“เพื่อไทย” จัดสัมมนา “ฟังเสียง SMEs ไทย” ภาคเหนือ ผู้ประกอบการ-นักวิชาการ ชี้ นโยบายรัฐไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจ

(23 พ.ย. 62) พรรคเพื่อไทย จัดงานสัมมนา SMEs ภาคเหนือ ร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ ภายใต้หัวข้อ “ฟังเสียง SMEs ไทย” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และสมาชิกพรรคเพื่อไทย นำโดยนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย  น.ส.ละออง ติยะไพรัช ส.ส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย รวมถึงผู้ประกอบการกว่า 200 คนร่วมสัมมนา ที่จังหวัดเชียงราย

ดร.วิโรจน์ อาลี นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองอาเซียน มองว่า หากดูตัวเลขการส่งออก มีการขยายตัวขึ้นในบางพื้นที่ แต่ในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย พบว่า ตัวเลขต่างๆมีแนวโน้มถดถอย ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพราะต้องแข่งขันมากขึ้น แต่การแก้ไขปัญหาเป็นการแก้จากส่วนบนลงล่าง ซึ่งไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน หรือ SMEs ในพื้นที่ ขณะที่การบริหารจัดการเศรษฐกิจทำให้กำลังซื้อของคนรากหญ้าหดหาย ทำให้ SMEs ไม่สามารถเติบโตได้

ขณะเดียวกันเห็นว่า 5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การทำงานของรัฐบาล คสช. ยังใช้แนวนโยบายแบบเดิม จึงไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน พร้อมแนะนำให้ รัฐบาลยอมรับความจริง โดยย้ำว่าวิธีคิดจากส่วนกลางยังไม่ตอบโจทย์เพราะ เม็ดเงินที่ถูกแจกจ่ายผ่านโครงการชิมช้อปใช้ หรือโครงการบัตรคนจน ไม่พิจารณาถึงผลว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่

ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่าทำอย่างไรจะให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถรวมตัวกันได้มากขึ้น มีข้อเรียกร้องมากขึ้น และกดดันไปที่กลไกต่างๆของพรรคการเมืองและสภา ส่งเสียงให้ถึงรัฐบาล ว่าแนวนโยบายที่ทำอยู่ ไม่มีประสิทธิภาพ การไม่ยอมรับความจริงไม่เป็นผลดี

นอกจากนี้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีไม่เกิดประโยชน์ หากวิธีคิด รวมถึงแนวทางการแก้ไข หรือการควบคุมการบริหาร มาจากวิธีคิด ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

“ไม่แน่ใจว่านายกรัฐมนตรีเข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนมากน้อยเพียงใด เมื่อวานลงพื้นที่บางกอกน้อย เห็นแม่ค้าใส่ทอง ก็บอกว่า ยังมีทองใส่ ก็แปลว่ายังโอเคอยู่ วิธีคิดแบบนี้มันไม่ใช่นะครับ มันไม่ได้สะท้อน อะไรที่เกี่ยวกัน ซึ่งทำให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เข้าใจ” ดร.วิโรจน์ กล่าว

ด้าน นายทนุศักดิ์ ระบุว่า สัดส่วนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานประมาณร้อยละ 70 มีรายงานตัวเลขประจำปีผู้ประกอบการในประเทศไทยที่เป็น SMEs ประมาณ 99.5 หรือประมาณ 2 ล้านราย ซึ่งทุกคนที่ดำเนินธุรกิจมาระยะหนึ่งตระหนักดีว่าความต้องการของลูกค้าและสภาพการแข่งขันในตลาดต้นทุนการผลิตและสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันเช่นเรื่องการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจ ต่างเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวเตรียมใจเตรียมกำลังเพื่อปรับตัว

ขณะเดียวกัน เห็นว่า SMEs สามารถสร้างความไว้วางใจให้แหล่งทุนไม่ปฏิเสธได้ เพราะเมื่อมีแนวคิดและข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะพัฒนา SMEs ให้มีความน่าเชื่อถือในสายตาของสถาบันการเงิน

สำหรับการสร้างความน่าเชื่อถือต้องร่วมกันสร้างจิตวิญญาณให้เป็นผู้ประกอบการ ยกระดับการบริหารและมาตรฐานทางบัญชี พัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์สินค้าและการตลาด หากดำเนินการในสิ่งเหล่านี้ได้ จะสามารถก้าวผ่านข้อจำกัด จากสถาบันการเงิน ที่เป็นอุปสรรคหนึ่งในการพัฒนา SMEs ให้ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการได้