป็นธรรม (just transitions) ด้วยเช่นกัน
และหากจับอนาคตศึกษา (future studies) มาใส่คู่กับศาสตร์การพัฒนาเมือง ‘ชีวิตคนกับชีวิตเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร?’ ดร. อภิวัฒน์ มองว่า ชีวิตคนกับชีวิตเมืองจะมีความเป็นแพลตฟอร์มมากขึ้น พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น โลกนิยม-สากลนิยม ความเป็นปัจเจกชนสูง และแสวงหาการบริโภคอย่างยั่งยืน ทั้งหมดนั้นจะนำมาสู่ ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ หากรัฐยังไม่ตระหนักถึงการพัฒนาเมืองที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กล่าวไป
โดย ดร. อภิวัฒน์ ได้เสนอยุทธศาสตร์ว่า ‘รัฐต้องลดความไม่สมดุลของระบบเมือง’ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน ดังนี้
ลดความเสี่ยงเชิงระบบที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด เช่น ระบบประปา ระบบไฟฟ้า และระบบโครงสร้างดิจิตัล (Digital Infrastructure) ที่ยังคงเป็นคอขวดสร้างความเหลื่อมล้ำอยู่ในปัจจุบัน
สร้างการลงทุนร่วมระหว่าง รัฐ ท้องถิ่น และประชาชน ให้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา การลงทุนด้านโครงสร้างของประเทศไทยมักมาจากส่วนกลาง หรือกรุงเทพฯ น้อยมากที่มาจากลงทุนของท้องถิ่น ร่วมกับประชาชน
จัดสรรรายได้ของ AOT ให้กับพื้นที่หรือเมืองที่ได้รับภาระจากการมีสนามบิน
กระจายงบประมาณหรือการคลังให้กับท้องถิ่นให้มากขึ้น เช่น ภาษีที่ดิน เป็นต้น
ออกแบบนโยบายที่อยู่อาศัยของประเทศไทยให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อผู้เช่าและผู้ให้เช่า เพราะในปัจจุบันประเทศไทยไม่มีนโยบายดังกล่าว ทั้งในเรื่องการรักษาความปลอดภัย หรือการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน (subsidize) แก่ผู้เช่า
กระบวนการจัดทำนโยบายอย่างมีส่วนร่วม หรือแบ่งจัดสรรงบประมาณบางส่วน เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นหรือพื้นที่นั้นๆ เข้ามามีส่วนร่วมว่าจะนำงบประมาณไปทำอะไร (participatory budgeting)
หัวข้อสุดท้าย ‘นโยบายเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน’ โดย ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI แสดงความกังวลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน เพราะจากการศึกษาของ TDRI พบว่า ประเทศไทยเริ่มพบปัญหาความยากจนเรื้อรัง ตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด-19 แล้ว
กล่าวคือแม้ในปีที่เศรษฐกิจไทยดี เช่นในปี 2559 และ 2561 แต่สภาวะความยากจนกลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งๆ ที่โดยปกติแล้วความยากจนควรจะลดลงในปีที่เศรษฐกิจโดยรวมดีเสมอ แสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มคนหรือสภาวะความยากจนในหลายกลุ่มคนที่ ‘ดื้อยา’ หรือในอีกนัยหนึ่งแสดงถึงการที่เริ่มมีกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสอย่างรุนแรงจนไม่ได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
และหากพิจารณาภาคการเกษตรที่เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศ เราอาจแบ่งกลุ่มเกษตรกรแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่มีทักษะและองค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมขั้นสูง มีพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมเป็นของตัวเอง และ (2) กลุ่มที่มีพื้นที่น้อยหรือไม่มีแม้แต่พื้นที่ในการทำเกษตรของตนเอง เข้าไม่ถึงระบบชลประทาน
แน่นอนว่ากลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่ภาครัฐต้องจับตามองอย่างยิ่ง แม้ทุกวันนี้จะมีองค์ความรู้เรื่อง smart farming เข้ามาเรื่อยๆ แต่พวกเขาก็ยังมีโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้น้อยกว่ากลุ่มแรกอยู่ดี
‘แล้วจะลดมิติความเสี่ยงของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย รวมถึงกลุ่มทีมีรายได้ไม่แน่ไม่นอนอย่างภาคเกษตรกรรมได้อย่างไร’ ดร.สมชัย เสนอว่า ภาครัฐควรจะให้ประกันสังคมมาตรา 40* แก่ทุกคนที่ไม่มีประกันสังคมภาคทางการ (ม. 33) ฟรี โดยไม่ต้องมีการเก็บเงินสมทบ
เพราะการช่วยผู้ด้อยโอกาสในการจัดการความเสี่ยงในชีวิตเป็นหนทางสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่ของพวกเราได้ (คล้ายกับกรณีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติช่วยจัดการเรื่องความเสี่ยงในการรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ)
ดร. สมชัย เสริมต่อว่า รัฐอาจจัดทำมาตรา 40 ใหม่เพื่อให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องที่ประชาชนในระดับรายไดน้อยหรือไม่มีรายได้เลยต้องการจริง ๆ เพราะการชดเชยรายได้ในช่วงเจ็บป่วยถือเป็นเรื่องสำคัญของทุกคน โดยเฉพาะสำหรับผู้มีรายได้น้อยนั้น ค่าฌาปนกิจศพยังเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา การจัดให้มีประกันสังคมพื้นฐานแบบถ้วนหน้านี้ คาดว่ารัฐบาลจะใช้งบประมาณเพียง 40,000 – 50,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับที่รัฐบาลปัจจุบันใช้ในเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ซึ่ง ดร.สมชัย มองว่า การจัดการมิติความเสี่ยงของคนจนเป็นเรื่องสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อล้ำอย่างยั่งยืน และหากทำได้จริง จะเกิดประโยชน์เช่นเดียวกับ ‘นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค’ ที่ครั้งหนึ่งพรรคไทยรักไทยทำเอาไว้ และนำมาสู่กระบวนการลดความเหลื่อมล้ำอื่นๆ ตามมา
(มาตรา 40 คือ บุคคลทั่วไปที่ประกอบอาชีพ หรือแรงงานอิสระ ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนมาตรา 39 โดยได้รับความคุ้มครองมากที่สุด 5 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร ตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิ)